นอนน้อย นอนดึก แต่นอนนะ แน่ใจหรือว่าไม่เสี่ยงโรค
นอนน้อย นอนดึก แต่นอนนะ แน่ใจหรือว่าไม่เสี่ยงโรค

ระยะเวลาการนอนที่ดี และเหมาะสมต้องนอนให้ได้วันละ 8 ชั่วโมง แต่บางคนอาจโหมทำงานหนัก หรือติดโทรศัพท์ ติดเกมจนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนอนมากนัก และคิดว่าการนอนน้อย หรือนอนดึกไม่ใช่เรื่องใหญ่ โดยอาจไม่ทราบว่าการนอนหลับนั้นส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเราอย่างมาก ดังนั้นเรามาดูกันว่าความเสี่ยงที่เกิดจากการนอนน้อย นอนดึกนั้นมีอะไรบ้าง รวมถึงวิธีแก้ปัญหาการนอนดึกที่จะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือกิจวัตรประจำวันเพื่อให้เราสุขภาพที่ดีทั้งภายใน และภายนอก

 

แบบไหนถึงเรียกนอนน้อย (Lack of Sleep)

 

นอนน้อย คือ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยระยะเวลาการนอนที่เหมาะสมจะแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย ดังนี้

  • เด็กแรกเกิดควรนอน 20 ชั่วโมง
  • ขวบปีแรกควรนอน 12 ชั่วโมง
  • เด็กวัยประถมควรนอน 9-11 ชั่วโมง
  • อายุ 18-25 ปีควรนอน 7-9 ชั่วโมง
  • อายุ 26-64 ปี 7-9 ชั่วโมง
  • วัย 65 ปีขึ้นไป 7-8 ชั่วโมง
     

ความจริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องนอนหลับให้ครบ 8 ชั่วโมงเสมอไป เพราะการนอนเพียง 5-6 ชั่วโมงที่หลับลึก และไม่มีการสะดุ้งตื่นบ่อยสามารถทำให้รู้สึกสดชื่น และกระปรี้กระเปร่าได้ไม่น้อยไปกว่าการนอนครบ 8 ชั่วโมง

 

อาการนอนหลับไม่เพียงพอ

 

  • ตื่นนอนแล้วรู้สึกไม่สดชื่น อยากจะนอนต่ออีก
  • มีอาการง่วงในระหว่างวันอยู่เรื่อยๆ
  • สามารถหลับไปภายในเวลา 5 นาที เมื่อมีโอกาสได้นอน

 

ปัญหาเกี่ยวกับการนอน

 

การนอนน้อย นอนดึก หรือการนอนหลับไม่เพียงพออาจเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ช่วยให้ร่างกายควบคุมการนอน หรือตื่น ซึ่งมักจะมีปัญหา หรือได้รับผลกระทบมาจากสาเหตุอื่นๆ ดังนี้

  • สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น อยู่ในที่ที่มีแสงสว่างมากเกินไป หรือมีเสียงดังเกินไป
  • การเปลี่ยนแปลงตารางเวลานอน เช่น ผู้ที่ต้องทำงานเข้ากะ หรือต้องสลับกะอยู่ตลอดเวลา ร่างกายอาจปรับเวลาไม่ทันจึงทำให้ง่วงในช่วงที่ทำงานได้
  • เจ็ตแล็ก (Jet lag) เกิดขึ้นได้เมื่อต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีโซนเวลาไม่เท่ากันทำให้ร่างกายปรับไม่ทัน
  • ผลกระทบจากยาและแอลกอฮอล์ ยาบางชนิด หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน อาจมีผลให้ไม่รู้สึกง่วง จนนอนดึก

 

นอนดึก นอนไม่พอกับความดันต่ำ และสูง

 

การนอนหลับกับความดันโลหิตดูเหมือนจะไม่มีข้อเกี่ยวข้องกัน แต่ทั้งสองอย่างนั้นมีจุดที่เชื่อมโยงกัน คือ โดยปกติแล้วกลไกการทำงานของร่างกายในขณะที่นอนหลับสนิทจะมีผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง แต่การนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้ความดันสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ โดยจะพบว่าคนที่นอนน้อยจะมีความดันเลือดที่สูงมากผิดปกติ และมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจถึง 2 เท่า โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี

 

นอนน้อย

 

โรคที่มากับการนอนน้อย

 

  • โรคหัวใจ ร่างกายจะหลั่งสารโปรตีนออกมาในเวลาที่เราตื่น หากไม่ได้นอน ร่างกายจะผลิตโปรตีนออกมาซ้ำ ๆ จนโปรตีนเหล่านั้นจะเข้าไปเกาะที่หลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดอุดตันและเกิดเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในที่สุด
  • โรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วจะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะร่างกายจะผลิตสารกลูโคส และอินซูลินออกมาเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดื้ออินซูลินได้
  • โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ผู้ป่วยจะต้องใช้เวลาเกินกว่า 30 นาที ถึงจะสามารถหลับได้ หรืออาจมีอาการหลับๆ ตื่นๆ ทั้งคืน บางครั้งอาจสะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึก แล้วจะไม่สามารถหลับได้อีกเลย โดยจะมีอาการดังกล่าวเป็นเวลามากกว่า 1 เดือนขึ้นไป
  • โรคซึมเศร้า การนอนไม่หลับเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้เป็นอันดับแรกของโรคซึมเศร้า เพราะการนอนดึกจะส่งผลเสียต่ออารมณ์หลังตื่นนอน บางคนอาจมีอาการหงุดหงิด และมีอารมณ์แปรปรวนง่าย
  • โรคอ้วน การนอนน้อยจะกระตุ้นให้รู้สึกหิวอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูงขึ้น

 

หลับอย่างไรถึงจะเรียกว่าได้คุณภาพ

 

  • รู้สึกสดชื่นหลังจากตื่นนอน
  • หลับสนิท ไม่หลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งคืน
  • นอนหลับด้วยจิตใจที่ผ่อนคลาย ไม่มีความเครียด

 

วิธีแก้ปัญหาการนอนน้อย

 

  • เข้านอนให้เป็นเวลาสม่ำเสมอ
  • อาบน้ำชำระร่างกายให้สดชื่นก่อนเข้านอน และไม่ออกกำลังกายก่อนเข้านอน
  • รับแสงธรรมชาติให้เพียงพอระหว่างวัน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรืออาหารที่มีปริมาณไขมัน และน้ำตาลสูงก่อนนอน
  • ปรับเปลี่ยนบรรยากาศในห้องนอนให้เหมาะแก่การนอนหลับ เช่น เย็นสบาย มืดสลัว และเงียบสงบ
  • ไม่ควรนอนเวลากลางวัน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรนอนกลางวันไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง เพราะอาจจะทำให้กลางคืนนอนไม่หลับ

 

จะเห็นได้ว่าการนอนน้อย และนอนดึกนั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงควรหันมาใส่ใจเรื่องการนอนหลับพักผ่อนให้มากขึ้นเพื่อสุขภาพที่ดี และห่างไกลจากโรคร้าย