เนื้องอกในมดลูก ไม่ใช่มะเร็ง แต่ไม่ควรมองข้าม
เนื้องอกในมดลูก ไม่ใช่มะเร็ง แต่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids) เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อของมดลูก ซึ่งมักจะพบได้บ่อยในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป หรือในวัยเจริญพันธุ์ แม้คำว่าเนื้องอกจะดูน่ากลัว แต่เนื้องอกในมดลูกเป็นชนิดที่ไม่อันตราย และมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้น้อยมาก โดยเนื้องอกที่ว่านี้จะมีขนาดเล็กมากไปจนถึงมีขนาดใหญ่เท่าลูกแตงโม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ หรือทำให้มีลูกยากได้

 

เนื้องอกมดลูกเกิดจากอะไร

 

โรคนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถสันนิษฐานได้ 3 ประการ ดังนี้
 

  • เกิดจากกรรมพันธุ์ หากมีคนในครอบครัวเป็นเนื้องอกอาจทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นเนื้องอกได้มากยิ่งขึ้น
     
  • ฮอร์โมน การทำงานของฮอร์โมนเพศหญิงบางประเภท เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์ เมื่อเซลล์กล้ามเนื้อตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนผิดปกติ จึงมีการสร้างเซลล์ที่ผิดปกติไปด้วย
     
  • การใช้ยา เช่น ยาคุมกำเนิดจะมีฮอร์โมนบางตัวที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเพิ่ม หรือกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกในมดลูกได้

 

อาการของเนื้องอกในมดลูกเป็นอย่างไร

 

  • คลำพบก้อนเนื้อที่ท้อง หรือบริเวณอุ้งเชิงกราน
     
  • ปวดท้องประจำเดือนมากกว่าปกติ เพราะเนื้องอกไปเบียดโพรงมดลูก
     
  • ปวดท้องแบบหน่วง ๆ ทั้งที่ไม่มีประจำเดือน
     
  • มีเลือดออกมากระหว่างรอบเดือน มีลิ่มเลือดปนเป็นก้อน หรือประจำเดือนมานานกว่า 2 สัปดาห์
     
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น เพราะเนื้องอกไปกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ
     
  • มีอาการท้องผูกผิดปกติ เพราะเนื้องอกไปกดทับบริเวณลำไส้
     
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
     
  • อ่อนเพลีย เป็นลมบ่อย

 

ชนิดของเนื้องอกมดลูก

 

  • เนื้องอกในกล้ามเนื้อ (Intramural fibroid) เป็นตำแหน่งที่พบบ่อย โดยจะพบภายในบริเวณกล้ามเนื้อมดลูก
     
  • เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก (Subserosal fibroid) เนื้องอกโตขึ้นจึงเกิดการดันออกมาที่ผิวด้านนอกของมดลูก
     
  • เนื้องอกที่โพรงมดลูก (Submucosal fibroid) ก้อนเนื้องอกดันเข้าไปในโพรงมดลูก อาจทำให้โพรงมดลูกผิดรูปได้

 

​​​​เนื้องอกมดลูก

 

การรักษาเนื้องอกมดลูก

 

  • การรักษาโดยใช้ยา การใช้ยากลุ่มอื่น เช่น การทานยาคุมกำเนิด หรือการฉีดยาคุมกำเนิด สามารถช่วยได้ในเรื่องของการมีประจำเดือนมามาก 
     
  • การรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาวิธีนี้แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยสามารถใช้ได้ 2 วิธี​ ดังนี้
     
    • การส่องกล้องทางโพรงมดลูก (Myomectomy) ใช้รักษาเนื้องอกมดลูกที่อยู่ในโพรงมดลูก โดยจะสอดกล้องผ่านช่องคลอดไปที่ปากมดลูกเข้าสู่โพรงมดลูก และใช้ลวดไฟฟ้าในการตัดเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกออก โดยที่ไม่ต้องตัดมดลูกออก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ยังต้องการมีบุตร
       
    • การผ่าตัดนำมดลูกออกไป (Hysterectomy) เป็นวิธีรักษาที่หายขาดเพราะเป็นการตัดมดลูกออกไป ซึ่งมักจะใช้ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ นอกจากนี้อาจใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือไม่ต้องการตั้งครรภ์อีก

 

การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงเนื้องอกมดลูก

 

  • ตรวจคัดกรอง ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ซึ่งสามารถตรวจได้แม้จะยังไม่มีอาการ
     
  • ปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืองดสูบบุหรี่ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เพราะการรับประทานอาหารที่มีไขมันมากจะทำให้ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น
     
  • ควบคุมน้ำหนักตัว โรคนี้มักพบกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินจึงควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
     
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ หมั่นออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพราะการออกกำลังกายจะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายได้

 

หากพบความผิดปกติ เช่น คลำพบก้อนเนื้อ ประจำเดือนมาผิดปกติ ปวดท้องประจำเดือนมาก ควรรีบเข้าพบสูตินรีแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอันตรายอื่น ๆ ที่อาจตามมาได้



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ผ่าตัดซีสต์/มดลูกและรังไข่ ผ่านกล้อง