ไวรัสตับอักเสบ และตับแข็งความสัมพันธ์สู่มะเร็งตับ
ไวรัสตับอักเสบ และตับแข็งความสัมพันธ์สู่มะเร็งตับ

โรคตับที่สำคัญคงหนีไม่พ้นมะเร็งตับ ที่มีอันตรายถึงชีวิต และยังถือว่าเป็นภัยเงียบ เพราะแทบไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรก ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้ที่ดื่มเหล้านั่นไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงในการเป็นโรคดังกล่าวจะน้อยลงตามไปด้วย เนื่องจากโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ รวมถึงการเป็นโรคตับชนิดอื่น ๆ มาก่อนทั้งโรคตับแข็ง และไวรัสตับอักเสบบี

 

โรคตับที่คุณควรระวังมีอะไรบ้าง

 

โรคตับมีสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ การทานอาหารประเภทปิ้งย่าง เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือแม้แต่มาจากพันธุกรรม เป็นต้น ด้วยสาเหตุเหล่านี้อาจพูดได้ว่าโรคตับเป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูง และเป็นโรคที่อยู่รอบตัวเรา โดยโรคตับที่อันตราย และมีความสัมพันธ์กันที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว ได้แก่

 

  • โรคไวรัสตับอักเสบบี
  • โรคตับแข็ง
  • โรคมะเร็งตับ

 

1. โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)

 

เป็นโรคตับที่อันตรายแต่หลายคนอาจมองข้ามไป เนื่องจากยังไม่รู้ว่าโรคนี้เป็นโรคติดต่อ โดยผู้ที่เป็นพาหะมักจะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาทำให้สังเกตได้ยาก อีกทั้งโรคไวรัสตับอักเสบบียังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งตับอีกด้วย

 

กลุ่มเสี่ยงโรคไวรัสตับอักเสบบี

 

  • ผู้ที่สัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ หรืออยู่ในพื้นที่ของการระบาด
  • การไม่ป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • การใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ
  • การใช้เข็มฉีดยาซ้ำ

 

อาการของไวรัสตับอักเสบบี

 

  • ระยะเฉียบพลัน : ตัวเหลือง มีไข้อ่อนเพลีย อาเจียน ปวดท้องด้านขวา และมีอาการอ่อนเพลีย โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 4 เดือนหลังรับเชื้อ
  • ระยะเรื้อรัง :  ตับทำงานผิดปกติ อาจมีอาการอ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร

 

โรคไวรัสตับอักเสบสามารถรักษาให้หายได้ภายใต้คำแนะนำ และรับการดูแลจากแพทย์ เพื่อป้องกันภาวะที่อาจแทรกซ้อน และลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อไวรัสต่อผู้อื่น

 

การป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

 

  • ตรวจสุขภาพ และความสมบูรณ์ของตับ
  • ฉีดวัคซีนเพื่อรับการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่การระบาดของไวรัส
  • ไม่สัมผัส หรืออยู่ใกล้ผู้ป่วยที่มีเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น

 

2. โรคตับแข็ง (Liver Cirrhosis)

 

เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความเสียหายของตับจนเกิดเป็นแผลเป็นที่ร่างกายไม่สามารถรักษาให้หายเองได้ จนเกิดเนื้อเยื่อพังผืดแทรกขึ้นในเวลาต่อมา ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ เป็นสาเหตุให้ตับทำงานได้น้อยลงทั้งการผลิตโปรตีน และประสิทธิภาพการทำลายสารพิษ

 

กลุ่มเสี่ยงโรคตับแข็ง

 

หลายคนคงเข้าใจว่าต้องดื่มเหล้าเท่านั้นจึงจะส่งผลให้ตับแข็ง ซึ่งไม่ถูกต้องเนื่องจากโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้จะไม่ดื่มเหล้า ด้วยสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ปัญหาการทำงานของภูมิต้านทาน และสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

 

  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
  • ผู้ที่ร่างกายได้รับสารพิษ หรือการทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน
  • เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง
  • ความผิดปกติของภูมิต้านทานที่หันมาทำลายตับ
  • ผู้ที่ทานไขมันเยอะจนเกิดไขมันสะสมบริเวณตับมากจนเกินไป

 

อาการของโรคตับแข็ง

 

  • ตัวเหลืองตาเหลือง
  • อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน
  • เมื่อเป็นแผลเลือดจะออกง่าย เลือดจะแข็งตัวยากขึ้น
  • คันบริเวณผิวหนัง ขาและท้องบวมใหญ่

 

นอกจากนี้ยังมีอาการทางสมอง เช่น ไม่มีสมาธิ หรือขี้หลงขี้ลืม ซึ่งเกิดจากการสะสมของสารพิษในเลือด และยังมีอาการเลือดออกบริเวณกระเพาะอาหารส่วนบน หรืออาจพบที่หลอดอาหาร อาการนี้ถือว่ามีอันตรายสูงมากจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

