Sexual Harassment คืออะไร
Sexual Harassment คืออะไร

ในปัจจุบันปัญหา Sexual Harassment หรือการคุกคามทางเพศมักมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นภายในโรงเรียน หรือสถานประกอบการที่ผู้มีอำนาจมักจะใช้ช่องว่างนี้เอาเปรียบผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา อีกทั้งสังคมไทยยังไม่เข้าใจ และมองว่าการคุกคามทางเพศไม่ใช่ปัญหาจึงคิดว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อเกิดเหตุขึ้นอาจแก้ไขปัญหาด้วยการพูดคุยเจรจาไกล่เกลี่ย แต่การคุกคามทางเพศอาจนำไปสู่ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศได้ ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจ Sexual Harassment และเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าหมายของการคุกคามทางเพศ

 

Sexual Harassment คืออะไร

 

Sexual Harassment คือ การกระทำที่มีเจตนาไม่ดีต่อเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกันเพื่อผลประโยชน์ในการร่วมรัก โดยไม่ได้รับการยินยอมจากอีกฝ่าย ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบของหลายประการ ดังนี้
 

  • การแสดงออกทางวาจา (Verbal  Conduct) เช่น พูดจาล่วงเกิน พูดเกี่ยวกับเรื่องเพศ เล่าเรื่องตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ พูดถึงสัดส่วนของร่างกาย หรือพูดเล่นคำที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เป็นต้น
     
  • กิริยาท่าทาง หรือการแทะโลมทางสายตา (Visual Conduct) เช่น การจ้องมองส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นต้น
     
  • การสัมผัสทางร่างกาย (Physical Conduct) เช่น พยายามใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น แตะเนื้อต้องตัว โอบกอด โอบไหล่ เป็นต้น
     
  • การส่งข้อความในเชิงอนาจาร (Written Conduct) เช่น เขียนจดหมาย หรือพิมพ์ข้อความในเชิงส่อไปทางเพศ รวมไปถึงการส่งรูปภาพร่างกาย หรืออวัยวะเพศให้แก่ผู้อื่น

 

Sexual Harassment ตราบาปที่เหยื่อไม่ได้ก่อ

 

ไม่ว่าจะเพศชาย หรือเพศหญิงอาจตกเป็นเหยื่อของ Sexual Harassment ได้ทั้งนั้น และสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมากในยุคดิจิทัลที่ใคร ๆ สามารถเข้าถึงได้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นคนที่ถูกกระทำมักจะไม่ค่อยออกมาบอก หรือแจ้งความเอาผิดผู้กระทำ เพราะสังคมไทยจะมีความเชื่อ และมีวิธีคิดที่ประหลาด คือจะมีการคิดว่าผู้เสียหายเป็นฝ่ายผิด โยนความผิดให้ผู้ถูกกระทำว่าเป็นคนไม่ดี หรือกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming) อย่างในกรณีถูกข่มขืน จะมีการตั้งคำถามว่า “แต่งตัวแบบไหนถึงโดนข่มขืน” “ทำไมถึงเอาตัวเองเข้าไปในที่เสี่ยง” “ทำไมถึงไม่ระวังตัวเอง” คำถามจากสังคมเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าออกมาเรียกร้อง เพราะรู้ว่าถ้าออกมาแล้วจะถูกตั้งคำถาม ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกมีบาปติดตัว โทษตัวเอง และเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา

Sexual Harassment จึงไม่ใช่ตราบาป ผู้ที่ถูกกระทำไม่ควรเรียกตัวเองว่า “เหยื่อ” แต่ควรออกมาพูด ออกมาเผชิญหน้าเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด และยังเป็นส่วนช่วยสังคมไม่ให้ผู้กระทำผิดก่อเหตุกับคนอื่นได้อีกด้วย

 

Sexual Harassment

 

การป้องกันตนเองไม่ให้โดน Sexual Harassment

 

  • ไม่เพิกเฉย ผู้ถูกกระทำไม่ควรเพิกเฉย เพราะการเพิกเฉยไม่ได้ช่วยให้การคุกคามทางเพศหยุดลง ต้องแสดงออกถึงความไม่พอใจ รู้จักพูดปฏิเสธเมื่อถูกคุกคาม
     
  • ร้องเรียน หรือพูดคุยกับผู้มีอำนาจในโรงเรียน หรือในองค์กร เช่น คุณครู ตำรวจ เจ้านาย เป็นต้น
     
  • ให้ความช่วยเหลือ หากอยู่ในสถานการณ์ หรือพบเห็นผู้ถูกกระทำไม่ควรเพิกเฉย โดยอาจใช้วิธีห้าม หรือขอร้องให้หยุดการกระทำนั้น เพราะการพบเห็นเหตุการณ์แต่เพิกเฉยเท่ากับว่าเราเป็นส่วนร่วมในการกระทำนั้นด้วย

 

สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อถูกคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment)

 

  • แสดงออก ผู้ถูกกระทำต้องแสดงออกทันทีว่าไม่พอใจ หรือถอยห่างจากบุคคลนั้น
     
  • ส่งเสียงร้อง เรียกให้ผู้อื่นช่วย เพื่อให้ผู้กระทำหยุดการกระทำ
     
  • บันทึกหลักฐาน หากตกอยู่ในสถานการณ์ถูกคุมคามทางเพศ ควรตั้งสติแล้วกดบันทึกเสียง บันทึกภาพ วิดีโอ (หากทำได้) หรือบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องเป็นลายลักษณ์อักษรทันที โดยจดบันทึกวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุ คำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใส่ชื่อของผู้กระทำ พยานที่สาม หรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์
     
  • แจ้งปัญหา ผู้ถูกกระทำควรรีบเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้บุคคลที่ไว้ใจทราบทันที และแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น กับผู้บังคับบัญชา บุคคล หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วยตนเอง หรืออาจให้เพื่อนมาแจ้งแทน ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถูกกระทำด้วย

 

ปัญหา Sexual Harassment ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และไม่ใช่ปัญหาไกลตัว หากคนในสังคมไม่เปลี่ยนความคิด หรือไม่ปลูกฝังให้คนมีจิตสำนึก และให้เกียรติทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาเหล่านี้จะยังคงเกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา และอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้