การนอนกรน (Snoring) เป็นอาการสำคัญของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งมีสาเหตุมาจากอวัยวะในระบบหายใจส่วนต้นบางส่วนแคบลง ผู้ป่วยสามารถตรวจความรุนแรงได้ผ่านการทำ Sleep Test เพื่อหาระดับความเสี่ยงที่เป็นอันตราย หากพบว่ามีอาการที่ไม่รุนแรง สามารถปรับพฤติกรรมการนอนเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นได้
เกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย และผนังลำคอขณะหลับ ทำให้เกิดการอุดกั้นระบบทางเดินหายใจในบางจุด จนเกิดการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เพดานอ่อน ผนังคอหอย โคนลิ้น รวมไปถึงลิ้นไก่ เมื่อระบบทางเดินหายใจแคบลง จึงทำให้เกิดเสียงกลายเป็นการนอนกรนในที่สุด นอกจากนี้ยังมีผลกระทบรุนแรงต่อการหายใจทำให้ไม่สามารถหายใจได้ชั่วขณะหนึ่ง หรือเรียกว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การกรนธรรมดา
คือ อาการที่เกิดจากการตีบแคบของบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ผู้ป่วยอาจพบภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ แต่จะไม่ถึงเกณฑ์ที่แพทย์วินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การกรนระดับอันตราย
เป็นอาการนอนกรนที่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดของการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยมีสาเหตุมาจากบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนเกิดการตีบแคบมากขึ้น ส่งผลให้มีการหยุดหายใจชั่วขณะ และอากาศสามารถผ่านได้น้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการกรนที่เสียงดัง แล้วจะเงียบไปสักพักหนึ่ง บางรายอาจสะดุ้งตื่นแล้วมีอาการหายใจเฮือกขึ้นมา
อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่มีอาการนอนกรน อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านั้น ได้แก่
พบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
เพศหญิงวัยหมดประจำเดือนและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์
ผู้ที่มีรูปหน้าเบี้ยว คางผิดปกติ จมูกคด หรือโครงสร้างของช่องจมูกแคบ
น้ำหนักเกินมาตรฐาน มีผลทำให้ทางเดินหายใจแคบจนเกิดอาการนอนกรนได้
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคภูมิแพ้
การทานยาที่ส่งผลต่อการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อ
ผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
ขณะหลับมีเสียงกรนที่ดังมาก จนรบกวนผู้อื่นที่นอนร่วมเตียงด้วย
มีอาการปวดศีรษะตอนเช้า, นอนไม่เต็มอิ่ม, ตื่นบ่อยและรู้สึกไม่สดชื่น
ระหว่างวันจะง่วงนอนมากผิดปกติ, หงุดหงิด, อารมณ์ไม่ดี
ผู้ร่วมเตียงสามารถสังเกตเห็นถึงการหายใจที่ไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีเสียงกรนแต่จะหยุดเป็นช่วง บางทีอาจจะสะดุ้งเฮือกเนื่องจากหยุดหายใจชั่วขณะ
หากเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับที่รุนแรง จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ผ่านทางโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหัวใจวาย เป็นต้น หรือถ้าหากผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว อาจจะยิ่งเพิ่มโอกาสเสียชีวิตขณะหลับได้
แพทย์จะทำการซักถามประวัติอาการ ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยอวัยวะอื่น ๆ ผ่านการเอกซเรย์ เช่น กะโหลก กระดูกใบหน้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถวินิจฉัยอาการนอนกรนได้จากการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) หรือที่เรารู้จักกันดีว่า Sleep Test หากพบว่าอาการดังกล่าวไม่ได้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับระดับรุนแรงร่วมด้วย ยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วงมาก แต่ถ้าหากพบว่ามีความเสี่ยงในระดับที่อันตรายต้องหาแนวทางในการรักษาโดยเร็วที่สุด
หากพบว่าอาการนอนกรนไม่ได้อยู่ในระดับที่อันตราย ผู้ป่วยสามารถแก้ไขอาการเบื้องต้นได้ ดังนี้
ปรับเปลี่ยนท่านอนให้ศีรษะอยู่สูงกว่าลำตัว
รักษาน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐาน
งดการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ปรับพฤติกรรมการนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
หลีกเลี่ยงการใช้หรือรับประทานยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน
ผู้ป่วยควรทำความสะอาดศีรษะก่อนเข้ารับการตรวจ
ไม่ควรใส่น้ำมันหรือครีมที่ผม เพราะแพทย์จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่หนังศีรษะบริเวณที่ไม่มีไขมัน เพื่อให้สัญญาณกราฟชัดเจนมากที่สุด และสามารถอ่านระดับได้ถูกต้อง แม่นยำ
ห้ามทาแป้งและครีม ที่บริเวณใบหน้า ขา หรือคอ
หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้ารับการตรวจ
ห้ามรับประทานยานอนหลับหรือยาถ่าย เพราะยาถ่ายจะทำให้การตรวจไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนยานอนหลับอาจส่งผลให้การนอนหลับไม่เป็นไปตามปกติ
อาการนอนกรน หลายท่านอาจมองว่าเป็นปัญหาสุขภาพเพียงเล็กน้อย แต่ความจริงแล้วกลับแฝงไปด้วยอันตรายที่เราไม่ควรไว้วางใจ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรละเลย และถ้าหากพบว่าตนเองมีอาการนอนกรน ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหารุนแรงที่อาจตามมาหากผู้ป่วยปล่อยปละละเลย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เช็กความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