อีโบลา (Ebola) โรคไข้เลือดออกจากไวรัส
อีโบลา (Ebola) โรคไข้เลือดออกจากไวรัส

อีโบลา (Ebola) เคยเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ในแอฟริกาตะวันตกเมื่อหลายปีก่อน เป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรง และอันตรายถึงชีวิต เพราะเป็นไวรัสที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจนองค์การอนามัยโลกได้ประกาศยกระดับเหตุการณ์ให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออีโบลาในระดับต่ำมาก แต่เชื้อไวรัสมักแฝงตัวมากับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าออกประเทศ ดังนั้นเราจึงควรรู้จักโรคนี้และเรียนรู้วิธีป้องกัน หรือรับมือกับโรคนี้เอาไว้

 

ไวรัสอีโบลา (Ebola) คืออะไร

 

อีโบลาถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 ที่ประเทศซาอีร์ หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน ชื่อเดิมของอีโบลาคือ โรคไข้เลือดออกอีโบลา เนื่องจากมีการค้นพบเชื้อไวรัสในแม่น้ำอีโบลา โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งเป็นตระกูล Filoviridae (EVD) มักพบในเขตป่าร้อนชื้น โดยเชื่อว่าเชื้อนี้มีแหล่งพาหะจากค้างคาว และลิงติดต่อมาสู่คน

 

ไวรัสอีโบลามีผลต่อร่างกายอย่างไร

 

เมื่อ Ebola virus เข้าสู่ร่างกายจะสามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์เป้าหมาย โดยเฉพาะในเซลล์ตับ เซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ทำให้เกิดอาการตามพยาธิสภาพที่ไวรัสทำลายเซลล์นั้น โดยไวรัสจะเกาะติดกับเซลล์เป้าหมาย ก่อนที่จะเข้าสู่เซลล์ และแพร่กระจายเชื้อที่เชื่อมติดกับเนื้อเยื่อในอวัยวะอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสอีโบลาจึงจะมีอาการ ดังนี้

  • ไข้ขึ้นสูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ
     
  • ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
     
  • เจ็บคอ อาเจียน
     
  • ท้องเสีย อ่อนเพลีย
     
  • มีผื่นแดง
     
  • บางรายอาจมีเลือดออกทั้งภายใน และภายนอก
     
  • เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือดต่ำ

 

การติดต่อของโรคอีโบลา

 

การติดต่อของไวรัสอีโบลา

 

  • การสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือของเหลวในร่างกายของผู้ป่วย
     
  • การติดเชื้อผ่านทางบาดแผล หรือเยื่อเมือก
     
  • การสัมผัสโดยตรงกับร่างกายของผู้เสียชีวิต เพราะไวรัสจะสามารถอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานาน แม้ผู้ป่วยจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม
     

การระบาดของไวรัสอีโบลาพบ 5 สายพันธุ์ ได้แก่
 

  • สายพันธุ์ชาร์อี (Ebola-Zaire) พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 พบผู้ติดเชื้อจำนวน 318 ราย เสียชีวิต 280 ราย
     
  • สายพันธุ์ซูดาน (Ebola-Sudan) พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 พบผู้ติดเชื้อจำนวน 284 ราย เสียชีวิต 151 ราย
     
  • สายพันธุ์เรสตัน (Ebola-Reston) พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532-2533 โดยพบว่ามีการติดเชื้อในลิง ทำให้ลิงตายจำนวนมาก และมีคนติดเชื้อ 4 ราย แต่ไม่มีการแสดงอาการ
     
  • สายพันธุ์ (Ebola-cote d’lvoire) พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 โดยส่วนมากพบการติดเชื้อในลิง และมีผู้ป่วย 1 รายได้รับเชื้อจากการชำแหละลิง ซึ่งมีการแสดงอาการแต่ไม่เสียชีวิต
     
  • สายพันธุ์บุนดีบูเกียว (Ebola-Bundibugyo) พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 มีผู้ป่วยจำนวน 149 ราย

 

การรักษาโรคไวรัสอีโบลา

 

โรคนี้ยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะ แต่จำเป็นต้องมีการคัดแยกผู้ป่วยไปตามอาการ และแพทย์จะรักษาตามอาการ ดังนี้

  • ให้สารน้ำทางหลอดเลือด เช่น การให้น้ำเกลือ เป็นต้น
  • การให้ยาแก้ปวดลดไข้
  • การรักษาระดับความดันโลหิต
  • การถ่ายเลือด หรือให้เลือด

 

คำแนะนำในการป้องกัน

 

  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือใช้เจลฆ่าเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ป่าที่อาจมีเชื้อปนเปื้อน เช่น ค้างคาว ลิง เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หรือพื้นที่แออัด
  • รักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
  • ผู้ป่วยที่มีอาการไอ จามควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
  • ผู้ที่ประกอบอาชีพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือทำอาชีพด้านการเกษตรควรป้องกันตนเองเมื่อต้องสัมผัสสัตว์ และไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ยังไม่ได้ปรุงสุก

 

แม้โรคอีโบลาจะถูกพบในอดีต และในปัจจุบันจะไม่พบเชื้อนี้ในประเทศไทย แต่การรักษาสุขอนามัย และรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในทุกยุคทุกสมัยเพื่อป้องกันภัยคุกคามที่มาในรูปแบบของโรคร้ายนั่นเอง