ไฟลามทุ่ง เรื่องยุ่งๆที่ไม่ใช่แค่โรคผิวหนัง
ไฟลามทุ่ง เรื่องยุ่งๆที่ไม่ใช่แค่โรคผิวหนัง

ไฟลามทุ่ง (Erysipelas) คือโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง ในชั้นหนังแท้ (Dermis) หรือการอักเสบของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้น และในส่วนท่อน้ำเหลืองใกล้เคียงอื่นๆ ส่งผลให้ผิวหนังเกิดการลุกลามเป็นผื่น บวมแดง อาจเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงไปยังกล้ามเนื้อ หรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ และเชื้อนี้สามารถเข้าสู่กระแสเลือดเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ดังนั้นไฟลามทุ่ง ไม่ใช่แค่โรคผิวหนังธรรมดาทั่วไป

 

 

สาเหตุของโรคไฟลามทุ่ง

 

เมื่อผิวหนังเกิดการความผิดปกติ เช่น มีแผล บวม แดง เป็นผื่น ติดเชื้อรา หรือเป็นโรคสะเก็ดเงิน เชื้อแบคทีเรีย เบตา เฮโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A Beta-Hemolytic Streptococcus) หรือ สเตรปโตคอคคัส ไพโอจีนัส(Streptococcus pyogenes) ที่อยู่ในผิวหนังของคนเรา และไม่เป็นอันตรายใดๆ จะเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังที่มีความผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อข้าสู่ผิวหนังในชั้นหนังแท้ตามมา

 

นอกจากนี้ไฟลามทุ่งยังเกิดได้จากการติดเชื้อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ และปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น

 

  • การถูกแมลงสัตว์ กัด ต่อย

 

  • ติดเชื้อที่แผลจากการผ่าตัด

 

  • แผลของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

  • การฉีดสารเสพติดเข้าสู่ร่างกาย

 

 

อาการของโรคไฟลามทุ่ง

 

  • ผิวหนังบวม แดง อักเสบ และเกิดการลุกลามอย่างรวดเร็ว

 

  • มีผิวหนังลอกออกเป็นขุย

 

  • เมื่อสัมผัสผิวหนังที่ติดเชื้อจะมีอาการเจ็บ ปวด แสบร้อน และอาจมีเลือดไหล เป็นรอยจ้ำเขียว

 

  • มีตุ่มน้ำพองนูนขึ้นมา

 

อาการร่วมอื่นๆ เช่น

 

  • เป็นไข้สูง หนาวสั่น

 

  • ปวดศีรษะ

 

  • อ่อนเพลีย

 

  • เบื่ออาหาร

 

 

การวินิจฉัยโรคไฟลามทุ่ง

 

ปกติแล้วแพทย์สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยไฟลามทุ่งได้จากการสังเกตผิวหนัง แต่ก็ต้องใช้วิธีการตรวจอื่นๆ ในการหาเชื้อโรคเพิ่มเติม หรือแยกโรคที่มีอาการใกล้เคียงกับไฟลามทุ่ง เช่น งูสวัด ลมพิษ เพื่อที่จะทำการรักษาอย่างถูกต้อง ได้แก่

 

  • การตรวจของเหลวจากแผล ในห้องปฏิบัติการ

 

  • การตรวจสารเคมี และองค์ประกอบในเลือด

 

  • การใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-Scan)

 

  • การใช้เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

 

 

การรักษาโรคไฟลามทุ่ง

 

หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงแพทย์จะให้รักษาอาการแบบประคับประคอง แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือมีภาวะแทรกซ้อน จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

 

ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง

 

  • รับประทานยาแก้ปวด

 

  • รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน (Penicillin ), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), โคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แม้ว่าอาการจะบรรเทาลงแล้ว แต่ไม่ควรหยุดรับประทานยาตามแนะนำของแพทย์

 

  • การใช้ยาต้านเชื้อรา ในผู้ป่วยน้ำกัดเท้า

 

  • การประคบเย็นเมื่อมีอาการปวด

 

  • การจำการเคลื่อนไหวในส่วนที่มีอาการอักเสบ

 

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

 

  • การฉีดยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดดำ

 

  • การผ่าตัดนำเนื้อเยื่อตายออก ในผู้ป่วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

 

 

สมุนไพร และโรคไฟลามทุ่ง

 

