อกหัก อาการที่อธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์
อกหัก อาการที่อธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์

คำว่า “เท” เป็นกิริยาที่แปลว่าราด หรือเอียงภาชนะเพื่อให้สิ่งที่อยู่ในนั้นไหลลงไปหรือออกไป แต่คำว่า “โดนเท” เป็นกรรมที่คนถูกโดนเทนั้นจะเกิดอาการ “อกหัก” ตามมา ในเมื่อเรารู้จักรักแล้วก็ต้องรู้จักอยู่กับอาการอกหักให้เป็น เพราะฉะนั้นเรามาทำความรู้จักกับอาการนี้ให้มากขึ้น และเรียนรู้วิธีการรับมือเมื่อต้องตกอยู่สถานการณ์อกหักกันเถอะ

 

อาการอกหักกับความรู้สึกเจ็บปวด

 

เมื่อเกิดความรักร่างกายจะผลิตสารแห่งความสุขออกมา เช่น ฟีนีไทลามีน (Phenylethylamine) โดพามีน(dopamine) และเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) ออกมา โดยสารเหล่านี้จะทำให้เรามีความสุข รู้สึกร่าเริง กระปรี้กระเปร่า แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราอกหัก สมองจะสั่งไม่ให้หลั่งสารเหล่านี้ออกมาอย่างฉับพลันทำให้เรารู้สึกหมดกำลังใจ ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไร นอกจากนี้ร่างกายจะมีปริมาณฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ไม่อยากทำอะไร และอาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางกาย เพราะเมื่อเกิดความเครียดแล้วย่อมส่งผลต่อหลอดเลือดของหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้น้อยลงนั่นเอง

 

อกหัก อาการที่นำพาไปสู่โรคซึมเศร้า

 

ปัญหาความรัก มักเป็นปัญหาเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้มากในหมู่เด็ก และเยาวชน และอย่างที่เรารู้กันว่าเวลาอกหักนั้นสมองจะผลิตสารแห่งความเครียดออกมาในปริมาณมาก หากปล่อยให้อาการอกหักเกาะกุมหัวใจของเราเป็นเวลานานอาจเรื้อรัง และฝังรากลึกจนกลายร่างเป็นอาการซึมเศร้า โดยสัญญาณของการเกิดโรคซึมเศร้า คือ ขาดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ หรือกิจกรรมที่เคยชอบ เกิดอาการนอนไม่หลับ หรือสามารถหลับได้ทั้งวัน รู้สึกหมดหวังในการใช้ชีวิต และอาการที่ร้ายแรงที่สุด คือ มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

 

5 ข้อแนะนำเพื่อก้าวข้ามผ่านอาการอกหัก

 

แม้อาการอกหักมักจะมาโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว แต่เมื่อรู้ว่าเกิดขึ้นแล้วเรามีข้อแนะนำ ดังนี้

  • ยอมรับความจริง ไม่ว่าเราจะเผชิญปัญหาใดในชีวิต การอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงจะทำให้เราสามารถรับรู้ และเข้าใจปัญหาจนสามารถก้าวผ่านมันไปได้
  • เลิกหมกมุ่น ไม่หมกมุ่นกับปัญหา หรือเก็บเอาปัญหามาคิดซ้ำ ๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะยิ่งทำให้เราทุกข์ใจหนักกว่าเดิม เก็บสิ่งที่ทำให้นึกถึงวันเก่า ๆ ออกไปให้พ้นสายตา
  • กลับไปใช้ชีวิต ดำเนินกิจวัตรประจำวันเหมือนเดิม เลิกฟุ้งซ่าน เพื่อกระตุ้นให้สมองกลับมาทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง
  • พูดคุย หรือหาที่ปรึกษาที่ดี การจมปลักอยู่กับปัญหาเพียงคนเดียวอาจจะทำให้หาทางออกไม่เจอ การพบปะ หรือขอคำปรึกษาจากคนอื่นจึงเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้เห็นมุมมองอีกด้านหนึ่ง ซึ่งอาจจะกลายเป็นทางออกของปัญหาที่เราเผชิญ
  • สร้างพลังใจให้ตัวเอง รักตัวเอง และมองให้เห็นคุณค่าในตัวเอง วิธีที่กล่าวมาจะไม่มีผลเลยหากคุณยังเห็นว่าตัวเองด้อยค่า ไม่หันมาดูแลตนเอง และมอบความรักให้กับตัวเอง

 

แผลกายยังพอรักษาให้หายได้ แต่แผลทางใจต้องใช้เวลาในการเยียวยารักษา แม้แต่ละก้าวจะทรมาน แต่ชีวิตของเราต้องก้าวเดินต่อไปเพื่อค้นพบหนทางที่ดีกว่าวันเดิมนะคะ

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมสุขภาพจิต : https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29870

 

_____________________________

 

ติดต่อแผนกจิตเวช

 

วันเปิดทำการ : บริการทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08.00-20.00 น. (ติดต่อลงทะเบียนก่อนเวลา 19.30 น.)
ตึก/ชั้น : A/16
เบอร์ติดต่อ : 1390