อันตรายจากแรงดัน และการเตรียมตัวก่อนการดำน้ำ
อันตรายจากแรงดัน และการเตรียมตัวก่อนการดำน้ำ

ความสวยงามใต้ท้องทะเลอาจแฝงไปด้วยอันตรายรอบด้านหากไม่เตรียมตัว ทั้งอันตรายจากความดันบริเวณน้ำลึก หรือก๊าซไนโตรเจนที่เยอะเกินที่สามารถส่งผลเสียให้กับร่างกายได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นหายใจลำบาก ปวดหู ปอดฉีกขาด เห็นภาพหลอน และหมดสติ เป็นต้น การเรียนรู้ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมทุกครั้งก่อนลงดำน้ำเสมอ

 

อันตรายจากแรงดัน กับก๊าซที่ไม่ควรมองข้าม

 

การดำน้ำลึก ดำน้ำนาน ใช่ว่าจะไม่มีผลในแง่ของความดัน เนื่องจากก๊าซไนโตรเจนจะมากขึ้นตามระดับน้ำที่ลึกขึ้น แล้วทำไมถึงเป็นก๊าซไนโตรเจน นั่นเพราะว่าหลายคนอาจไม่รู้ว่าในน้ำนั้นมีออกซิเจนประมาณ 21 % ก๊าซอื่น ๆ 1 % และแน่นอนว่าที่เหลืออีก 78 % เป็น “ก๊าซไนโตรเจน” ทั้งสิ้น

 

การดำน้ำในเวลานานก็ไม่ต่างจากการสูดเอาก๊าซไนโตรเจนเข้าสู่ร่างกายอยู่ตลอดนั่นเอง ในระดับน้ำทะเลลึกมวลความหนาแน่นของอากาศจะมากขึ้น และแทรกเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย จนสามารถส่งผลให้เกิด “ภาวะเมาไนโตรเจน (Nitrogen Narcosis)” ได้ แน่นอนว่าจะส่งผลต่อร่างกายได้อย่างแน่นอน ได้แก่

 

  • มีอาการมึนงง
  • มีอาการคล้ายคนเมาแอลกอฮอล์ เช่น หยุดหัวเราะไม่ได้
  • ไม่มีสมาธิ
  • เห็นภาพหลอน และอาจหมดสติ

 

เมื่อร่างกายได้รับก๊าซชนิดนี้มากเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายเริ่มขับออกมาในลักษณะฟองอากาศแต่เมื่อน้ำลึกขึ้นมาก และก๊าซมีความหนาแน่นจนร่างกายไม่สามารถขับออกมาได้ไหว ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บกับร่างกายได้ เช่น หลอดเลือด และเนื้อเยื่อเสียหาย ปวดตามข้อ รุนแรงที่สุดหากปล่อยเอาไว้สามารถพิการ และเสียชีวิตได้

 

แต่แน่นอนว่าอันตรายที่เกิดขึ้นจะมีระดับที่รุนแรงแปรผันตามระดับน้ำที่ดำลงไปด้วย ถ้าหากต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวก็ต้องหลีกเลี่ยงการดำน้ำตรงจุดที่ลึก และไม่ควรดำน้ำคนเดียว

 

ความดันที่ส่งผลต่อสภาพปอด

 

ปอดของเราจะได้รับผลกระทบเมื่อต้องว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำ เพราะก๊าซในปอดจะเพิ่มขึ้นจาก 2 เท่าของปกติ นักดำน้ำจึงไม่ควรกลั้นหายใจขณะกำลังว่ายขึ้นจากน้ำ แต่ให้พยายามหายใจแบบปกติ เพื่อเอาก๊าซส่วนเกินที่อยู่ในปอดออกมา หากก๊าซมีจำนวนมากจะเกิดการแทรกเข้าสู่เนื้อเยื่อปอดส่งผลให้ปอดเกิดการฉีกขาด หรือเกิดก๊าซอุดตันในหลอดเลือดแดงได้ โดยอาการที่บ่งบอกว่าอาจเกิดก๊าซในปอดมากเกินไป สามารถสังเกตได้ดังนี้

 

  • หากคลำผิวหนังจะพบลมใต้ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณหน้าอก
  • รู้สึกอึดอัด หายใจลำบาก
  • คอมีอาการบวม
  • เจ็บหน้าอก
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หยุดหายใจหมดสติ

 

อันตรายของแรงดันจากการดำน้ำ

 

แรงดันที่มากขึ้นกับอันตรายที่เกิดกับหู

 

น้ำที่ค่อย ๆ ลึกขึ้นแรงดันจะส่งผลกับหูของเราด้วย โดยอาจส่งกระทบต่อหูของเรา ดังนี้

 

  • การบาดเจ็บต่อหูชั้นกลาง เมื่อดำน้ำลงไปแรงดันภายนอกจะดันให้เยื่อแก้วหูโป่งขึ้น ทำให้เกิดอาการตึงและปวดหู หากฝืนดำต่อไปอาจทำให้แก้วหูทะลุได้
  • การบาดเจ็บต่อหูชั้นใน มักเกิดจากการปรับแรงดันหูแรงเกินไป ทำให้มีการฉีกขาดของ Round window และOval window ส่งผลให้มีอาการเวียนศีรษะอย่างรุนแรง เสียการทรงตัว สูญเสียการได้ยิน และหูอื้อ

 

หากร่างกายของเราไม่สามารถปรับตัวเข้าสภาพของแรงดันที่เปลี่ยนไปได้ จะส่งผลให้แก้วหูแตก เลือดออกในหู และมีอาการอื่น ๆ ที่สามารถสังเกตเป็นสัญญาณเตือนได้ ดังนี้

 

  • ปวดหู หูอื้อ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • รู้สึกคลื่นไส้

 

การเตรียมตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากการดำน้ำ

 

  • เตรียมร่างกายให้แข็งแรง และสมบูรณ์
  • มีความรู้เกี่ยวกับการดำน้ำ มีความรู้เรื่องอุปกรณ์การดำน้ำ และต้องมีผู้ดูแลคอยควบคุมอยู่ด้วย
  • หากเกิดอาการบาดเจ็บขณะดำน้ำจะต้องมีการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะความล่าช้าในการนำผู้ป่วยมายังห้องปรับบรรยากาศอาจทำให้ผู้ป่วยพิการ หรือเสียชีวิตได้
  • เพื่อความปลอดภัยจากโรคที่อาจจะเกิดจากการดำน้ำ ควรพักผ่อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางโดยเครื่องบิน

 

การดำน้ำในแต่ละครั้ง นักดำน้ำจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งกาย และใจ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บ และควรปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อตัวเอง และผู้อื่นในขณะดำน้ำนั่นเอง