ในการใช้สมุนไพรรักษา บรรเทาอาการโรคไฟลามทุ่งนั้น จะต้องปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน ซึ่งมีหลายชนิด ได้แก่

 

เสลดพังพอน

 

  • ใช้ใบสดๆ 5-10 ใบ นำมาขยี้ หรือตำ แล้วนำมาทาบริเวณผิวหนังที่เกิดโรค

 

ผักชี

 

  • ใช้ต้นสดหั่นเป็นฝอย ต้มรวมกับสุราให้เดือด นำมาใช้ทาบริเวณผิวหนังที่เกิดโรค

 

ใบบัวบก

 

  • นำมาตำ และทาบริเวณแผล เพื่อบรรเทาอาการบวมร้อน

 

พญาท้าวเอว

 

  • ใช้ลำต้นนำมาฝนกับน้ำปูนใส แล้วดื่ม

 

เจตมูลเพลิงขาว

 

  • ใช้ใบสดนำมาตำ แล้วใช้ผ้าขาวบางห่อ นำมาพอกผิวหนังที่เกิดโรค

 

ผักคราดหัวแหวน

 

  • ใช้ใบ และลำต้นนำมาตำ แล้วผสมกับสุรา ดื่มวันละ 1 ครั้ง

 

เขยตาย

 

  • นำใบสดนำมาขยี้ หรือบดผสมกับสุราขาว สามารถใช้น้ำมะนาวแทนได้

 

หลิว

 

  • นำกิ่งมาเผาให้เป็นขี้เถ้า ผสมกับน้ำสะอาด และทาบริเวณผิวหนังที่เกิดโรค

 

ชิงช้าชาลี

 

  • นำใบอ่อนมาผสมกับน้ำนม ทาบริเวณผิวหนังที่เกิดโรค

 

 

ไฟลามทุ่ง

 

 

โรคไฟลามทุ่งกับแพทย์แผนจีน

 

ในการแพทย์แผนจีนเชื่อว่าโรคไฟลามทุ่งเกิดจากไฟมากระทบกับระดับโลหิต ผิวหนังเกิดการอุดตัน เชื้อโรคจึงเข้าสู่ร่างกาย บรรเทาอาการโดยระบายความร้อน ให้โลหิตมีความเย็น เป็นการขับพิษออก

 

  • หากไฟลามทุ่งเกิดขึ้นที่บริเวณศีรษะ และใบหน้า เชื่อว่าเกิดจากลม ความร้อน พิษสะสม รักษาด้วยการกระจายลมลดไฟ

 

  • หากไฟลามทุ่งเกิดขึ้นที่บริเวณหน้าอก และช่องท้อง เชื่อว่าเกิดจากพิษสะสมในม้าม และตับ รักษาด้วยการระบายตับ และม้าม

 

  • หากไฟลามทุ่งเกิดขึ้นที่บริเวณช่วงขา เชื่อว่าเกิดจากความร้อน และความชื้นเป็นพิษสะสม รักษาด้วยการระบายความร้อน ขับชื้น

 

 

การป้องกันโรคไฟลามทุ่ง

 

  • ทาครีม โลชั่น หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เพื่อป้องกันผิวแห้ง แตก

 

  • ไม่ควรเกาผิวหนังอย่างรุนแรง เมื่อเกิดอาการคัน

 

  • เลือกรองเท้าที่สวมสบาย และไม่ควรเดินเท้าเปล่านอกบริเวณบ้าน เพราะอาจเกิดแผลในบริเวณนั้นได้

 

  • หากเกิดบาดแผล ควรรักษา และทำความสะอาดอย่างถูกวิธี

 

  • ผู้ป่วยโรคผิวหนัง และโรคเบาหวาน ควรรักษาให้หายขาด

 

  • เมื่อผิวหนังมีความผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยไว้เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

 

 

กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงเป็นโรคไฟลามทุ่ง มักจะเป็นเด็กเล็ก ที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายยังไม่แข็งแรง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน  หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ หรือผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต นอกจากนี้ผู้ที่กำลังทำการรักษาจากโรคมะเร็ง หรือได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ต้องได้รับยามีคุณสมบัติในการกดภูมิคุ้มกันในร่างกาย ปัจจัยนี้ก็สามารถเป็นโรคไฟลามทุ่งได้เช่นกัน