Dizziness vertigo
Dizziness vertigo

คุณเคยมีอาการเวียนหัว เหมือนสิ่งรอบตัวกำลังหมุน ทั้ง ๆ ที่ตัวเองยืนอยู่เฉย ๆ แต่กลับรู้สึกทรงตัวไม่ค่อยอยู่ มึนงง สมองตื้อ ไม่แจ่มใสบ้างไหม เมื่อเกิดอาการบางคนอาจซื้อยามารับประทานเอง แต่หากอาการกำเริบในระหว่างการทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวันอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงต่อตัวเราได้ โดยอาการดังกล่าวอาจไม่ใช่อาการเฉพาะเจาะจงของโรคใดโรคหนึ่งเสียทีเดียว แต่เป็นอาการโดยรวมที่อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ และอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อน ดังนั้นเรามาทำความรู้จักอาการเวียนศีรษะ หรืออาการบ้านหมุนกัน

 

อาการเวียนหัวเกิดจากอะไร

 

เวียนหัว หรือเวียนศีรษะ (Dizziness) มักเป็นอาการที่พบบ่อย โดยจะมี 2 ลักษณะ คือ อาการมึนเวียนศีรษะ และอาการบ้านหมุน (Vertigo) โดยสาเหตุจะสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประการ ดังนี้

 

  • ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เกิดอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ  โรคลมบ้าหมู เส้นเลือดตีบ โรคพาร์กินสัน เนื้องอกในสมอง สมองเสื่อม เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ปากเบี้ยว ซึ่งอาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงปัญหาหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดในสมองตีบ เป็นต้น
     
  • โรคทางหู เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการทางหูอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หูอื้อ มีเสียงในหู หรือการได้ยินลดลง
     
  • ระบบหมุนเวียนโลหิตผิดปกติ เกิดจากความดันโลหิตต่ำ หรือความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคของหัวใจที่ล้วนส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืด หรือควบคุมการทรงตัวได้ยากเนื่องจากหัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ
     
  • ระบบประสาทรับภาพไม่สัมพันธ์กับสภาพที่เคลื่อนที่เร็ว เช่น ในขณะที่รถกำลังวิ่งเร็ว หรือมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว

 

อาการบ้านหมุนเกิดจากอะไร

 

เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะภายในหูชั้นในที่ทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของร่างกาย จึงทำให้เกิดอาการบ้านหมุน เพราะร่างกายเสียความสมดุลในการทรงตัว ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมหมุนรอบตัวเอง หรือตัวเองกำลังหมุนทั้ง ๆ ที่อยู่กับที่ บางรายอาจมีรุนแรงมากจนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

 

 

 

อาการเวียนหัว บ้านหมุนอันตรายหรือไม่

 

อาการดังกล่าวมีเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ บางสาเหตุอาจรักษาหายได้เพียงแค่รับประทานยา แต่บางสาเหตุอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดสมองตีบ เป็นต้น ดังนั้นหากมีอาการเวียนหัวอย่างรุนแรง หรือเป็นซ้ำ ๆ และมีอาการอื่นร่วมด้วยจนรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น หน้าเบี้ยว ชา อ่อนแรง เดินเซ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่าง เหมาะสมทันที

 

โรคที่เป็นสาเหตุของอาการเวียนหัว

 

  • โรคหินปูนในหูชั้นใน หรือ BPPV เป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ โดยจะมีอาการเวียนหัวแบบบ้านหมุนขึ้นมาทันทีที่เปลี่ยนท่าทางของศีรษะ เช่น ล้มตัวลงนอน  หรือก้มเก็บของ ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการเป็นเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นประจำ
     
  • โรคไมเกรน นอกจากจะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนหัวที่มักจะเป็น ๆ หาย ๆ สลับกันไป และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น การได้ยินจะลดลง หูอื้อ จนบางครั้งอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
     
  • โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ผู้ป่วยจะมีอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน และสูญเสียการทรงตัว โรคนี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน
     
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือโรคความดันโลหิตสูง ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดไม่เพียงพอต่อการไปเลี้ยงสมอง ทำให้มีอาการหน้ามืด หรือเป็นลมตามมา
     
  • โรคทางจิตเวช โดยสาเหตุนี้มักจะเกิดจากสภาพจิตใจร่วมด้วย เช่น อาการเวียนหัวอย่างมากเมื่ออยู่ในที่แคบ ที่สูง หรือที่ชุมชน เกิดอาการหายใจไม่เต็มอิ่ม มือเท้าชา และเย็น และแน่นหน้าอก เป็นต้น

 

เมื่อเกิดอาการเวียนหัว บ้านหมุนควรทำอย่างไร

 

อาการเวียนศีรษะและอาเจียนมาก ๆ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่อย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ความดันในเลือดต่ำ และอาจเกิดภาวะช็อก ดังนั้นหากเกิดอาการขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ควรปฏิบัติดังนี้

  • หยุดนั่งพัก หรือควรนอนพักสักครู่จนกว่าอาการจะดีขึ้น
     
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้อาการแย่ลง เช่น การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้ม หรือเงยคอนาน ๆ

 

วิธีป้องกันอาการเวียนหัว บ้านหมุน

 

ควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้

 

ท่าบริหารช่วยลดอาการเวียนหัว บ้านหมุน
 

บริหารศีรษะ

  • ก้มศีรษะไปข้างหน้าแล้วแหงนไปข้างหลัง โดยทำอย่างช้า ๆ ขณะลืมตา แล้วค่อยเพิ่มเร็วขึ้น ทั้งหมด 20 ครั้ง
     
  • หลับตาแล้วค่อย ๆ หันศีรษะจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งอย่างช้า ๆ  แล้วค่อยเพิ่มเร็วขึ้น ทั้งหมด 20 ครั้ง
     

บริหารตา

  • มองขึ้นบนแล้วมองลงล่าง ทำช้า ๆ แล้วค่อยเพิ่มเร็วขึ้น จำนวน 20 ครั้ง
     
  • กลอกตาจากซ้ายไปขวา โดยเริ่มทำอย่างช้า ๆ  เช่นกัน จำนวน 20 ครั้ง
     

บริหารในท่านั่ง

  • ยกไหล่ขึ้นลง 20 ครั้ง
  • หันไหล่ไปทางขวา แล้วหันไปทางซ้าย ทำจำนวน 20 ครั้ง
     

การเคลื่อนไหว

  • เดินขึ้นลงบันได ขณะลืมตา 10 ครั้ง ขณะหลับตาอีก 10 ครั้ง
     
  • ใช้อุปกรณ์เสริม คือ ลูกบอลยาง โดยโยนลูกบอลยางจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง โยนให้สูงเหนือระดับตา ทำอย่างน้อย 10 ครั้ง

 

อาการเวียนหัว หรือบ้านหมุนเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย หากมีอาการที่รุนแรงควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรค และพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
 



เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI