เป็นความดันสูง-ต่ำควรทำอย่างไร
เป็นความดันสูง-ต่ำควรทำอย่างไร

“ความดันโลหิต” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้นมีหลายข้อ เช่น ขาดสารอาหาร หรือสภาวะทางอารมณ์ เป็นต้น อาการของความดันมีทั้งความดันโลหิตสูง และความดันโลหิตต่ำ ทั้ง 2 ประเภทนี้ย่อมมีอันตรายที่แตกต่างกัน และเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดโรคร้ายอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองที่มีความรุนแรงถึงชีวิต

 

คุณเป็นความดันโลหิตสูง-ต่ำหรือไม่

 

ค่าความดันปกติจะอยู่ที่ประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท หากเป็นความดันต่ำจะอยู่ที่ 90/60 มิลลิเมตรปรอทลงไป หากความดันสูงจะวัดค่าได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป นอกจากนี้สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิตสามารถสังเกตได้ เช่น

 

  • วิงเวียนศีรษะ
  • หน้ามืด
  • ใจสั่น
  • อ่อนเพลีย
  • สายตาพร่ามัว

 

ในส่วนของอันตรายจากความดันโลหิตนั้นจะเน้นสำคัญไปที่ “ความดันโลหิตสูง” เนื่องจากโรคนี้สามารถนำพาโรคร้ายมาสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะโรคทางหลอดเลือด และหัวใจ

 

 

ทำไมต้องสนใจความดันโลหิต

 

ความดันสูง-ต่ำเป็นความเสี่ยงที่เราอาจมองว่าเป็นปกติ แต่ผลเสียที่ตามมาอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้หากเราละเลยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติ ความเสี่ยงที่เกิดได้จากความดันโลหิตผิดปกติ ได้แก่

 

  • หัวใจวาย เนื่องจากความดันโลหิตสูงจะทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น เสี่ยงให้เกิดสภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวายได้ในที่สุด
  • โรคหลอดเลือด เกิดได้กับหลายจุดทั้งหัวใจ และสมอง ที่อันตรายถึงชีวิต หากเกิดที่หัวใจจะทำให้หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หากเป็นสมองจะทำให้หลอดเลือดสมองตีบตันเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
  • โรคไต การเป็นความดันโลหิตสูงจะทำให้เส้นเลือดที่ไตเสื่อม ทำให้การทำงานของไตเสื่อมสภาพลงจนเป็นไตวายเรื้อรังที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

เมื่อรู้แล้วว่าอันตรายจากความดันโลหิตนั้นรุนแรงแค่ไหน หลายคนอาจต้องการรู้วิธีการปฏิบัติตนหากเป็นความดันโลหิตสูง-ต่ำ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีแต่ส่วนมากจะขึ้นอยู่กับตัวเราเองเสียมากกว่า

 

เป็นความดันโลหิตสูง

 

ปรับการทานอาหารควบคุมความดัน

 

เน้นการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงอาหารติดมัน อาหารหมักดอง ขนมหวาน แอลกอฮอล์ คาเฟอีนและอาหารกึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากมีผลต่อไขมันในเลือด และเสี่ยงโรคอ้วน โรคเบาหวานที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิต โดยอาหารที่สำคัญสำหรับการควบคุมความดัน ได้แก่

 

  • ผักผลไม้ เพื่อให้ร่างกายมีโพแทสเซียมมาช่วยควบคุมความดัน แต่ข้อพึงระวังคือผู้ป่วยโรคไต และโรคหัวใจไม่ควรบริโภคโพแทสเซียมมากเกินไป สารอาหารชนิดนี้พบได้ในส้ม เห็ด ลูกพรุน กล้วย และผักโขม เป็นต้น
  • ธัญพืช หรือถั่วชนิดต่างๆ มีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิต และลดคอเลสเตอรอลในเลือด เนื่องจากอาหารชนิดนี้มีโซเดียม และไขมันดี แต่อาหารจำพวกนี้ไม่ควรทานมากเกินไปใน 1 วัน
  • อาหารไขมันต่ำ หรืออาหารคลีนที่เรารู้จัก เช่น ข้าวกล้อง หรืออาหารที่มีการปรุงรสน้อย ๆ การทานอาหารคลีนมีประโยชน์ในระยะยาวต่อการควบคุมความดันโลหิต

 

ออกกำลังกายยาวิเศษลดความดัน

 

การออกกำลังกายที่สามารถควบคุมความดันได้ คือการออกกำลังกายต่อเนื่องในระดับเบาจนถึงปานกลางไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป (เนื่องจากจะทำให้ความดันสูงขึ้นกว่าปกติ) เช่น เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เดินเร็ว เป็นต้น หากระหว่างออกกำลังกายมีอาการเหล่านี้ควรหยุดออกกำลังกายทันที ได้แก่

 

  • เหนื่อยกว่าปกติมาก
  • หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้
  • แขนขาอ่อนแรง ควบคุมได้ยาก
  • แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หายใจไม่ทัน

 

ควรออกกำลังกายให้เป็นปกติอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ แต่ละวันควรออกกำลังกายให้ได้ 30 นาทีขึ้นไป หากทำได้มากกว่านั้นจะยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ

 

ทานยาตามแพทย์สั่งควบคุมความดันอย่างมีวินัย

 

การทานยาต้องเข้าปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อรับยา และฟังการปฏิบัติตน โดยปกติแล้วเมื่อได้รับยาผู้ป่วยต้องทานยาให้ตรงเวลา ไม่ควรหยุดทาน หรือเปลี่ยนยาด้วยตนเอง เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลต่อความดันโลหิตให้สูง-ต่ำมากกว่าเดิม นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อเฝ้าระวังอาการให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อารมณ์ดีความดันดี

 

ความเครียด อารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดีอาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันอย่างควบคุมไม่ได้ อารมณ์เหล่านี้ทำให้ความดันโลหิตแปรปรวน ดังนั้นเมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การรู้จักการจัดการความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญด้วยการหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดทั้งดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือการจัดการกับปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน วิธีเหล่านี้จะช่วยลดอาการเครียดจากชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

 

ความดันโลหิตที่ผิดปกติ อาจเป็นภาพสะท้อนว่าเราดูแลตนเองไม่มากพอ ดังนั้นการหันมาดูแลตนเองให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการทานยาตามแพทย์สั่งจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการควบคุมความดัน และหลีกเลี่ยงอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในเวลาเดียวกัน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง