ปวดหลังปวดเอว ระวังหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ปวดหลังปวดเอว ระวังหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Disc) เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย นอกจากจะมาจากการเสื่อมสภาพของอวัยวะในส่วนนั้นเองแล้ว ยังสามารถเสื่อมจากกิจวัตร หรือกิจกรรมในแต่ละวันที่ส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังของเรา ถึงแม้โรคนี้จะสามารถรักษาได้ด้วยการทานยา และดูแลร่างกายให้ดียิ่งขึ้น แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจเสี่ยงเรื้อรังจนต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แน่นอนว่าคงไม่มีใครต้องการจะเป็นโรคที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังแบบนี้ การระมัดระวังตนเองจึงสำคัญไม่ว่าจะเป็นท่านั่งที่นานเกินไป หรือการออกแรงผ่านหลังอย่างรุนแรงหรือเฉียบพลันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงทั้งนั้น

 

หมอนรองกระดูกมีความสำคัญกับร่างกายอย่างไร

 

กระดูกสันหลังจะคงอยู่ได้ตามปกติต้องพึ่งการรองจากหมอนรองกระดูก ร่วมกันกับข้อต่อ กระดูกสันหลังหลายชิ้นที่เรียงต่อกันนั้นมีหน้าที่ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับไขสันหลัง ส่วนหมอนรองกระดูกนั้นจะทำหน้าที่ช่วยเหลือกระดูกสันหลังอีกทีหนึ่ง ด้วยการช่วยให้กระดูกสันหลังมีความยืดหยุ่น และสามารถรับแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหวของร่างกายได้นั่นเอง

 

หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

เราคงได้รู้แล้วว่าหมอนรองกระดูกมีความสำคัญกับร่างกายมากแค่ไหน เมื่อหมอนรองกระดูกเกิดความเสียหาย หรือเริ่มเสื่อมถอยไปตามวัยจะส่งผลให้หมอนรองกระดูกค่อย ๆ ด้อยประสิทธิภาพลง และเริ่มสั้นลง จนเริ่มเกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อหมอนรองกระดูก หากเป็นเช่นนี้จะทำให้แกนของหมอนรองกระดูกหลุด แตก หรือปลิ้นออกจากจุดเดิม และไปกดทับเส้นประสาทของไขสันหลังได้ในที่สุด ส่วนปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกมีอยู่หลายปัจจัย ได้แก่

 

  • การเคลื่อนไหวของร่างกาย อาจมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการก้ม ๆ เงย ๆ บ่อยครั้ง หรือการยกของหนักเป็นประจำ เป็นต้น
     
  • การเสื่อมสภาพตามวัย ทำให้น้ำในหมอนรองกระดูกลดลง และเริ่มสั้นลงไม่สามารถยืดหยุ่นได้เหมือนเมื่อตอนหนุ่มสาว สำหรับในข้อนี้มักเกิดขึ้นในช่วงวัย 40 ปีขึ้นไป

 

นอกจากนี้ยังสามารถเกิดอาการหมอนรองกระดูกแตกอย่างเฉียบพลันได้ด้วย จากการเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะบิด หรือเอี้ยวตัวอย่างรวดเร็ว และมากจนเกินไป เช่น นักกอล์ฟ เป็นต้น โดยโรคนี้มักจะเกิดขึ้นให้เห็นกันบ่อยที่บริเวณเอว และคอ

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

 

  • เมื่อไอ จาม อย่างรุนแรงจะมีอาการปวดจากแรงดันในไขสันหลัง
  • การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับหลายส่วนของร่างกาย ได้แก่ ข้อเท้า ปลายนิ้วหัวแม่เท้า และสะโพก อีกทั้งยังพบอาการชาซึ่งจะเกิดขึ้นที่เท้าบริเวณระหว่างนิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้
  • มีอาการปวดกล้ามเนื้อ จะเกิดขึ้นหนักที่บริเวณด้านหลัง หรือเอวส่วนล่างอาจปวดไปจนถึงต้นขาด้านใน
  • ระบบขับถ่ายมีปัญหา จะพบในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง โดยผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน จะทำให้สูญเสียการควบคุมการขับถ่ายอย่างถาวรได้

