โรคไต ตัวร้ายที่ไม่ได้มากับความเค็มเพียงอย่างเดียว
โรคไต ตัวร้ายที่ไม่ได้มากับความเค็มเพียงอย่างเดียว

“กินเค็มระวังเป็นโรคไต” ประโยคนี้หลายคนมักใช้เตือนคนที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม แต่โรคไตไม่ได้เข้าโจมตีแต่ผู้ที่ทานรสเค็มเพียงอย่างเดียวเสียแล้ว เพราะโรคนี้สามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่มาจากการใช้ชีวิตประจำวันของเราเองซึ่งส่งผลให้เราเป็นโรคร้ายนี้ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเรามาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้นดีกว่า

 

ทำความรู้จักโรคไต

 

อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าไตมีหน้าที่กำจัดของเสีย ควบคุมความเป็นกรด-ด่างในกระแสเลือด ควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ และควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายอีกด้วย ดังนั้นเมื่อไตทำงานผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดภาวะเลือดจางและขาดวิตามินได้ โดยโรคร้ายนี้มีอยู่หลายชนิด และที่พบได้บ่อย ได้แก่ กรวยไตอักเสบ ไตอักเสบ นิ่วในไต ไตเรื้อรัง และไตวาย

 

โรคไต ชื่อคุ้นหูแต่สาเหตุไม่คุ้นตา

 

โรคนี้อาจมีความเข้าใจผิด ๆ ว่าเลี่ยงทานเค็มเท่ากับเลี่ยงโรคไต ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้วยังมีสาเหตุต่าง ๆ อีกมากมาย โดยสาเหตุของการเกิดโรคนี้ ได้แก่

  • จากพันธุกรรม โดยอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือค่อย ๆ แสดงอาการในภายหลังก็ได้
  • เกิดจากโรคอื่นที่มีผลกระทบกับไต เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • การทานอาหารรสจัดไม่ใช่เพียงแค่รสเค็ม รวมไปถึงหวานจัด หรือเผ็ดจัดด้วยเช่นกัน 
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • มีความเครียด

 

โซเดียมสูงเสี่ยงไต

 

โซเดียม คือเกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากอาจจะทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไต เพราะปริมาณโซเดียมที่มากจะทำให้ไตไม่สามารถขับโซเดียมออกไปได้จนเกิดการสะสมไว้ในเลือด เมื่อมีโซเดียมมากไตก็จะยิ่งทำงานหนักผลที่ตามมาคือ ในหน่วยไตจะเกิดความดันสูงขึ้นจนเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะและนำพาไปสู่ภาวะไตเสื่อมในที่สุด พูดมาถึงจุดนี้หลายคนอาจจะพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูงจำพวกน้ำปลา และเกลือ แต่ในความเป็นจริงแล้วโซเดียมยังอยู่ในอาหารอีกหลายรูปแบบ ได้แก่

  • เครื่องปรุงรส เช่น ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้มสุกี้
  • อาหารแปรรูป เช่น เบคอน แฮม ผักกาดดอง ผลไม้กระป๋อง และไข่เค็ม
  • อาหารกึ่งสำเร็จรูป 

 

โรคไต

 

อาการของโรคไต

 

เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ได้ การเกิดความผิดปกติกับไตจึงเป็นเรื่องอันตราย โดยในช่วงแรกผู้ป่วยโรคไตแทบจะไม่มีสัญญาณของโรคร้ายนี้เลย แต่อาการจะปรากฏออกมาในระยะท้าย ๆ ที่ไตได้รับความเสียหายไปมากแล้ว จนในระดับสูงสุดอาจเกิดอาการไตวาย และเสียชีวิตได้ อาการของผู้ป่วยโรคไตที่ปรากฏมีดังนี้

  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง 
  • ปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีกลิ่นผิดปกติ มีสีผิดปกติ เป็นต้น
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการเบื่ออาหาร
  • ตัวบวมเนื่องจากมีน้ำและเกลือในร่างกายปริมาณมาก
  • ปวดหลัง ปวดบั้นเอว

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต

 

  • มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคเกาต์ เป็นต้น
  • มีมวลไตลดลง
  • มีความดันโลหิตสูง
  • คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคไต
  • อายุมากกว่า 60 ปี

 

การรักษาโรคไต

 

  • รักษาตามอาการ เช่น การรับประทานยา และควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงยาบางประเภท
  • รักษาด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพื่อช่วยขจัดของเสียทดแทนไตที่เสียไป สามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้

                - การฟอกเลือด เพื่อทำให้เลือดสะอาดโดยใช้ระยะเวลา 4-5 ชั่วโมง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

                - การฟอกไตผ่านทางช่องท้อง อาศัยช่องท้องในการฟอกเลือด โดยจะฟอกวันละ 4 รอบ

                - การปลูกถ่ายไต โดยการนำไตจากผู้บริจาคใส่เชิงกรานของผู้รับไต

 

การจัดการโภชนาการอาหารในแต่ละวันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยมาเบียดเบียน และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ คือการตรวจสุขภาพไตอย่างสม่ำเสมอเพื่อรู้เท่าทันโรคไตที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวนั่นเอง

 

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

 

_________________________________

 

ติดต่อแผนกอายุรกรรม

 

วันเปิดทำการ : บริการทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08.00-19.00 น. (ติดต่อลงทะเบียนก่อนเวลา 18.30 น.)
ตึก/ชั้น : A/16
เบอร์ติดต่อ : 1390