โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ความเสี่ยงตั้งแต่ยังตั้งครรภ์
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ความเสี่ยงตั้งแต่ยังตั้งครรภ์

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) เป็นความผิดปกติของหัวใจในทารกแรกเกิด ที่มีอันตรายต่อตัวเด็กอย่างมาก และอาจไม่แสดงอาการหากอาการของโรคยังไม่รุนแรง แต่สามารถสังเกตได้จากพัฒนาการของเด็กที่ช้ากว่าปกติ รวมไปถึงอาการเขียวคล้ำที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า เป็นต้น ถึงแม้โรคนี้จะน่ากลัว แต่สามารถรักษาได้หลายวิธีทั้งการใช้ยา ผ่าตัด และการสวนหัวใจ

 

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดคืออะไร

 

เป็นความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่เริ่มการสร้างอวัยวะในครรภ์มารดา ที่พบได้ในเด็กทารกแรกเกิด มีโอกาสพบได้ 8 ใน 1,000 คน จากความผิดปกตินี้ทำให้หัวใจไม่สามารถโอนถ่ายเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นปัญหาด้านหัวใจที่สำคัญของเด็กน้อยที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง โรคนี้แบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

 

  • ชนิดเขียว (ออกซิเจนในเลือดต่ำ) : หัวใจและหลอดเลือดผิดปกติทำให้เลือดแดง และเลือดดำผสมกัน จนลำเลียงออกซิเจนไม่ได้ ส่งผลให้เด็กมีผิวสีเขียวคล้ำเห็นได้จากตอนที่เด็กดูดนม หรือขณะกำลังร้อง
     
  • ชนิดไม่เขียว : อาการไม่รุนแรงเท่าแบบเขียว เกิดจากโครงสร้างของหัวใจและหลอดเลือดมีความผิดปกติ แต่ชนิดไม่เขียวจะไม่มีการผสมกันของเลือดดำและเลือดแดง

 

ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

 

  • การปฏิบัติตัวของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ : หากระหว่างนั้นไม่ดูแลเรื่องการทานอาหาร รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นผลเสียต่อร่างกายจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยง เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อครรภ์ได้
     
  • อาการป่วยระหว่างตั้งครรภ์ : เกิดได้จากหัดเยอรมันจากการติดเชื้อ หรือโรคเบาหวานจากระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถส่งผลต่อเด็กในครรภ์ได้
     
  • พันธุกรรมมีความผิดปกติ : ความผิดปกติของพันธุกรรมสามารถส่งผลต่อกระบวนการสร้างหัวใจ ทำให้หัวใจไม่สมบูรณ์ หากคนในครอบครัวมีประวัติว่าเคยเป็นโรคนี้ จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
     
  • ยาหรือสารเคมีที่ส่งผลต่อครรภ์ : ยาหรือสารบางประเภทไม่สามารถใช้ได้ระหว่างการตั้งครรภ์ ดังนั้นก่อนรับยาในช่วงก่อน-ระหว่างตั้งครรภ์จะต้องศึกษาให้ดี และปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะยาเหล่านั้นจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้

 

อาการที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

 

โรคนี้ไม่ได้พบแค่ในเด็กทารกแรกเกิดเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในเด็กเล็ก สำหรับเด็กที่ไม่ได้เป็นโรคนี้อย่างรุนแรงอาการอาจจะไม่แสดงออก แต่สามารถสังเกตได้ในภายหลัง ดังนี้

 

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะฟังได้จากเสียงการเต้นของหัวใจ
     
  • มีอาการหัวใจวายจากการทำงานหนัก
     
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาจเป็นลมหมดสติ
     
  • ลูกดูดนมได้น้อย น้ำหนักตัวขึ้นช้า
     
  • มีสีเขียวคล้ำที่ปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปาก ลิ้น และเยื่อบุตา
     
  • เติบโตช้ากว่าเด็กทั่วไป

 

หากพบว่าลูกมีอาการดังกล่าวให้รีบนำมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยทันทีหากพบว่าเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจริง จะต้องเข้ารับการรักษาตามอาการ และความรุนแรงด้วยการทานยา การสวนหัวใจ หรือการผ่าตัด