 

การป้องกันโรคตับแข็ง

 

  • ตรวจการทำงานของตับเพื่อหาความผิดปกติ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
  • งดดื่มแอลกอฮอล์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • พยายามควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน

 

สำหรับการรักษาโรคตับแข็งสามารถทำได้หลายวิธี โดยหลักแล้วจะเป็นการเลิกละพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ และหันมาดูแลตนเองมากขึ้น เพื่อให้ตับไม่เสียหายมากกว่าเดิม และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

 

ตับแข็ง มะเร็งตับ ไวรัสตับอักเสบบี

 

3. โรคมะเร็งตับ (Liver Cancer)

 

ขึ้นชื่อว่ามะเร็งมักไม่แสดงอาการในช่วงแรก รวมถึงมะเร็งตับด้วยเช่นกัน กว่าอาการจะแสดงออกมาอาจอยู่ในระยะสุดท้ายที่ยากจะรักษา ถึงแม้ว่าเพศชายจะมีความเสี่ยงสูง แต่โรคนี้ยังคงอันตรายต่อเพศหญิงด้วยเช่นกัน

 

กลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งตับ

 

โรคนี้สามารถเกิดขึ้นจากตับเอง หรือการติดเชื้อมะเร็งมาจากอวัยวะอื่น นอกจากนี้โรคร้ายนี้ยังเกิดได้จากโรคตับแข็ง และโรคไวรัสตับอักเสบบีที่ได้กล่าวถึงไปแล้วได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงมะเร็งตับ มีดังนี้

 

  • ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์
  • การได้รับยา หรือสารเคมีที่ส่งผลต่อตับ
  • ผู้ที่มีเครือญาติเป็นโรคมะเร็งตับ
  • การเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ เบาหวาน หรือตับแข็ง

 

อาการของโรคมะเร็งตับ

 

มะเร็งตับมักไม่แสดงอาการในระยะแรก ดังนั้นจึงต้องสังเกตสัญญาณเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ประกอบกับตรวจคัดกรองมะเร็งตับเพื่อให้ทราบผลที่แน่นอน โดยอาการที่บ่งบอกได้ว่ามีความเสี่ยงมะเร็งตับ มีดังนี้

 

  • อ่อนเพลียเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และน้ำหนักลด
  • มีอาการตัวเหลือง และตาเหลือง
  • มีอาการท้องบวมโต และรู้สึกแน่นท้อง
  • คลำเจอก้อนบริเวณตับ
  • ปวดท้องด้านขวาบน อาจปวดขึ้นไปถึงไหล่

 

การรักษาโรคนี้จะรักษาตามอาการ ความรุนแรง และสภาพร่างกายของผู้ป่วยซึ่งสามารถรักษาได้หลายวิธีทั้งการผ่าตัด การทำเคมีบำบัด และการใช้รังสีรักษา หากตรวจพบอาการติดเชื้อไวรัสได้ไวจะยิ่งมีโอกาสรักษาได้มากขึ้นเช่นกัน

 

การป้องกันโรคมะเร็งตับ

 

  • การป้องกันตนเองจากโรคไวรัสตับอักเสบบี และมะเร็งตับด้วยการตรวจสุขภาพ และฉีดวัคซีน
  • การทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารประเภทปิ้งย่าง และแอลกอฮอล์
  • ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น และดูแลสุขอนามัยอยู่เสมอ ๆ
  • พยายามไม่ให้น้ำหนักเกินมาตรฐานเพื่อป้องกันไขมันสะสมที่ตับ

 

ไวรัสตับอักเสบ และตับแข็งประตูสู่มะเร็งตับ

 

จากที่เราได้รู้กันแล้วว่า ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากไวรัสตับอักเสบจะทำให้ก่อเกิดโรคตับแข็ง และตับแข็งยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งตับที่อันตรายอีกด้วย ดังนั้นการป้องกันโรคตับแข็ง และไวรัสตับอักเสบไว้จึงเป็นหนทางสำคัญในการหนีห่างมะเร็งตับ ทั้งการรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี การตรวจการทำงานของตับ และตรวจมะเร็งตับ ล้วนแต่เป็นวิธีที่เราควรปฏิบัติทั้งสิ้น

 

หากเราละเลยการตรวจสุขภาพ เราอาจรู้ตัวในช่วงระยะสุดท้ายของมะเร็งตับ ซึ่งมีโอกาสรักษาได้ยาก ดังนั้นการดูแลร่างกาย และเตรียมพร้อมการป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเสมอ

 

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

โปรแกรมตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ และคัดกรองโรคตับ

 

 

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