ความกลัวและความวิตกกังวลที่มาหลังจากวิกฤต COVID-19
ความกลัวและความวิตกกังวลที่มาหลังจากวิกฤต COVID-19

สถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันเริ่มคลายความตึงเครียดลงบ้างแล้ว อย่างที่เห็นได้จากภาครัฐเริ่มปลดล็อกดาวน์จังหวัดต่าง ๆ และมีการปลดล็อกห้างสรรพสินค้า รวมถึงร้านค้าต่าง ๆ แม้สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้นเพราะมีคนติดเชื้อน้อยลง แต่สภาพจิตใจของคนที่กักตัวอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานานอาจจะได้รับผลกระทบ และอาจมีความรุนแรงไม่แพ้การติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ลุกลามภายในจิตใจ ดังนั้นเราจึงมาทำความเข้าใจโรคกลัวและวิตกกังวล และวิธีการรับมือสำหรับผู้ที่มีอาการดังกล่าวเพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

 

ความกลัวและความวิตกกังวลจากสถานการณ์ COVID-19

 

COVID-19 เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยในระยะเวลาไม่กี่เดือนคนไทยติดเชื้อไปนับพันราย ส่งผลให้บริษัท และสถานประกอบการต่าง ๆ จึงต้องปิดตัวลงเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส คนไทยจำนวนไม่น้อยจึงต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน แล้วหันมา work from home แทนการไปทำงาน แต่มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่กักตัวเองอยู่บ้านเพราะเกิดความกลัว และวิตกกังวลว่าหากออกไปแล้วจะทำให้ตนเองเสี่ยงที่จะติดเชื้อ COVID-19 แม้ความกลัวจะเป็นกลไกธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ แต่หากไม่รู้จักวิธีจัดการกับความกลัวอาจจะส่งผลด้านลบกับจิตใจ รวมถึงร่างกายของเราได้

 

COVID-19 ที่มาพร้อมกับความเครียด

 

เมื่อ COVID-19 เริ่มคลี่คลายแต่ความกลัว และความวิตกกังวลยังไม่หมดไป จึงทำให้คนที่เคยกักตัวอยู่ในบ้านติดต่อกันนานหลายวันไม่กล้าออกจากบ้านจนเกิดเป็นความเครียด และส่งผลถึงสภาวะจิตใจ พอเริ่มมีอาการไอแห้ง หรือมีอาการคัดจมูกก็เกิดความวิตกกังวล จนถึงขั้นอาจระแวงคนรอบข้าง เกิดความเครียดว่าโรคระบาดนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด หากจบ COVID-19 แล้วในอนาคตจะกลับมาระบาดอีกหรือไม่ นอกจากนี้เรื่องการใช้ชีวิตกลัวว่าจะตกงาน หรือได้รับเงินเดือนไม่เท่าเดิมยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเครียดอีกด้วย

 

วิธีรับมือกับความเครียดหลังกักตัวอยู่บ้าน

 

  • เสริมสร้างกำลังใจให้แก่ตนเอง หมั่นบอกตัวเองว่าเราจะสามารถผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ เชื่อว่าตัวเรามีคุณค่า และพยายามคิดบวก
  • ไม่เสพข่าวจนเครียด ควรเสพข่าวแต่พอดี และเลือกเสพข่าวจากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรเชื่อข่าวโคมลอยที่ไม่ทราบที่มา
  • ปรับตัวปรับใจ ตระหนักถึงความวิตกกังวลของตนเอง เพราะความวิตกกังวลบางครั้งก็เป็นประโยชน์ต่อตนเอง เพราะช่วยให้เราตื่นตัว และกระตุ้นให้เรารับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
  • ส่งต่อพลังใจ เมื่อเรามีกำลังกาย และกำลังใจที่แข็งแรงแล้ว เราจะสามารถส่งต่อความคิดบวก และส่งต่อกำลังใจให้แก่ผู้อื่นได้

 

แม้สถานการณ์ COVID-19 จะยังคงอยู่กับเรา แต่เราก็ไม่ควรไปวิตกกับมันมากเกินไปจนเกิดความกลัว และความเครียดตามมา กว่าจะรู้ตัวความกลัวนั้นอาจจะกัดกินจิตใจของเราจนยากเกินเยียวยาเสียแล้ว

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

______________________________

 

ติดต่อแผนกจิตเวช

 

วันเปิดทำการ : บริการทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08.00-19.00 น. (ติดต่อลงทะเบียนก่อนเวลา 18.30 น.)
ตึก/ชั้น : A/16
เบอร์ติดต่อ : 1390