ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) รู้ทัน ป้องกันชีวิต
ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) รู้ทัน ป้องกันชีวิต

อวัยวะภายในร่างกายล้วนมีหน้าที่ที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละอวัยวะ แต่หากพูดถึง “ไส้ติ่ง” น้อยคนนักจะรู้ว่าอวัยวะนี้ทำหน้าที่อะไร ส่วนใหญ่จะรู้จักกับโรคที่เกิดขึ้นในอวัยวะนี้ นั่นคือ “โรคไส้ติ่งอักเสบ” ซึ่งไส้ติ่งนั้นเชื่อว่ามีหน้าที่ในการสะสมแบคทีเรียที่ใช้ในกระบวนการย่อยอาหาร เพราะอวัยวะนี้จะเป็นท่อปลายปิดที่ต่อมาจากลำไส้ส่วนต้น หากไส้ติ่งเกิดการอุดตันจะทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างฉับพลัน หลายคนอาจจะสงสัยแล้วว่าทำไมไส้ติ่งที่ดูเหมือนจะเป็นอวัยวะที่แทบไม่ได้มีหน้าที่ใด ๆ จะเกิดการอักเสบได้อย่างไร แล้วหากมีอาการปวดท้องจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นไส้ติ่งอักเสบต้องได้รับการผ่าตัด วันนี้เรามีคำตอบ

 

ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากอะไร

 

โรคไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) มักเกิดจากของเสีย สิ่งแปลกปลอม หรืออุจจาระที่เคลื่อนลงไปอุดตันในไส้ติ่งทำให้เกิดแบคทีเรียสะสม มีเลือดคั่ง และกระจายไปที่ผนังไส้ติ่งจนเกิดการอักเสบกลายเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ ในที่สุด หากไส้ติ่งแตกทะลุจนเกิดการติดเชื้อในช่องท้องแล้วกลายเป็นติดเชื้อในกระแสเลือดอาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้                            

 

อาการที่บ่งบอกว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ

 

โดยอาการจะแบ่งออกเป็นตามระยะของโรค ได้แก่

 

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะเริ่มแรกที่ไส้ติ่งเริ่มอุดตัน จะมีอาการปวดท้องบริเวณรอบสะดืออย่างฉับพลัน จุกแน่นท้อง เบื่ออาหาร
     
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ไส้ติ่งเริ่มบวม โดยจะมีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา หากมีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ไอ จาม จะรู้สึกเจ็บมากขึ้น บางรายอาจมีท้องเสียร่วมด้วย
     
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่อันตรายเพราะไส้ติ่งแตก และเชื้อแบคทีเรียกำลังแพร่กระจายในช่องท้องจะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ขึ้น และหากไม่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดส่งผลให้เสียชีวิตได้

 

ไส้ติ่งอักเสบ

 

การวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบ

 

  • ตรวจเลือด แพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูว่ามีปริมาณเม็ดเลือดขาวเยอะหรือไม่ หากเม็ดเลือดขาวมีปริมาณมากจะสามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อได้
  • ตรวจอัลตราซาวด์ หรือตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยเครื่อง CT SCAN

 

การผ่าตัดไส้ติ่งแบบเปิด และแบบส่องกล้อง (MIS) ต่างกันอย่างไร

 

การผ่าตัดแบบเปิด : เปิดผู้ป่วยจะมีบาดแผลบริเวณท้องน้อยด้านขวา ใช้ระยะเวลาพักฟื้นนาน

ผ่าตัดไส้ติ่งแบบส่องกล้อง : จะมีแผลขนาดเล็กเพียง 2-3 แผล คือ แผลบริเวณใต้สะดือ บริเวณด้านซ้ายและด้านขวาของท้องน้อย หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยจึงจะปวดแผลน้อย และเป็นการผ่าตัดที่ใช้กล้องส่องจึงทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

เป็นไส้ติ่งอักเสบไม่ผ่าตัดได้หรือไม่

 

การรักษาไส้ติ่งอักเสบจะมีเพียงการผ่าตัดเอาไส้ติ่งที่อักเสบออกเท่านั้น โดยต้องผ่าตัดให้เร็วที่สุด เพราะหลังจากเกิดการอักเสบแล้วไส้ติ่งอาจจะเน่า และแตกทะลุภายใน 24-36 ชั่วโมง หากไส้ติ่งแตกจะมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เสียชีวิตสูง โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบและมีภาวะช็อกได้

 

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการเป็นไส้ติ่งอักเสบ

 

บางคนอาจมีความเชื่อว่าการรับประทานเม็ดฝรั่ง หรือเม็ดของผลไม้อื่น ๆ จะทำให้ไปอุดตันที่ไส้ติ่ง และส่งผลให้เกิดไส้ติ่งอักเสบ แต่ความจริงแล้วสิ่งที่ไปอุดตันในไส้ติ่งนั้นส่วนใหญ่จะเป็นอุจจาระของเราเอง สาเหตุที่มาจากการรับประทานเม็ดของผลไม้มีความเป็นไปได้ แต่จะเกิดขึ้นได้น้อยมากนั่นเอง

 

ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วนที่สุดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน หรือความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการเสียชีวิต ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีอาการที่มีความเสี่ยงว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และการรักษาต่อไป