เมื่ออาหารทำพิษชีวิตเปลี่ยน
เมื่ออาหารทำพิษชีวิตเปลี่ยน

อาหาร เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะสามารถอยู่ได้โดยไม่รับประทานอาหาร เพราะมนุษย์อย่างเราต้องการพลังงานที่ได้จากการรับประทานอาหารสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยแหล่งอาหารของมนุษย์มีทั้งพืชและสัตว์ และวิธีการประกอบอาหารยังมีความหลากหลายในการใช้วัตถุดิบต่าง ๆ ที่เป็นไปตามวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่นั้น แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกายอย่างที่ควรจะเป็น มิหนำซ้ำยังมีพิษส่งผลให้ร่างกายของเราป่วยอีกต่างหาก

 

เมื่ออาหารสามารถทำพิษ

 

การเจ็บป่วยที่เกิดจากอาหาร เรียกว่า “อาหารเป็นพิษ” ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีสารพิษ แบคทีเรีย เช่น ซัลโมเนลลา ที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาหารเป็นพิษที่พบบ่อยที่สุด การปนเปื้อนของไวรัส เช่น ไวรัสโนโร ที่มักปนเปื้อนในอาหารสด หรือเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด และการปนเปื้อนของปรสิต โดยอาหารเป็นพิษเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย และที่น่ากลัวคือ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอาหารที่เรารับประทานเข้าไปนั้นจะมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือไม่ แม้ในปัจจุบันสุขอนามัยของมนุษย์จะมีความปลอดภัยมากกว่าในอดีต แต่ยังมีการพบผู้เสียชีวิตที่เกิดจากโรคอาหารเป็นพิษกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกในทุกปี

 

อาการของอาหารเป็นพิษ

 

การแสดงอาการเร็ว หรือช้า และความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารพิษที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไปในร่างกาย แต่ส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 1-2 วัน โดยอาการป่วยมีดังนี้

  • มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็ง ซึ่งเกิดจากลำไส้บิดตัว
  • รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ และอาเจียนหลายครั้ง
  • ท้องร่วง ถ่ายเป็นน้ำบ่อย
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปากแห้ง และวิงเวียนศีรษะ

หากมีอาการติดต่อกันหลายวัน หรือมีไข้สูงร่วมด้วยไม่ควรซื้อยารับประทานเอง รวมถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น สตรีมีครรภ์ เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที

 

อาหารเป็นพิษ

 

การรักษาโรคอาหารเป็นพิษ

 

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้สามารถหายเองได้ โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อน การนอนหลับให้เพียงพอ และพยายามดูแลให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ เช่น การดื่มน้ำผสมเกลือแร่โดยการจิบเพียงครั้งละเล็กน้อยตลอดทั้งวันจะช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียออกไปจากการถ่ายอุจจาระ และทำให้ร่างกายมีเรี่ยวแรง ฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น
  • รับประทานยา การรับประทานยาแก้ท้องเสียเหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก แต่ห้ามรับประทานยาที่ทำให้หยุดถ่ายโดยเด็ดขาด
  • รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เมื่ออาการดีขึ้นควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย และย่อยง่าย โดยเริ่มรับประทานในปริมาณน้อยก่อนเพื่อป้องกันการอาเจียน และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารคาเฟอีน

หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแพทย์จะให้น้ำเกลือ เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะเสียน้ำมากผ่านทางหลอดเลือด รวมทั้งให้อาจให้ยาปฏิชีวนะ และยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนด้วย

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคอาหารเป็นพิษ

 

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายท้อง และอาเจียนไม่หยุด จนไม่สามารถรับประทานอาหารได้จะเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะช็อก เพราะร่างกายขาดน้ำและสารอาหารเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว นอกจากนี้เชื้อโรคบางชนิดยังสามารถมีผลต่ออวัยวะส่วนอื่นได้ด้วย เช่น เชื้ออีโคไล มีผลทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และไตวายได้

 

การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ

 

แม้โรคนี้เราจะไม่สามารถควบคุมได้ แต่การเริ่มป้องกันจากตัวเราเอง โดยการรักษาสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยมีวิธีแนะนำดังนี้

  • ควรล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เพราะเชื้อโรคอาจจะไม่ได้มาจากอาหารเพียงอย่างเดียว
  • แม้เราจะไม่สามารถเข้าไปควบคุมวิธีการประกอบอาหารของสถานประกอบการได้ แต่เราสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ได้เพราะความร้อนจะช่วยฆ่าเชื้อได้ส่วนหนึ่ง
  • เก็บรักษาอาหารไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่วางอาหารทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง เพราะเป็นอุณหภูมิที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
  • ควรเก็บอาหารใส่ตู้เย็น แล้วนำมาอุ่นเมื่อต้องการรับประทานใหม่
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้เกิดอาการท้องร่วง เช่น ส้มตำ ยำ ขนมจีน เป็นต้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพราะหากร่างกายอ่อนแอจะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ง่าย

 

ในหน้าร้อนเช่นนี้เชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตได้ดี จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคอาหารเป็นพิษมากขึ้น ดังนั้นการรักษาสุขอนามัยทั้งของตัวเอง และคนรอบข้างให้ปลอดภัยจากโรคอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำเพื่อให้ร่างกายของเราไม่เกิดการเจ็บป่วยจนต้องเสียทั้งสุขภาพ และเงินทองในเวลาเดียวกัน

 

______________________________________

 

ติดต่อศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหารและตับ

 

วันเปิดทำการ : บริการทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08.00-20.00 น. (ติดต่อลงทะเบียนก่อนเวลา 19.30 น.)
ตึก/ชั้น : A/16
เบอร์ติดต่อ : 1390