 

การวินิจฉัยหาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

 

การตรวจเพื่อหาโรคนี้ทำได้หลายวิธีเพื่อดูความสมบูรณ์ และการทำงานของหัวใจ และหลอดเลือด รวมไปถึงความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ ที่เป็นสาเหตุของอาการผิดปกติ  ได้แก่

 

  • ตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echo) : เพื่อดูโครงสร้างและความผิดปกติของหัวใจ
     
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) : ดูจังหวะการเต้นของหัวใจ และขนาดห้องหัวใจ
     
  • เอกซเรย์หัวใจ : เพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ และภาวะหัวใจโต
     
  • ตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) : ตรวจเพื่อช่วยดูรายละเอียดความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ และหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน
     
  • การสวนหัวใจ : เป็นการสอดท่อขนาดเล็กเพื่อตรวจดูการทำงานของหัวใจ

 

หัวใจพิการมาแต่กำเนิด

 

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดรักษาอย่างไร

 

จากที่กล่าวไปแล้วว่าสามารถรักษาได้หลายวิธี แต่ต้องขึ้นอยู่กับอาการ และความรุนแรงของผู้ป่วยด้วย ได้แก่

 

  • รักษาด้วยยา : สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักและสามารถบรรเทาอาการด้วยยาพร้อมกับการดูแลจะสามารถหายได้เองในเวลาต่อมา เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น ยาเหล่านี้จะทำให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น
     
  • รักษาด้วยการผ่าตัด : หากไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา ซึ่งปกติแล้วจะเป็นผู้ป่วยอาการหนักต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งอาจมีความเสี่ยงตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย การรักษาที่เกี่ยวข้อง เช่น การซ่อมแซมลิ้นหัวใจ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เป็นต้น
     
  • รักษาด้วยการสวนหัวใจ : สามารถทำได้หากร่างกายของผู้ป่วยพร้อมสำหรับการใส่สายสวนหัวใจ การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถรักษาปัญหาการทำงานของหัวใจได้หลายประเภท เช่น ภาวะผนังกั้นหัวใจรั่ว

 

ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

 

เมื่อพบว่าลูกตัวน้อยเป็นโรคนี้ให้รีบพาเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และตกลงวิธีรักษา โดยในระหว่างการรักษา ผู้ปกครองต้องมีความเข้าใจในพัฒนาการของเด็กที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการปฏิบัติ ดังนี้

 

  • ให้ความสำคัญกับสุขภาพช่องปากและฟัน หากไม่ดูแลจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ดังนั้นจึงควรพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน
     
  • หากมีกิจกรรม หรือการออกกำลังกาย ไม่ควรใช้แรงมากเกินไป
     
  • ระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปอดอักเสบ เป็นต้น
     
  • เด็กจะมีพัฒนาการช้า และมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวหากใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การหยิบจับสิ่งของ ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจ และปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก

 

ไม่อยากให้ลูกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดควรทำอย่างไร

 

  • เด็กแรกเกิดถึง 1 ปี ควรจำกัดปริมาณนมในบางประเภทตามคำแนะนำของหมอ และควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม
     
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ และดูแลสุขอนามัย
     
  • ระหว่างตั้งครรภ์ต้องฝากครรภ์และเข้าพบแพทย์ตามกำหนดเพื่อระวังภาวะความผิดปกติต่าง ๆ
     
  • หากคนในครอบครัวเคยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดควรบอกแพทย์เพื่อตรวจหาความเสี่ยง
     
  • ดูแลความปลอดภัย และระวังการติดเชื้อทางเดินหายใจตามสถานที่ต่าง ๆ
     
  • พบแพทย์ตามกำหนด และพยายามรับวัคซีนที่แนะนำให้ครบเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ

 

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหลีกเลี่ยงได้ยาก และมีความรุนแรงหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ดังนั้นการคอยสังเกตอาการความผิดปกติของลูกน้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพื่อทำการรักษาได้ทันหากพบว่าลูกตัวน้อยมีความเสี่ยง