แรงไม่แรงก็เป็นโรคลมแดดได้
แรงไม่แรงก็เป็นโรคลมแดดได้

หากพูดถึงหน้าร้อน ทุกคนคงนึกถึงพระอาทิตย์ดวงโตที่มักจะปล่อยแสงแดดอันร้อนแรงคอยทำให้เราต้องประโคมทาครีมกันแดด หรือสวมหมวกเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสี UV ที่มาพร้อมกับแสงแดด แต่อันตรายจากแสงแดดไม่ได้มีเพียงแค่รังสีชนิดต่าง ๆ ที่ทำร้ายผิวเท่านั้น แต่ความร้อนที่โพยพุ่งออกมาพร้อม ๆ กับแสงแดดที่แผดเผานั้นอาจส่งผลทำให้เรากลายเป็น “โรคลมแดด” ได้

 

โรคลมแดด หรือฮีทสโตรกคือ

 

เป็นภาวะอุณหภูมิของแกนร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียสอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากการอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงมาก โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีอากาศร้อนชื้น หรือเกิดจากการออกกำลังกายมากจนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน โรคนี้สามารถส่งผลเสียต่อหัวใจ ระบบประสาท และไต เพราะเลือดไหลเวียนไปที่อวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง

โดยกลุ่มคนที่มักเป็นโรคลมแดดได้ง่าย คือ เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ (อายุเกิน 65 ปี) เพราะร่างกายมีความสามารถในการปรับอุณหภูมิได้ช้ากว่าคนวัยอื่น นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ และคนที่เคยเป็นโรคลมแดดมาก่อนยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้ง่ายด้วยเช่นกัน

 

ประเภทของโรคลมแดด

 

  • โรคลมแดดทั่วไป จะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อนสูงทำให้กระบวนการการระบายความร้อนของร่างกายทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้จึงมีอุณหภูมิสูงและเกิดเป็นโรคลมแดดในที่สุด
  • โรคลมแดดจากการออกกำลังกาย จะเกิดขึ้นเมื่อออกกำลังอย่างหนักในที่กลางแจ้งเป็นเวลานานจนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทันจึงทำให้อุณหภูมิของแกนร่างกายสูงขึ้น โรคลมแดดประเภทนี้จะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

 

ลมแดด

 

อาการของโรคลมแดด

 

โรคลมแดดสามารถเป็นได้เลยทันทีโดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ แต่เราสามารถสังเกตอาการได้เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ดังนี้

  • ร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติจึงไม่มีการขับเหงื่อออกมาทั้ง ๆ ที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูง
  • ตัวแดง เพราะร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น
  • มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น เพ้อ พูดช้า พูดไม่ชัด สับสน ชัก และหมดสติ
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว

 

วิธีรับมือเมื่อเป็นโรคลมแดด

 

หากพบผู้ป่วยที่เป็นโรคลมแดดสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ ดังนี้

  • รีบพาเข้าที่ร่ม และที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนยกเท้าให้สูงขึ้นเพื่อให้เลือดหมุนเวียนกลับสู่หัวใจมากขึ้น
  • ถอดเสื้อคลุมออก และหาวิธีทำให้ร่างกายเย็น เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบตามรักแร้ คอ แขน ลำตัว และตามข้อพับต่าง ๆ
  • หากผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นแล้วสามารถให้ดื่มน้ำเพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไป

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคลมแดด

 

โรคลมแดดสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากมาย เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง เกิดภาวะสมองบวมทำให้มีอาการสับสน ชักเกร็ง และหมดสติ ระบบหัวใจและหลอดเลือด เมื่อร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เป็นต้น โดยภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาและมีความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละบุคคล หากได้รับการช่วยเหลือล่าช้าจะทำให้อาการรุนแรง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น

 

การป้องกันโรคลมแดด

 

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนาจนเกินไป มีความโปร่งสามารถถ่ายเทความร้อนได้ง่าย
  • ใช้อุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวก แว่นกันแดด เป็นต้น
  • สามารถจิบน้ำระหว่างการออกกำลังกายกลางแจ้งเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูง

 

โรคลมแดดแม้จะเป็นโรคที่ดูไม่น่ากลัว เพราะสามารถทำให้อาการดีขึ้นได้เพียงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแต่หากปล่อยให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นเวลานานอาจจะส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้

 

______________________________________

 

ติดต่อแผนกอายุรกรรม

 

วันเปิดทำการ : บริการทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08.00-20.00 น. (ติดต่อลงทะเบียนก่อนเวลา 19.30 น.)
ตึก/ชั้น : A/16
เบอร์ติดต่อ : 1390