Theory of love จิตวิทยาของความรัก
Theory of love จิตวิทยาของความรัก

ความรัก เป็นพื้นฐานของทุกชีวิต ทุกคนเกิดมาย่อมได้สัมผัสกับความรัก โดยมีความรักเป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ทั้งความรักของพ่อแม่ ความรักของญาติพี่น้อง ความรักของเพื่อน และความรักของคนรัก แม้กระทั่งทารกที่อยู่ในครรภ์หากได้รับการดูแล ได้รับความรัก และความเอาใจใส่จากผู้เป็นแม่จะส่งผลให้ทารกมีพัฒนาการ และการเจริญเติบโตที่ดี ความรักไม่ใช่แค่อารมณ์ความรู้สึก แต่ยังเกี่ยวข้องไปถึงสารเคมีในสมอง ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจความรัก และรู้จักรักให้เป็นจะทำให้เรามีความสุขทุกความสัมพันธ์

 

ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangular Theory of Love)

 

โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเยล ได้อธิบายองค์ประกอบของความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดความรักไว้ 3 ประการ ดังนี้
 

  • ความสนิทสนม (Intimacy) เป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์ที่ทำให้คนรู้สึกผูกพันกัน เกิดความเข้าใจ เกิดความเอื้ออาทรกัน โดยความรู้สึกนี้จะค่อย ๆ เกิดขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเป็นเวลานาน ซึ่งองค์ประกอบนี้เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของทุกความสัมพันธ์
     
  • ความใคร่หลง (Passion) หรือความเสน่หาเป็นแรงขับภายใน เรียกว่า แรงดึงดูดทางเพศ
     
  • ความผูกพัน (Commitment) เป็นการตัดสินใจ หรือเป็นองค์ประกอบในด้านความคิดที่มีการผูกมัด หรือมีการทำสัญญาต่อกันว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันในระยะยาว และผันแปรไปตามระยะเวลา โดยแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา

 

ความรักกับสารเคมีในสมอง

 

นอกจากองค์ประกอบของความรัก อารมณ์ความรู้สึกแล้ว ความรักยังเกิดจากสารเคมีในสมอง โดยสามารถแบ่งออกได้ 3 ประการดังนี้

  • ความใคร่ คนเรามักถูกสัญชาตญาณ หรือแรงขับภายในดึงดูดซึ่งกันและกันเสมอ โดยมีฮอร์โมนทางเพศเป็นตัวขับเคลื่อน ในผู้ชายจะมีฮอร์โมนเพศชาย คือ เทสโทสเตอโรนที่มาจากการผลิตของอัณฑะ และในผู้หญิงจะมีฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจนที่มาจากการผลิตของรังไข่ ซึ่งทั้งสองมีศูนย์กลางการควบคุมอยู่ในสมองส่วนไฮโปทาลามัส
     
  • ความหลงใหล หรือการตกหลุมรัก อาการตกหลุมรักมักทำให้คน ๆ หนึ่งตกอยู่ในภวังค์แห่งความรัก และอาจทำอะไรโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งการทำงานของสมองจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มสารเคมีที่ชื่อว่า “โมโนเอมีน” ได้แก่
     
    • โดปามีน (Dopamine) เป็นสารแห่งความสุขที่จะหลั่งออกมาหลังรู้สึกพึงพอใจ
       
    • อีพิเนฟริน (Epinehrine) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ อะดรีนาลีน จะกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกตื่นเต้น เขินอายเวลาเจอคนที่ชอบ
       
    • เซโรโทนิน (Serotonin) จะส่งผลต่อการแสดงออก เมื่อสมองหลั่งสารชนิดนี้ออกมาเราจะเกิดพฤติกรรมบางอย่างโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น การเผลอยิ้ม เป็นต้น
       
  • ความผูกพัน เป็นความสัมพันธ์ในระยะยาว โดยถูกกระตุ้นจากฮอร์โมน 2 ชนิดคือ
     
    • ออกซิโตซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนด้านความสัมพันธ์ หากคู่รัก หรือคนในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันบ่อย ๆ จะทำให้สมองหลั่งสารชนิดนี้ออกมามาก
       
    • วาโสเปรสซิน (Vasopressin) เป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทต่อคู่รัก ทำให้เกิดความรู้สึกอยากใช้ชีวิตร่วมกัน

 

ความรักกับสมอง

 

Sex กับความรัก

 

เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า Sex คือแรงขับพื้นฐานของมนุษย์เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ เมื่อเรามีความใคร่ ความหลงย่อมพัฒนาไปสู่การ make love แต่บางครั้ง sex อาจไม่ต้องมาพร้อมกับความรักเสมอไป ดังนั้นจึงเกิดความสัมพันธ์รูปแบบอื่นขึ้นมาที่นอกเหนือจากคนรัก เช่น One Night Stand หรือ Friend with Benefits ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ต้องการความรัก เพียงแค่เติมเต็มในส่วนที่ต้องการเพียงเท่านั้น

ในขณะที่ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย สมองจะหลั่งสารหนึ่งที่มีชื่อว่า ออกซิโตซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความผูกพัน แต่ผู้ชายจะมีฮอร์โมนชนิดนี้น้อยกว่าจึงอาจรู้สึกไม่ค่อยผูกพันเท่ากับผู้หญิง ผู้ชายจะรู้สึกรักเมื่อรู้สึกจริงจังกับผู้หญิงมาก ๆ เท่านั้น

 

 

คิดจะรักต้องรู้จักป้องกัน

 

ที่ใดมีรักที่นั่นย่อมมี sex การป้องกันโรคติดต่อที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่เราควรคำนึงอย่างยิ่ง เพราะเราไม่อาจรู้เลยว่าโรคร้ายนั้นจะติดต่อมาที่เราหรือไม่ โดยโรคติดต่อที่อาจมาจากเพศสัมพันธ์ ได้แก่ หนองในเทียม เริม หูดหงอนไก่ ซิฟิลิส เป็นต้น โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการสวมถุงยางอนามัย โดยมีประสิทธิภาพป้องกันอันตรายจากโรคติดต่อมากถึง 86 % นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ของสตรีในวัยเรียนได้อีกด้วย

 

รักง่ายหน่ายเร็วเป็นเรื่องธรรมชาติ

 

การเกิดความรัก หรือการตกหลุมรักเป็นภาวะอารมณ์ที่ง่าย เพราะอาการ “ตก” ย่อมไม่ต้องออกแรง เพียงแค่ปล่อยตัวเองไปตามแรงโน้มถ่วง หรือความต้องการของตัวเอง แต่การ “ขึ้น” จากความรักย่อมต้องใช้แรงและความพยายามที่มากกว่า ในช่วงที่สมองหลั่งฮอร์โมนแห่งความรัก และความผูกพันออกมามาก ๆ อาจมีช่วงเวลาหนึ่งที่สมองจะหยุดหลั่งสารพวกนี้ออกมาได้เช่นกัน เพราะสมองมีการพัฒนาตลอดเวลา ความคิดของคนเราจึงย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ การหมดรัก หรือหมด passion จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คู่รักหลายคู่จะตัดสินใจแยกทางกันเพียงเพราะหมด passion ซึ่งกันและกัน

 

บางครั้งความรักที่เรากำลังประสบพบเจออยู่นั้นอาจเป็นเพียงแค่ความเสน่หาที่ทำให้รู้สึกวูบวาบเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่ใช่ความรู้สึกรักที่จะพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนได้ เราจึงต้องเข้าใจธรรมชาติของความรักที่เมื่อเกิดความรู้สึกรักแล้วย่อมอาจเกิดการหมดรักได้เช่นกัน