Brain Fog Syndrome
Brain Fog Syndrome

ภาวะสมองล้า (Brain Fog Syndrome) เกิดจากการทำงานหนักของสมองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการทำงาน หรือการอ่านหนังสือเรียน ส่งผลให้เกิดอาการทางอารมณ์ที่แปรปรวน หรือการทำงานของสมองที่ผิดปกติ เช่น ความจำไม่ดีชั่วขณะหนึ่ง ถึงแม้อาการเหล่านี้จะสามารถหายได้เองในเวลาต่อมา แต่หากเกิดภาวะสมองล้าบ่อยครั้งจะทำให้เสี่ยงโรคอันตราย เช่น เกิดอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และสมองเสื่อมก่อนวัย เป็นต้น

 

ภาวะสมองล้าคืออะไร

 

ภาวะสมองล้า (Brain Fog Syndrome) เป็นภาวะที่สมองทำงานหนักมากเกินไปเป็นเวลานานจนส่งผลต่อสมองในส่วนของสารเคมีที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบไฟฟ้าระหว่างเซลล์ระบบประสาททำงานไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนกับการมีหมอกมาบดบังการทำงานของสมองเป็นที่มาของชื่อ “Brain Fog Syndrome” ถึงแม้อาการจะไม่อันตรายแต่หากปล่อยให้เกิดขึ้นบ่อยครั้งจะทำให้เสี่ยงโรคอื่น ๆ ตามมา และสามารถส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้

 

สาเหตุของภาวะสมองล้า

 

ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยทั้งจากการทำงานในแต่ละวัน และภาวะร่างกาย ได้แก่

  • มีสภาวะความเครียดมากเกินไปส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดเสี่ยงภาวะสมองล้า
  • พักผ่อนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และขาดการออกกำลังกาย
  • รับคลื่นแม่เหล็กจากการเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือใช้งานคอมพิวเตอร์มากเกินไป
  • เกิดจากการทำงานของฮอร์โมนที่ไม่สมดุล เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นต้น
  • โรคเรื้อรังบางชนิดจะเพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองล้าได้เช่นกัน
  • เกิดจากสารพิษในร่างกาย เช่น สารโลหะหนัก การปนเปื้อนในอาหาร หรือมลพิษ เป็นต้น

นอกจากนี้ภาวะสมองล้ายังสามารถเกิดขึ้นได้จากภาวะขาดสารอาหารบางประเภท เช่น วิตามิน เกลือแร่ กรดอะมิโน หรือสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งหาได้จากผักผลไม้เป็นหลัก

 

ภาวะสมองล้า

 

อาการของภาวะสมองล้า

 

  • อาการทางสมองจากภาวะสมองล้า ได้แก่ มีปัญหาด้านความจำ ไม่ค่อยมีสมาธิ คิดได้ช้า ส่งผลให้ทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ลำบากมากยิ่งขึ้น
  • อาการทางร่างกายและอารมณ์จากภาวะสมองล้า ได้แก่ อาการนอนไม่หลับ ปวดศีรษะแบบเรื้อรัง หงุดหงิดง่าย และสายตาอ่อนเพลีย

 

 ภาวะสมองล้าต่างกับภาวะหมดไฟอย่างไร

 

ภาวะสมองล้าเป็นภาวะทางกายภาพของสมองที่ทำงานหนัก เมื่อเป็นแล้วจะส่งผลต่อสภาพร่างกายได้ แต่ภาวะหมดไฟเป็นสภาวะด้านจิตใจที่เกิดขึ้นจากภาระการทำงานที่หนักมากเกินไป หรือความรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสุขกับการทำงานส่งผลให้มีความรู้สึกไม่อยากทำงานไม่ได้มีผลต่อสภาพร่างกายโดยตรงเหมือนภาวะสมองล้า

 

อันตรายจากภาวะสมองล้า

 

ถึงแม้จะไม่ได้อันตรายมากแต่การปล่อยให้เกิดภาวะสมองล้าบ่อย ๆ จะทำให้เสี่ยงโรคอื่นที่มีความอันตรายเนื่องจากเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในสมอง โรคที่อาจตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน การทำงานของสมองแย่ลงจนอาจเกิดอัลไซเมอร์ สมองเสื่อมก่อนวัย โรคพาร์กินสัน และสำหรับเพศหญิงจะมีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นต้น

 

การรักษาและการป้องกันภาวะสมองล้า

 

  • จัดการตารางงานและสิ่งแวดล้อมใหม่ เมื่อมีภาระงานที่มากขึ้นบางคนอาจจัดการงานหลายงานในเวลาเดียวกันทำให้สมองทำงานหนักมากยิ่งขึ้นจนเสี่ยงภาวะสมองล้าในที่สุด ควรแก้ไขด้วยการจัดตารางงานใหม่ ทำงานทีละชิ้น และกำหนดเวลาในการทำให้แน่นอน พร้อมปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเวลาทำงานให้เป็นระเบียบมากขึ้น
  • ผ่อนคลายตนเองให้มากขึ้น พยายามพักผ่อนร่างกายระหว่างทำงานพักสายตาหรือลุกเดินเปลี่ยนท่านั่งทุก 1-2 ชั่วโมง หรือทำสมาธิด้วยการหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดจนส่งผลเสียต่อสมอง นอกจากนี้การทำให้ตนเองผ่อนคลายยังส่งผลดีต่อสภาพจิตใจอีกด้วย
  • พยายามไม่รับข่าวสารที่ส่งผลให้เกิดความเครียด เช่น พักการเล่นโซเชียลในบางจังหวะ หรือเมื่อเครียดจากงานมาแล้วหากเล่นโซเชียลแล้วยังเจอข่าวสารที่ทำให้ไม่สบายตลอดทั้งวันควรงดการเล่นโซเชียลแล้วทำกิจกรรมอื่นที่ตนเองชื่นชอบเพื่อผ่อนคลายตนเอง
  • ดูแลตนเองให้มากขึ้น นอนหลับพักผ่อนวันละ 7 ชั่วโมงขึ้นไป ทานอาหารที่มีประโยชน์เน้นผักผลไม้เพื่อรับสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินต่าง ๆ รวมไปถึงการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลสุขอนามัย สิ่งพื้นฐานเหล่านี้สามารถช่วยรักษาและต่อต้านภาวะสมองล้าได้เป็นอย่างดี

 

ภาวะสมองล้าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยเฉพาะวัยทำงานและวัยเรียน ถึงแม้อาการจะสามารถหายได้ในเวลาต่อมา แต่หากไม่ใส่ใจอาจมีโรคอื่น ๆ ตามมาในภายหลังการผ่อนคลายตนเองไม่ให้สมองทำงานหนักจึงเป็นสิ่งที่เราควรคำนึงถึงอยู่ตลอด



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI