โรคปอดอักเสบ
ระวังปอดอักเสบ โรคที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

 

โดยปกติแล้ว มนุษย์เราจะหายใจประมาณ 14-20 ครั้ง/นาที อากาศที่หายใจเข้าไป เราจะแน่ใจได้หรือไม่ ว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา เพราะปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างมากในร่างกายของมนุษย์ และยังเป็นอวัยวะที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคมากที่สุด โดยโรคในปอดที่พบได้บ่อยคงหนีไม่พ้น โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม

 

 

โรคปอดอักเสบคืออะไร 

 

โรคปอดอักเสบ (Pneumonitis) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ปอดบวม เป็นโรคของการอักเสบในเนื้อปอด ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจ มักพบในเด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความต้านทานต่ำ

 

 

ระยะการฟักตัวของโรคปอดอักเสบ

 

อยู่ที่ชนิดของเชื้อ และภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 1-3 วัน หรืออาจจะนานถึง 1-4 สัปดาห์ อาจเป็นไปได้

 

 

สาเหตุของโรคปอดอักเสบ

 

ปอดอักเสบสามารถเกิดได้ 2 สาเหตุ ดังนี้

 

 

ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

 

 

สูดดมมลพิษ

 

 

เกิดจากผู้ที่มีการหายใจเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น สารเคมีที่ระเหยได้, ฝุ่น หรือควันที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น

 

 

ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ 

 

เกิดจากการอักเสบของถุงลมปอด และเนื้อเยื่อโดยรอบ ได้แก่ เชื้อไวรัส, เชื้อราจากมูลสัตว์ และแบคทีเรีย ซึ่งจะแตกต่างกันไป ในแต่ละช่วงอายุ และสภาพแวดล้อมรอบตัว เป็นต้น

 

 

อาการโรคปอดอักเสบ

 

อาการของโรคปอดอักเสบจะคล้ายคลึงกับการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่จะมีความแตกต่างกัน ดังนี้

 

 

ไอ

 

 

  • มีอาการไอ, เสมหะ, มีไข้ และหนาวสั่น

 

  • ผู้ป่วยจะมีอาการหอบหายใจเร็ว และอาจได้ยินเสียงดังกรอบแกรบจากปอด

 

  • มีอาการเจ็บหน้าอกขณะหายใจ

 

  • ในเด็กเล็กกับผู้สูงอายุ อาจมีอาการซึม และมีอุณหภูมิร่างกายที่ผิดปกติ

 

  • ในเด็กเล็กอาจมีอาการไม่ดูดนม หรือน้ำ, ท้องอืด และอาเจียนได้

 

 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคปอดอักเสบ

 

การรับเชื้อของโรคปอดอักเสบ มีอยู่หลายวิธี เช่น 

 

  • เมื่อมีการไอ หรือจาม อาจมีการหายใจเอาเชื้อในรูปแบบละอองฝอยขนาดเล็ก ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศเข้าสู่ปอด

 

  • ผู้ป่วยอาจติดเชื้อจากอวัยวะอื่นมาก่อน จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายเชื้อตามกระแสเลือด 

 

  • มีการลุกลามของเชื้อที่บริเวณอวัยวะข้างเคียงปอด เช่น ฝีในตับมีการแตก และเข้าสู่เนื้อปอด เป็นต้น

 

  • ผู้ป่วยมีการสำลักเชื้อที่สะสมอยู่บริเวณทางเดินหายในส่วนบนลงสู่ปอด เช่น สารคัดหลั่ง, อาหาร หรือน้ำลาย กรณีนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ

 

โดยโรคปอดอักเสบมักจะพบได้ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีกับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และยังสามารถพบได้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้ 

 

  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ, หอบหืด, เบาหวาน หรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง

 

 

 

ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มสุรา

 

 

  • ผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่ หรือการดื่มสุราเรื้อรัง

 

 

การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ

 

  • ตรวจออกซิเจน เพื่อดูการทำงานของปอดในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือด

 

  • ตรวจเม็ดเลือดขาว เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ 

 

  • ตรวจเพาะเชื้อจากเลือด และเสมหะ เพื่อหาชนิดของโรค

 

 

การรักษาโรคปอดอักเสบ

 

การรักษาอาการจำเพาะ 

 

พิจารณาให้ยาขยายหลอดลมในกรณีที่ผู้ป่วยมีเสียงดังที่ปอด ให้ยาขับเสมหะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้น้ำ และอาหารอย่างเพียงพอ ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารไม่ได้ แพทย์จะพิจารณาให้อาหารทางสายยาง เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดสารอาหาร นอกจากนี้ยังมีการบำบัดทรวงอก เพื่อช่วยขับเอาเสมหะออกจากปอดได้ดีขึ้น

 

 

การรักษาทั่วไป

 

กรณีที่เกิดจากเชื้อไวรัส แพทย์จะรักษาแบบประคับประคอง โดยบำบัดทางระบบหายใจ เพราะไม่มียารักษา ส่วนในกรณีที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะ โดยจะเลือกใช้ยารักษาตามเชื้อที่ผู้ป่วยได้รับ

 

 

วัคซีนปอดอักเสบ 

 

การป้องกันโรคปอดอักเสบที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพราะเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ โดยวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจะมี 2 ชนิด คือ ชนิด 13 สายพันธุ์ และ 23 สายพันธุ์ ควรฉีดห่างกันอย่างน้อย 2 เดือนจะทำให้สามารถป้องกันเชื้อปอดอักเสบได้นานถึง 5 ปี

 

 

การปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงโรคปอดอักเสบ

 

  • ดูแลสุขอนามัยสม่ำเสมอ เช่น การล้างมือเป็นประจำเมื่อมีการสัมผัสสิ่งของในที่สาธารณะ

 

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด

 

 

ออกกำลังกาย

 

 

  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอ, รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นวิธีการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงแบบเบื้องต้นได้

 

  • งดสูบบุหรี่ และดื่มสุรา เพราะบุหรี่จะทำลายกระบวนการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ส่วนสุราอาจทำให้สำลักเชื้อโรคเข้าสู่ปอดได้

 

 

โรคปอดอักเสบเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจจึงมีความอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น เราจึงควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไว้ก่อน เพื่อให้ร่างกายห่างไกลจากโรคร้ายที่อาจพรากชีวิตคุณ และคนที่คุณรัก หากมีท่านใดที่สงสัย หรือมีอาการเข้าข่ายโรคปอดอักเสบ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และดำเนินการรักษาต่อไป



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ศูนย์ตรวจสุขภาพ

 

วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ+วัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

ปอดอักเสบในเด็ก ภัยร้ายที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