บาดเจ็บที่ศีรษะ ความกระทบกระเทือนที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต
บาดเจ็บที่ศีรษะ ความกระทบกระเทือนที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต

การบาดเจ็บที่ศีรษะ (Head Injury) เป็นภาวะที่อันตราย เพราะมีการกระทบกระเทือนทางสมอง กะโหลกศีรษะ และระบบประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุให้พิการ หรือเสียชีวิตได้ สาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะส่วนใหญ่จะมาจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุทางรถ การหกล้ม หรือการตกจากที่สูง โดยสาเหตุเหล่านี้มักสัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะเป็นภาวะที่อันตราย ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันเวลา เพื่อลดความเสี่ยงที่ส่งผลเสียต่อสมองให้น้อยที่สุด

 

บาดเจ็บที่ศีรษะคืออะไร

 

เป็นการบาดเจ็บที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมอง เช่น อ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว สับสน มึนงง จำสถานที่ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีสาเหตุมาจากมีแรงภายนอกสมองมากระทบ

 

ระยะของการบาดเจ็บที่ศีรษะ

 

การบาดเจ็บที่ศีรษะจะเกิดขึ้นได้ทั้งการบาดเจ็บที่ศีรษะโดยตรง เช่น ถูกตี ถูกยิง ชนของแข็ง และอาจเกิดจากการบาดเจ็บทางอ้อม เช่น การตกจากที่สูงแล้วก้นกระแทกพื้น แต่ทำให้ศีรษะกระแทกกระดูกคอส่วนบนทำให้เกิดการกระทบกระเทือนที่สมองส่วนท้าย ซึ่งการบาดเจ็บที่ศีรษะนั้นจะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
 

  • บาดเจ็บที่ศีรษะระยะแรก (Primary head injury) เป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ของศีรษะ เช่น หนังศีรษะ กะโหลกศีรษะ เนื้อสมอง อาจเกิดได้ทั้งการบวม ช้ำ เนื้อสมองช้ำ กะโหลกแตกยุบ เป็นต้น
     
  • บาดเจ็บที่ศีรษะระยะที่สอง (Secondary head injury) เป็นภาวะแทรกซ้อนหลังเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยอาจใช้เวลานานเป็นนาที เป็นชั่วโมง หรือนานเป็นวัน เช่น ภาวะเลือดออกภายในกะโหลกศีรษะ และเกิดภาวะสมองบวม เป็นต้น

 

การวินิจฉัยการบาดเจ็บที่ศีรษะ

 

เนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นภาวะที่อันตราย ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการประเมินอาการอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดความดันภายในกะโหลกสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของการพิการ และเสียชีวิตได้ โดยการตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้หลายประการ ดังนี้
 

  • ตรวจร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยการซักประวัติว่าผู้ป่วยมีอาการที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น ตามัว หูอื้อ ชาที่ผิวหนัง มีการตรวจระดับความรู้สึกตัว ตรวจรูม่านตา ตรวจการเคลื่อนไหวแขนขา ตรวจสัญญาณชีพ ดูอาการที่แสดงว่ามีความดันในกะโหลกเพิ่ม หรือมีกระดูกหักร่วมด้วยหรือไม่
     
  • ตรวจด้วยเครื่อง CT SCAN เพื่อวินิจฉัยโรค และความผิดปกติของร่างกายด้วยการฉายรังสีเอกซเรย์ไปยังบริเวณสมองเพื่อดูอวัยวะภายในทำให้เห็นสภาพของหลอดเลือดในสมอง และทำการวินิจฉัยโรคหรือใช้ในการติดตามโรคที่เป็นอยู่ต่อไป โดยดูจากความรุนแรงของการบาดเจ็บ เช่น มีอาการหมดสติหลังได้รับบาดเจ็บ เบลอ ซึม เป็นต้น

 

การรักษาการบาดเจ็บที่ศีรษะ

 

  • ระยะฉุกเฉิน เป็นการประเมิน และดูแลร่างกายเพื่อลดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน โดยมีการให้ออกซิเจนอย่างน้อย 24 ชั่วโมงเพื่อให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ
     
  • ระยะทั่วไป เป็นการรักษาที่ต่อเนื่องจากระยะฉุกเฉิน เช่น การรักษาเพื่อป้องกันสมองบวม และคงความดันในกะโหลกศีรษะให้คงที่ เป็นต้น

 

ข้อควรปฏิบัติหลังการรักษา
 

หากแพทย์ตรวจแล้วพบว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บไม่รุนแรง และไม่ต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาล แพทย์จะให้ผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้าน ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

  • งดการออกกำลังทุกชนิด
     
  • ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
     
  • รับประทานอาหารอ่อน
     
  • งดดื่มสุราและยาที่ทำให้ง่วงซึมทุกชนิด

 

 

อาการที่ควรรีบกลับมาพบแพทย์

 

  • ง่วงซึม หรือไม่รู้สึกตัว หมดสติ
     
  • กระสับกระส่ายมากกว่าปกติ พูดลำบาก หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
     
  • แขนขาอ่อนแรงลง ปวดศีรษะรุนแรง
     
  • ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน
     
  • มีอาการไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง
     
  • มีเลือด หรือน้ำใส ๆ ไหลออกจากหู หรือจมูก และไม่ควรพยายามสั่งออก
     
  • ตาพร่ามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน

 

การดูแลและป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะ

 

  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับยานพาหนะ สวมหมวกกันน็อคเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะ และไม่ควรใช้ความเร็วในการขับขี่สูงเกินกำหนด
     
  • หลังได้รับบาดเจ็บ หากผู้ป่วยจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ แม้ไม่มีอาการใด ๆ ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล เพราะการบาดเจ็บอาจกระทบกระเทือนต่อสมองมาก
     
  • การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวควรพยายามให้อยู่ในท่าตรง และไม่ให้ศีรษะห้อยลง เพราะผู้ป่วยอาจมีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง หรือกระดูกต้นคอได้
     
  • ขณะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลควรให้ผู้ป่วยตะแคงหน้าเล็กน้อยเพื่อป้องกันลิ้นตกและการสำลัก
     
  • ในผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบการบาดเจ็บทางสมองที่รุนแรง แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน ในระหว่างการพักฟื้นญาติหรือผู้ใกล้ชิดจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และคอยสังเกตอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 48-72 ชั่วโมง

 

การเกิดอุบัติเหตุที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างเร่งด่วนอาจนำมาซึ่งอันตรายที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ เราจึงควรให้ความสำคัญและสังเกตอาการผิดปกติเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย และฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด

 

 

____________________________________

 


ศูนย์สมองและระบบประสาท

 

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI