ธาลัสซีเมีย ความผิดปกติของยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
ธาลัสซีเมีย ความผิดปกติของยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) คือโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของยีน (Gene) ทำให้กระบวนการสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเม็ดเลือดแดงมีความผิดปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง (Anemia) เรื้อรังตั้งแต่กำเนิดไปจนตลอดชีวิต ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem cells)

 

 

ประเภทของโรคธาลัสซีเมีย

 

อัลฟ่าธาลัสซีเมีย (Alpha-Thalassemia)  ได้แก่

      

  • อัลฟ่า-ธาลัสซีเมีย 1 (α-thalassemia 1),

      

  • อัลฟ่า-ธาลัสซีเมีย 2 (α-thalassemia 2),

      

  • ฮีโมโกลบินคอนสแตนท์สปริง (Hb Constant Spring)

 

จะมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย จนถึงขั้นเสียชีวิตในครรภ์

 

เบต้าธาลัสซีเมีย (Beta-Thalassemia) ได้แก่

      

  • เบต้า-ธาลัสซีเมีย (β-thalassemia)

      

  • โมโกลบินอี (Hb E)

 

มักจะมีอาการซีด และตัวเหลือง ในบางรายมีภาวะโลหิตจางมากต้องให้เลือดในการรักษา

 

 

สาเหตุของโรคธาลัสซีเมีย

 

โรคธาลัสซีเมียสามารถถ่ายทอดได้จากพันธุกรรม บิดา และมารดาที่มียีนธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นยีนเด่นทั้งคู่ บุตรที่เกิดมาจะเป็นโรคธาลัสซีเมีย

 

บิดา หรือมารดา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มียีนธาลัสซีเมียเป็นยีนเด่น บุตรที่เกิดมาจะเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย

 

บิดา หรือมารดา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย บุตรที่เกิดมาจะมีความเสี่ยงในการเป็นของโรคพาหะธาลัสซีเมีย

 

 

อาการของโรคธาลัสซีเมีย

 

อาการของโรคธาลัสซีเมียชนิดที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ได้แก่

      

  • เด็กจะมีอาการซีด อาจต้องได้รับการให้เลือดเป็นบางครั้ง

      

  • เหนื่อยง่าย

 

อาการของโรคธาลัสซีเมียชนิดที่มีความรุนแรง ได้แก่

      

  • ผิวซีด หรือผิวเหลืองคล้ายเป็นดีซ่าน

      

  • อ่อนเพลีย

      

  • ท้องโตจากการที่ตับ และม้ามโต

      

  • กระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น จมูกแบน โหนกแก้มสูง คาง และกระดูกขากรรไกรใหญ่ผิดปกติ

      

  • แคระแกร็น

      

  • หายใจลำบาก

 

อาการของโรคธาลัสซีเมียชนิดที่มีความรุนแรงสูง ได้แก่

      

  • เด็กทารกจะมีบวมน้ำ ซีดมาก ท้องโตจากการที่ตับ และม้ามโต หัวใจวาย อาจเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอดออกมาได้ไม่นาน

 

 

การตรวจหาพาหะของโรคธาลัสซีเมีย

      

  • การตรวจคัดกรอง เป็นการตรวจภาวะที่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย แต่ไม่สามารถแยกชนิดของพาหะโรคธาลัสซีเมีย แปลผลตรวตง่าย ขั้นตอนในห้องปฏิบัติการน้อย ราคาถูก

      

  • การตรวจฮีโมโกลบิน เป็นการตรวจหาชนิดของฮีโมโกลบิน สามารถแยกชนิดของพาหะโรคธาลัสซีเมีย

      

  • การตรวจดีเอ็นเอ เป็นการตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ มีความแม่นยำสูง และมีค่าใช้จ่ายสูง

 

 

 การรักษาโรคธาลัสซีเมีย

 

การให้เลือด (Blood Transfusions)

      

  • หากผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียมีอาการซีดเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาโดยการให้เลือด

      

  • แพทย์จะพิจารณาการให้เลือดในสำหรับผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดที่มีความรุนแรงปานกลาง ในบางครั้ง

      

  • แพทย์จะพิจารณาการให้เลือดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดที่มีความรุนแรง

 

การให้ยาขับธาตุเหล็ก (Chelation Therapy)

      

  • ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจะมีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้ยาในการขจัดธาตุเหล็กออกจากร่างกาย เพื่อป้องกันผลเสียต่อร่างกาย แพทย์จะใช้ยาฉีดชื่อดีเฟอร็อกซามีน (Deferoxamine) หรือเดสเฟอราล (Desferal) ฉีดเข้าทางผิวหนัง หรือทางหลอดเลือดดำ อีกทั้งยาขับธาตุเหล็กมีทั้งแบบรับประทาน และแบบฉีด

 

การผ่าตัดม้าม

      

  • แพทย์จะทำการผ่าตัดม้ามให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่มีอาการม้ามโตมาก ซีดมาก และต้องการเลือดถี่ขึ้น การผ่าตัดม้ามนี้จะทำในผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียอายุ 5 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัด

      

  • แพทย์พิจารณาการให้วัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อฮีโมฟิลุส สำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียบางราย ก่อนการผ่าตัดม้าม

 

การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem cells)

      

  • เป็นวิธีเดียวที่จะรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาด สามารถใช้เลือดจากสายสะดือมาเป็นแหล่งเซลล์ต้นกำเนิดได้ และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

 

 

Thalassemia

 

 

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย

      

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น เลือดสัตว์ ตับ ผักโขม

      

  • งดยา งดวิตามินที่เสริมธาตุเหล็ก และวิตามินซี

      

  • งดดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกสูบบุหรี่

      

  • ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีน

      

  • ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโฟลิก (Folic) เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยเฉพาะผักใบเขียว และผลไม้รสเปรี้ยว เช่น คะน้า อะโวคาโด และมะนาว เป็นต้น

      

  • ควรออกกำลังกายแบบเบาเป็นประจำ แต่ไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงหนัก

      

  • ควรรักษาความสะอาด และอยู่ในที่อากาศโปร่ง ไม่แออัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

      

  • หากมีอาการผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที

 

 

อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคธาลัสซีเมียมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ดังนั้นผู้ที่วางแผนการมีบุตร ต้องการสร้างครอบครัว ควรมาตรวจคัดกรองหาพาหะธาลัสซีเมีย เพราะแม้ว่าในร่างกายจะมีพาหะของโรคธาลัสซีเมียก็สามารถมีบุตรได้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาว่าพาหะของโรคธาลัสซีเมีย เป็นพาหะชนิดใด มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เพื่อป้องกันบุตรที่เกิดมาเป็นโรคธาลัสซีเมีย

 

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ชาย-หญิง