ทำอย่างไรเมื่อข้อไหล่หลุด (Shoulder Dislocations)
ทำอย่างไรเมื่อข้อไหล่หลุด (Shoulder Dislocations)

ไหล่หลุดเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้เกิดอาการไหล่นูนบวม มีอาการชา และปวด หลังจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดการกระแทก และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวของแขน ให้รีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตามขั้นตอนทั้งการจัดกระดูก หรือการผ่าตัดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

 

ทำไมข้อไหล่จึงหลุด

 

ไหล่หลุดเกิดได้จากหลายสาเหตุ และส่วนมากจะเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากเกิดขึ้นแล้วจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการซ้ำอีก โดยสาเหตุที่ทำให้ไหล่ของเราหลุดมีดังนี้

 

  • การเสื่อมสภาพตามอายุ หรือข้อต่อไม่แข็งแรงในเด็ก
  • เกิดจากพันธุกรรมของคนในครอบครัว
  • เกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อไหล่ เช่น รถล้ม หรือตกจากที่สูง
  • การเล่นกีฬาบางประเภทที่ต้องปะทะ เช่น ฟุตบอล รักบี้

 

ความรุนแรงของอาการข้อไหล่หลุด

 

อาการไหล่หลุดเกิดขึ้นได้จากหลายด้าน แต่ส่วนมากไหล่มักจะหลุดไปด้านหน้า ทั้งการหลุดบางส่วน และหลุดทั้งข้อไหล่ จนสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้ด้วยตาเปล่า เช่น

 

  • อาการนูนเป็นก้อนที่ไหล่
  • มีอาการปวดชา หรือเจ็บที่บริเวณหัวไหล่
  • ไม่สามารถขยับแขนได้

 

ไหล่หลุด

 

ข้อไหล่หลุดอย่าตกใจ

 

หากพบว่าตนเองมีอาการไหล่หลุดนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ต้องปฏิบัติตัวด้วยความระมัดระวังที่สามารถทำได้ด้วยตนเองก่อนเข้าพบแพทย์ ดังนี้

 

  • ห้ามเคลื่อนไหวแขน เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบกล้ามเนื้อ เส้นประสาทบริเวณหัวไหล่
  • หากมีอาการปวดสามารถใช้น้ำแข็งประคบเย็นได้
  • หากต้องการประคองแขนเพื่อป้องกันการกระแทกสามารถงอแขนช่วงล่างเป็นมุมฉาก หรือเอาไว้ที่หน้าอกได้
  • ป้องกันการเคลื่อนไหว หรือการกระแทกได้ด้วยการนำวัสดุอ่อนนุ่มมารองระหว่างแขน และลำตัว เช่น ผ้า หรือหมอน เป็นต้น

 

หลายคนเข้าใจว่าเมื่อไหล่หลุดสามารถให้ผู้อื่นดันกลับเข้าได้เองซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจากอาจส่งผลต่อระบบกระดูกได้ ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือปฏิบัติตนตามข้อแนะนำเบื้องต้น และมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป

 

การรักษาข้อไหล่หลุด

 

หลังจากรู้ข้อปฏิบัติเบื้องต้นแล้ว เราคงอยากรู้แล้วว่าอาการไหล่หลุดที่ดูเหมือนไม่มีอะไรนั้นแพทย์จะรักษาได้ด้วยวิธีใดได้บ้าง ซึ่งการรักษาจะแบ่งตามความรุนแรงของอาการ

 

  • การจัดกระดูก แพทย์จะหมุนแขนผู้ป่วยร่วมกับการใช้ยาระงับอาการบาดเจ็บจนกว่าแขนจะเข้าที่ และตรวจสอบติดตามอาการด้วยการเอกซเรย์ว่าข้อหัวไหล่เข้าที่แล้วหรือไม่ ต่อมาแพทย์จะให้ใส่ที่คล้องแขนเพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวโดยระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
     
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดมักทำกับผู้ที่มีอาการไหล่หลุดเรื้อรัง หรือมีอาการในระดับรุนแรงจนส่งผลต่อกล้ามเนื้อ กระดูก และระบบประสาท การผ่าตัดสามารถผ่าตัดได้ทั้งแบบเปิด และแบบส่องกล้อง

 

หลังได้รับการรักษาไปแล้ว ผู้ป่วยต้องทำกายภาพบำบัดบริหารกล้ามเนื้อ และหัวไหล่ รวมไปถึงการดูแลตนเองต่อแม้จะกลับบ้านแล้วก็ตาม ซึ่งแนวทางในการดูแลตนเองนั้นไม่ยุ่งยาก แต่ต้องพึ่งวินัย และความตั้งใจเพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้โดยเร็ว ได้แก่

 

  • ประคบเย็นในช่วงแรกเมื่อมีอาการปวดประมาณ 20 นาที เมื่ออาการดีขึ้นให้ประคบร้อนไม่เกิน 20 นาทีเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • ระหว่างการรักษาหลีกเลี่ยงการงอ และการเคลื่อนไหวแขน  ห้ามยกของหนักเพราะจะทำให้อาการไหล่หลุดกลับมา และเป็นหนักกว่าเดิม
  • ทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่งได้ และออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษาตัว

 

อาการไหล่หลุดอาจควบคุมไม่ได้ แต่การระมัดระวังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดข้อไหล่หลุดได้ หากได้รับการรักษาแล้วผู้ป่วยควรติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะต่าง ๆ ที่อาจตามมาควบคู่กับการดูแลตนเองจนกว่าจะหายเป็นปกติ