Transient Ischemic Attack
Transient Ischemic Attack

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack) หรือ TIA เป็นสัญญาณความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับอาการของโรคหลอดเลือดสมอง หากปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งมีความเสี่ยงควรรีบเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุของการเกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)

 

โรค TIA คืออะไร

 

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack) หรือ TIA บางครั้งอาจถูกเรียกว่า “MiniStroke” เป็นภาวะที่มีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคหลอดเลือดสมอง แต่จะมีความรุนแรงน้อยกว่าเนื่องจากอาการของผู้ป่วยจะหายได้ภายใน 24 ชั่วโมง ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ยังเป็นสัญญาณของความเสี่ยงการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาต และเส้นเลือดสมองตีบตันอีกด้วย

 

สาเหตุภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)

 

เกิดจากการอุดตันชั่วคราวของหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่เลี้ยงสมองจนขาดออกซิเจนไปชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงจนทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) มีดังนี้

  • ปัจจัยจากโรค เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคเบาหวาน หรือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เป็นต้น
  • ปัจจัยจากพฤติกรรม ทั้งการดื่มแอลกอฮอล์สูบบุหรี่รวมไปถึงการใช้สารเสพติด ทานอาหารที่มีไขมันมาก ไม่ออกกำลังกายทำให้เพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ได้
  • ปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง

 

อาการภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)

 

อาการของภาวะนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นจะสามารถหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้

  • ปวดหรือเวียนศีรษะอย่างรุนแรง
  • ความจำเสื่อมชั่วขณะ ไม่ค่อยมีสติ
  • พูดลำบากติด ๆ ขัด ๆ
  • เกิดอัมพาตครึ่งซีกที่แขนขา และใบหน้า
  • การมองเห็นมีปัญหา เช่น การมองเห็นภาพซ้อน
  • กล้ามเนื้อเกิดอาการชา และอ่อนแรง

หากพบอาการของภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ถึงแม้ไม่นานจะหายไปได้เองก็ไม่ควรปล่อยไว้ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรับการวินิจฉัยรวมถึงหาแนวทางในการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

 

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว TIA

 

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) กับโรคหลอดเลือดสมอง

 

หากมีอาการของภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) อาจไม่ใช่อาการธรรมดา เนื่องจากอาการดังกล่าวคือสัญญาณความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองที่อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 48 ชั่วโมงเท่านั้น ผู้ป่วยที่มีอาการภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) มีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด

 

การวินิจฉัยสาเหตุภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)

 

หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วจะเพิ่มโอกาสในการรักษาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แพทย์จะทำการตรวจหาความผิดปกติหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ด้วยการตรวจเลือด รวมไปถึงการตรวจผ่านการเอกซเรย์ทรวงอก, การทำ CT Scan, ตรวจอัลตราซาวด์ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อเป็นข้อมูลก่อนทำการรักษาต่อไป

 

การรักษาสาเหตุภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)

 

แพทย์จะทำการรักษาตามสาเหตุของการเกิดภาวะดังกล่าว และทำการป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองควบคู่ไปด้วย การรักษาสามารถทำได้ผ่านการทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยตัวยาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วย  หากมีอาการรุนแรงแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดหลอดเลือดแดงแคโรติดอาเทอรี นอกจากนี้ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ในผู้ป่วยบางรายยังสามารถรักษาได้ด้วยการทำบอลลูนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือด

 

การป้องกันภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)

 

  • หากมีอาการป่วยเป็นโรคที่เพิ่มความเสี่ยงต้องทำการรักษา และดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน และคอเลสเตอรอลสูง พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพิ่มอาหารประเภทผักผลไม้ หรือเนื้อปลามากขึ้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอครั้งละ 30 นาทีขึ้นไปให้ได้ 5 วันต่อสัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเพื่อค้นหาความเสี่ยงภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)

 

ความรุนแรงของภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) คือการนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองที่มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต สามารถเสริมการป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้ดีที่สุดควบคู่กับการตรวจสุขภาพ



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI