ทำไมถึงต้องปวดท้องเวลามีประจำเดือน
ทำไมถึงต้องปวดท้องเวลามีประจำเดือน

ประจำเดือนกับผู้หญิงเป็นของคู่กัน และสิ่งที่เปรียบเสมือนฝันร้ายที่ตามมาของการมีประจำเดือนสำหรับผู้หญิงคือ อาการปวดท้องประจำเดือน บางคนอาจมีอาการปวดถึงขั้นต้องหยุดงาน หรือหยุดเรียน หรือปวดถึงขนาดที่ไม่สามารถนอนหลับได้ ยิ่งใครที่ปวดหนัก ปวดบ่อยทุกเดือนอาจสร้างปัญหาให้กับการใช้ชีวิตได้ไม่น้อย เป็นประจำเดือนว่าลำบากแล้ว หากยิ่งมีอาการปวดท้องยิ่งลำบากกว่า ดังนั้นเรามาดูสาเหตุของการปวดประจำเดือน และวิธีบรรเทาอาการปวดด้วยตนเองกัน

 

อาการปวดท้องประจำเดือนที่พบได้บ่อย

 

ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดท้องประจำเดือน หรือปวดท้องเมน (Period pain) มักจะเกิดก่อนที่ประจำเดือนจะมาประมาณ 1-2 วัน หรือจะปวดขณะที่มีประจำเดือน โดยอาการปวดของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนจะมีอาการปวดแบบปวดบิด ๆ หรือปวดเป็นพัก ๆ บริเวณท้องน้อย บางคนอาจมีอาการปวดร้าวไปถึงหลัง และบริเวณต้นขา นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการอื่น ๆ ได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ถ่ายเหลว เป็นต้น

 

ปวดประจำเดือน

 

สาเหตุของอาการปวดท้องประจำเดือน

 

ปวดท้องประจำเดือนเกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกเพื่อให้ร่างกายขับเนื้อเยื่อภายในมดลูกออกมาเป็นประจำเดือน แต่บางครั้งอาจมีการบีบตัวของกล้ามเนื้อที่รุนแรงมากกว่าปกติจนอาจไปกดทับหลอดเลือดบริเวณใกล้เคียงจนทำให้ออกซิเจนไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงได้จึงทำให้เกิดอาการปวดเกร็ง และในช่วงที่มีประจำเดือนร่างกายจะมีการผลิตสารที่ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ที่เป็นสารที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดการบีบตัวมากขึ้นด้วย
 

นอกจากนี้อาการปวดประจำเดือนยังอาจเกิดขึ้นจากปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น
 

  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะนี้จะทำให้ปวดท้องมาก โดยจะมีอาการติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ด้วย

  • ถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) เป็นความผิดปกติของระดับฮอร์โมนทำให้เกิดถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ผู้ป่วยจะมีประจำเดือนที่ผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานานกว่าปกติ เป็นต้น
     
  • เนื้องอกมดลูก เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อของมดลูก ซึ่งมักจะพบได้บ่อยในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป โดยเนื้องอกที่ว่านี้จะมีขนาดเล็กมากไปจนถึงมีขนาดใหญ่เท่าลูกแตงโม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ หรือทำให้มีลูกยากได้ อาการที่แสดงออกมาในบางรายอาจปวดท้องเมนอย่างรุนแรง หรือประจำเดือนมามาก และมาเป็นเวลานานผิดปกติ
     
  • อุ้งเชิงกรานอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ โดยอาการหลักจะเป็นการปวดที่อุ้งเชิงกราน และยังส่งผลให้ผู้ป่วยปวดประจำเดือน ตกขาวมีกลิ่นเหม็นคาวด้วย
     
  • ปากมดลูกตีบ ทำให้ขัดขวางการไหลของเลือดประจำเดือน และเกิดแรงดันภายในมดลูกมาก ก่อให้เกิดอาการปวดประจำเดือน และประจำเดือนมาไม่ปกติ

 

ปวดประจำเดือนแบบไหนที่ต้องเข้าพบแพทย์

 

อาการปวดประจำเดือนสำหรับผู้หญิงอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งการปวดประจำเดือนอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่ต้องได้รับการรักษา โดยอาการที่ควรเข้าพบแพทย์มีดังนี้
 

  • รับประทานยาแล้วแต่ยังไม่หายปวด
  • อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกเดือน
  • อายุ 25 ปีขึ้นไป และรู้สึกปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก
  • ปวดประจำเดือนพร้อมกับมีไข้
  • ประจำเดือนมามากกว่าปกติ โดยต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
  • รู้สึกปวดท้องน้อยแม้ไม่มีประจำเดือน
  • ตกขาวมีกลิ่น รู้สึกคันบริเวณปากช่องคลอด เลือดประจำเดือนมีสีแปลกไปจากปกติ
  • มีปัญหาด้านการมีบุตร

 

วิธีบรรเทาอาการปวดประจำเดือนแบบไม่ต้องกินยา

 

  • ออกกำลังกาย ผู้หญิงทุกคนสามารถออกกำลังกายได้ขณะมีประจำเดือน เช่น การเดินเร็ว หรือ เล่นโยคะในท่าง่ายๆ ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ดี
     
  • ประคบร้อน โดยความร้อนจะมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อรู้สึกผ่อนคลาย ทำให้อาการปวดประจำเดือนลดลง รวมไปถึงการจิบเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น น้ำผึ้งผสมมะนาว หรือน้ำขิง จะช่วยปรับให้ภายในร่างกายอุ่นขึ้นด้วย
     
  • เน้นทานแมกนีเซียม เพราะมีส่วนช่วยในเรื่องลดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง โดยอาหารที่เหมาะสำหรับช่วงมีประจำเดือน เช่น ผักโขม ตำลึง หรือกล้วย เป็นต้น
     
  • นวดบริเวณท้องน้อย เป็นวิธีที่ช่วยกล้ามเนื้อบริเวณท้องให้ผ่อนคลายลง สามารถทำได้โดยการนวดวนเป็นวงกลมบริเวณท้องน้อย

 

การหมั่นสังเกตตนเองในทุกเดือนสำหรับผู้หญิงจึงเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะหากพบความผิดปกติจะได้เข้าพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยพร้อมรับคำแนะนำในการปฏิบัติตนต่อไป