 

แต่หลายคนอาจสับสนว่าอาการปวดหลังของตนเองนั้นจะเป็นโรคร้ายนี้หรือไม่ โดยปกติแล้วการปวดหลังนั้นมักจะมาจากการปวดกล้ามเนื้อที่ใช้งานมากจนเกินไปเฉย ๆ  แต่อาการปวดของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะลึกกว่ามาก คือให้จับสังเกตว่าจะกดหลังแล้วไม่ปวด แต่ถ้ากดโดนเส้นประสาทหลังจะมีอาการปวดอย่างรุนแรง

 

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

 

การวินิจฉัยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

 

แพทย์จะทำการซักถามประวัติของอาการปวด เช่น ปวดบริเวณไหน ปวดมากแค่ไหน ปวดเมื่อทำกิจกรรมใด และปวดเวลาใดบ้าง เป็นต้น หากวินิจฉัยแล้วว่าไม่ใช่อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แพทย์จะจ่ายยาให้ทาน แต่ถ้าหากทานยาแล้วยังไม่หาย หรืออาการปวดเริ่มลุกลามไปจนถึงขา นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการสแกนด้วย CT Scan ต่อไป

 

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทรักษาได้ด้วยวิธีไหน

 

การรักษาโรคนี้จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระยะความหนักเบาของอาการผู้ป่วย ซึ่งมีทั้งการรักษาแบบทั่วไป และการรักษาแบบผ่าตัด

 

  • ช่วงระยะเริ่มแรก ช่วงนี้จะยังมีอาการไม่หนักดังนั้นการรักษาจะไม่ต้องทำการผ่าตัดเพียงพบแพทย์เพื่อดูอาการ และรับยา ควบคู่กับการดูแลร่างกายให้ดีขึ้นเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน และฟื้นฟูกลับมาอีกครั้ง เช่น การนอนพักผ่อน และการงดกิจกรรมที่ใช้ร่างกายหนัก เป็นต้น
     
  • ช่วงระยะเรื้อรัง ในช่วงนี้อาการจะเรื้อรัง เกิดขึ้นได้หากปล่อยไว้นาน ในช่วงนี้จะไม่สามารถใช้การรักษาแบบทั่วไปได้ แต่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดในปัจจุบันผู้ป่วยจะเจ็บน้อย และใช้เวลาในการพักฟื้นเร็ว

 

ไม่อยากเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทต้องทำอย่างไร

 

การดูแลร่างกาย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่ใช้หลังถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้หมอนรองกระดูกของเราไม่เสื่อมเสียหายก่อนวัยอันควร ได้แก่

 

  • ออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และกระดูก
  • หลีกเลี่ยง และระมัดระวังกิจกรรมที่ใช้หลังหนักจนเกินไป เช่น ตีกอล์ฟ ยกของหนัก เป็นต้น
  • ไม่ควรนั่งท่าเดิมนานเกินไป หรือให้เปลี่ยนท่านั่งทุก 2 ชั่วโมง
  • งดการสูบบุหรี่
  • ดูแลควบคุมน้ำหนักตัวให้ได้มาตรฐาน
  • ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงบ่อยเกินไป เพราะสามารถทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น

 

ปัญหาของกระดูกสันหลังส่งผลร้ายแรงต่อร่างกาย หากปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ การไม่ระมัดระวังในการทำกิจกรรมหลายกิจกรรมจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ดังนั้นเราจึงควรคำนึงอยู่ตลอดว่าเรามีความเสี่ยงมากแค่ไหน และสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งใดได้บ้างเพื่อลดความเสี่ยงนั้น