กรวยไตอักเสบ
กรวยไตอักเสบ

กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) เป็นโรคระบบทางเดินปัสสาวะ ที่อาจจะเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบโรคนี้ได้จากผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย กรวยไตอักเสบอาจจะเป็นโรคแทรกซ้อนของโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หากปล่อยอาการไว้จะทำให้เป็นโรคไตวายเรื้อรังได้

 

 

กรวยไตอักเสบ คืออะไร

 

กรวยไตอักเสบ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียในกรวยไต โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียอีโคไลเป็นเชื้อที่พบบ่อย โดยแบ่งได้เป็นสองชนิด คือกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pyelonephritis) และ กรวยไตอักเสบเรื้อรัง (Chronic Pyelonephritis) กรวยไตจะมีลักษณะเป็นโพรง ต่อกับท่อไต มีหน้าที่รองรับน้ำปัสสาวะ ที่กรองจากเซลล์ไต ส่งไปสู่ท่อไต

 

 

กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน และ กรวยไตอักเสบเรื้อรัง

 

  • กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pyelonephritis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบบริเวณกรวยไต เชื้อที่พบได้บ่อย เช่น อีโคไล (Escherichia Coli) สูโดโมแนส (Pseudomonas) และ เคล็บซิลลา (Klebsiella) เป็นต้น กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน จะแสดงอาการชัดเจน และรุนแรง รักษาหายภายใน2-3 สัปดาห์ มักจะพบผู้ป่วยเป็นผู้หญิงในวัยเด็ก และวัยเจริญพันธุ์มากกว่าผู้ชาย

 

  • กรวยไตอักเสบเรื้อรัง Chronic Pyelonephritis เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณกรวยไต จาากการอุดกั้นหรือความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ ไม่แสดงอาการ นอกจากการตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย และเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ ผู้ป่วยมักจะมีการอักเสบของกรวยไตเป็นระยะเวลานาน ทำให้เซลล์ของไตถูกทำลาย เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง ในที่สุด

 

 

อาการกรวยไตอักเสบ

 

  •  ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย มีอาการปวดท้อง ปวดบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่ง

 

  •  ปัสสาวะขุ่น อาจจะข้นเป็นหนอง หรือเป็นเลือด ปัสสาวะแล้วแสบขัด ออกกะปริดกะปรอย

 

 

การรักษาโรคกรวยไตอักเสบ

 

  •  การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยาไซโพรฟล็อกซาซินครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง  ซัลฟาเมท็อกซาโซล วันละ 2 ครั้ง ทุกๆ 12 ชั่วโมง เป็นต้น

 

  •  ฉีดยาปฏิชีวนะเจนตามัยซิน (Gentamicin) เข้าทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง ในปริมาณครั้งละ 40-80 มิลลิกรัม ทุกๆ 8-12 ชั่วโมง หากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง ร่วมกับการให้น้ำเกลือ และยาแก้ปวดลดไข้  แพทย์จะตรวจปัสสาวะ และเลือด ติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง

 

 

กรวยไตอักเสบ

 

 

การป้องกันกรวยไตอักเสบ

 

  •  หลีกเลี่ยงการอั้นปัสสาวะ

 

  •  ในแต่ละวันควรดื่มน้ำ 8-10 แก้ว ขึ้นไป เพื่อขับของเสียของร่างกายออกจากทางปัสสาวะ

 

  •  หลังทำการอุจจาระควรทำความสะอาดด้านหน้า ก่อนทำความสะอาดทวารหนัก เพื่อไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะ

 

  •  ทำความสะอาดอวัยวะเพศ และปัสสาวะทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์

 

  •  หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะขัด สีปัสสาวะขุ่น ควรมาพบแพทย์โดยทันที

 

 

เมื่อรักษาหายแล้วแพทย์จะทำการนัดตรวจปัสสาวะ ทุกๆ 3-4 เดือน เพื่อให้เป็นการแน่ชัดว่าจะไม่เกิดกรวยไตอักเสบเรื้อรัง เพราะถ้าหากเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ ภาวะแทรกซ้อน เช่นภาวะไตวาย และภาวะโลหิตเป็นพิษ ภาวะแทรกซ้อนนี้ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ สิ่งที่ป้องกันกรวยไตอักเสบเรื้อรัง คือการมาตามนัดหมายของแพทย์ทุกครั้ง



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

โปรแกรมตรวจคัดกรองโรคไต