ข้ออักเสบ อาการปวดที่อันตรายกว่าที่คิด
ข้ออักเสบ อาการปวดที่อันตรายกว่าที่คิด

โรคข้ออักเสบ (Arthritis) เป็นโรคที่มีความเสี่ยงตามอายุ และสามารถเกิดขึ้นได้จากโรครูมาตอยด์ และโรคเก๊าท์ โดยอาการของโรคนี้จะทำให้ข้อมีอาการปวดบวมแดง เคลื่อนไหวได้ลำบาก หากปล่อยไว้อาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงเช่นอาการติดเชื้อที่มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นหากมีสัญญาณเตือนให้เข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ

 

โรคข้ออักเสบเกิดจากอะไร

 

เป็นการเสื่อมสภาพของข้อ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้มีอยู่ด้วยกันหลายประการ และสามารถเกิดขึ้นได้หลายส่วน ซึ่งสามารถแบ่งออกหลัก ๆ ได้ดังนี้

 

  • จากการติดเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส
     
  • ข้อต่อเกิดการสะสมของผลึกกรดยูริก
     
  • เกิดได้จากโรครูมาตอยด์ หรือโรคเก๊าท์
     
  • การเสื่อมสภาพ หรือสึกหรอตามอายุการใช้งานของข้อต่อ

 

นอกจากนี้โรคนี้ยังเกิดขึ้นได้จากการประสบอุบัติเหตุจนเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณข้อ ทั้งนี้สามารถแบ่งประเภทของข้ออักเสบได้ 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

 

  • แบบเฉียบพลันข้อเดียว  : เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็น และข้อ จากการติดเชื้อ และยังสามารถเกิดจากโรคเก๊าท์ได้ด้วย
     
  • แบบหลายข้อชนิดเฉียบพลัน : โดยปกติจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย
     
  • แบบหลายข้อชนิดเรื้อรังจากรูมาตอยด์ : เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุทั้งจากโรครูมาตอยด์ เก๊าท์เทียม หรือมะเร็งบางชนิด นอกจากนี้ยังสามารถเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย

 

 

ข้ออักเสบ

 

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเสี่ยงโรคข้ออักเสบ

 

เนื่องจากสาเหตุของการเกิดโรคนั้นมีหลากหลายประการ ทำให้การหลีกเลี่ยงโรคนี้ทำได้ยาก ดังนั้นการเรียนรู้อาการที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงจึงสำคัญ ได้แก่

 

  • เกิดอาการบวมแดง และร้อนที่ข้อต่อโดยอาจเกิดขึ้นเพียงจุดเดียว หรือหลายจุด
     
  • เมื่อตื่นนอนตอนเช้าข้อจะมีอาการติดขัดเป็นเวลานาน
     
  • เคลื่อนไหวข้อต่อได้ลำบาก มีอาการปวด หากกดจะยิ่งมีอาการปวดเจ็บมากขึ้น
     
  • มีอาการไข้ เกิดความอ่อนเพลีย และน้ำหนักลดลง

 

หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น และไม่มีท่าทีว่าอาการจะบรรเทาลงให้เข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น เอกซเรย์ ตรวจน้ำไขข้อ และอัลตราซาวด์ ผ่านผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ

 

โรครูมาตอยด์ และโรคเก๊าท์สะพานสู่ข้ออักเสบ

 

ในบรรดาโรคร้ายทั้งหมดมักมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน รวมไปถึงโรคทางกระดูกและข้ออย่างข้ออักเสบที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “โรครูมาตอยด์” และโรคที่เรารู้จักกันดีอย่าง “โรคเก๊าท์”
 

  • โรครูมาตอยด์ : พบได้มากในเพศหญิง โรคนี้สามารถทำให้เกิดข้ออักเสบชนิดเรื้อรังได้ โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการข้อนิ้วมือบวมอักเสบจนแดง เกิดอาการมือแข็งกินเวลากว่าชั่วโมง อาจเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ข้าง หากไม่ได้รับการรักษาจะสามารถทำให้ข้อพิการได้
     
  • โรคเก๊าท์ : พบได้มากในเพศชาย อาการอักเสบจะพบบ่อยที่บริเวณเท้าทั้งข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า เมื่อปล่อยไว้อาการจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าข้ออักเสบจากโรครูมาตอยด์ และอาจร้ายแรงถึงขั้นเดินไม่ได้ แต่หากลดการใช้งานข้ออักเสบได้อาการจะดีขึ้นตามลำดับ

 

วิดีโอ ประสบการณ์จริงจากคนไข้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (คลิก)

 

 

ข้ออักเสบอันตรายแค่ไหน

 

นอกจากความลำบากในการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน และความเสี่ยงข้อพิการแล้ว โรคนี้ยังอันตรายถึงชีวิตได้ด้วยอาการติดเชื้อ เนื่องจากการติดเชื้อจะทำให้เกิดการอักเสบของข้อแบบเฉียบพลัน และยังสามารถเป็นแบบเรื้อรังได้อีกด้วย มักพบเจอได้มากในผู้สูงอายุที่เป็นโรคมะเร็ง โรคตับ โรคเบาหวาน หรือผู้ที่กำลังใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเชื้อจะแพร่กระจายมากขึ้นจนเสียชีวิตในที่สุด

 

ข้ออักเสบรักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง

 

การรักษาสามารถทำได้ตั้งแต่เบื้องต้นคือการหลีกเลี่ยงการรับน้ำหนักของข้อ และให้ออกกำลังกาย เพื่อทำให้ข้อมีความยืดหยุ่น เช่น ว่ายน้ำ รวมไปถึงพยายามประคบทั้งร้อนและเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้โรคข้ออักเสบยังมีวิธีรักษาอยู่อีกหลายวิธี ดังนี้

 

  • รักษาด้วยยา : ผู้ป่วยสามารถใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการของโรค รวมถึงระงับอาการปวดได้ เช่น ยาแก้ปวด ยาทา ยากลุ่มเอ็นเสด และยารักษาโรครูมาตอยด์ เป็นต้น
     
  • ทำกายภาพบำบัด : การทำกายภาพบำบัดหรือการออกกำลังกายบริเวณกล้ามเนื้อข้อ สามารถช่วยฟื้นฟูได้ในระดับหนึ่ง
     
  • การผ่าตัด : หากไม่สามารถรักษาด้วยยา และทำกายภาพบำบัดแล้วไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดทั้งการผ่าตัดข้อต่อ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นต้น

 

การป้องกันโรคข้ออักเสบ

 

หากไม่รวมถึงปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อายุที่มากขึ้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เราสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคข้ออักเสบ

 

  • ออกกำลังกายโดยให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อต่ออย่างหนัก การออกกำลังกายที่ส่งผลดีต่อข้อ คือ ว่ายน้ำ เพราะน้ำจะช่วยพยุงข้อต่อไม่ให้ทำงานหนัก
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่รวมถึงควันบุหรี่
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีโอเมก้า 3 พบได้มากในปลาทะเล
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลต่อข้อ เช่น การยกของหนักให้ยก 2 มือ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่อง “น้ำมันตับปลารักษาข้อ” ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากการรับน้ำมันตับปลาในปริมาณมากไม่ได้ช่วยรักษาข้อ แต่จะเกิดการสะสมจนกลายเป็นพิษจากวิตามินเอและดีได้

 

ทั้งนี้อาการเจ็บปวดตามข้อที่เกิดขึ้นไม่ควรปล่อยไว้นาน หากมีอาการในระยะหนึ่งควรเข้าพบแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดข้อพิการในเวลาต่อมาได้



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement)