โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) เป็นโรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านการทำงาน การเรียน และการเข้าสังคม เช่น โรคกลัวการเข้าสังคม โรคแพนิค และโรคย้ำคิดย้ำทำ ถูกนับเป็นโรควิตกกังวลด้วยเช่นกัน และด้วยโรคนี้เป็นโรคจากสภาพจิตใจจึงเป็นอันตรายอย่างมากหากปล่อยทิ้งไว้ ดังนั้นการรักษาโรคนี้ด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติอีกครั้ง
ด้านพันธุกรรม หากพ่อและแม่เป็นโรควิตกกังวล อาจถ่ายทอดพันธุกรรมไปสู่ลูก ทำให้มีโอกาสที่ลูกจะเป็นโรควิตกกังวลได้เช่นกัน
ด้านร่างกาย เกิดจากปัญหาการทำงานของสมองที่มีส่วนควบคุมความกลัว
ด้านสิ่งแวดล้อม การประสบพบเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในชีวิต หรือการเลียนแบบพฤติกรรมของบุคคลใกล้ชิด อาจก่อให้เกิดโรควิตกกังวลขึ้นได้
ด้านจิตใจ ได้รับความตึงเครียดหรือมีเรื่องที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรง
ปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้เกิดโรค เช่น ฐานะทางบ้านไม่ดี, การหย่าร้าง, เศรษฐกิจ, การไม่กล้าแสดงออกทางอารมณ์ในวัยเด็ก เป็นต้น
อาจเห็นหรือนึกถึงภาพเหตุการณ์รุนแรงที่เคยเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนกลายเป็นฝันร้าย
รู้สึกวิตกกังวล, อึดอัด
มีอารมณ์หงุดหงิด, กระวนกระวาย, อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
เบื่ออาหาร, อ่อนเพลีย, คลื่นไส้
หมกมุ่น, ฟุ้งซ่าน, ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
มีการแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น คิ้วขมวด, กำมือแน่น, พูดเร็ว, ใจลอย หรือกระสับกระส่าย เป็นต้น
นอนหลับยาก, พักผ่อนไม่เพียงพอ, ตื่นขึ้นกลางดึก
หันไปใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องราววุ่นวายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder, CAD )
เป็นรูปแบบทั่วไปของการวิตกกังวล โดยเรื่องที่ทำให้กังวลจะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันทั่วไป ถึงแม้จะไม่อันตรายมากแต่หากปล่อยไว้นาน อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เนื่องจากความกังวลจะส่งผลให้ร่างกายได้พักผ่อนน้อย และเกิดอาการอ่อนเพลีย
อาการของโรคแพนิคจะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ป่วยค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดความกังวล และความไม่สบายใจต่อสิ่งรอบตัวจนถึงที่สุดโดยไม่มีสาเหตุ ผู้ป่วยจะมีอาการหลายแบบ เช่น เวียนหัว,เหงื่อออก และใจสั่น เป็นต้น
โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder, OCD)
เป็นรูปแบบที่ไม่ค่อยมีผลเสียมากเท่าไรนัก โดยผู้ป่วยจะมีอาการย้ำคิด และทำในเรื่องที่ทำไปแล้วด้วยความกังวล ส่งผลให้ทำเรื่องเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าจะเกิดความมั่นใจ
กลัวสังคม (Social Anxiety Disorder)
ผู้ป่วยจะมีอาการกลัวการเข้าสังคมอย่างมาก เช่น การคุยกับบุคคลแปลกหน้า, การพูดในที่สาธารณะ หากต้องเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้ จะเริ่มเครียดและวิตกกังวลทันที ผู้ป่วยโรคนี้มักจะหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการเข้าสังคมทุกครั้ง
โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD)
โรคนี้เป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยได้ผ่านเหตุการณ์รุนแรง หรือเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก ทำให้เกิดความกลัวภายในจิตใจ ราวกับว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ผู้ป่วยจะมีอาการหวาดกลัว ระแวง และตกใจง่าย เป็นต้น
กลัวการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder)
เกิดจากความวิตกอย่างเกินควรของผู้ป่วยเกี่ยวกับเรื่องการแยกจาก ไม่ว่าจะเป็นการแยกจากบุคคล หรือสถานที่ โดยความวิตกกังวลชนิดนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กหรือทารกเป็นปกติ โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ใหญ่เช่นกัน เพียงแต่ว่าอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กจะรุนแรงมากกว่า
โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias)
คือการกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก ๆ อย่างชัดเจน เช่น กลัวเลือด, กลัวสัตว์บางชนิด, กลัวทะเล เป็นต้น ซึ่งอาการที่แสดงออกมาจะเป็นไปในทางหลีกเลี่ยง และหนีการพบเจอสิ่งนั้นอย่างทันที
ระดับต่ำ (Mild Anxiety) พบได้ทั่วไป อารมณ์กับการกระทำไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากปกติมาก ยังสามารถควบคุมตนเองได้ แต่อาจต้องขอความช่วยเหลือบ้างเป็นครั้งคราว
ระดับปานกลาง (Moderate Anxiety) ส่งผลให้ประสาทสัมผัสกับการรับรู้ลดลง ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และความสนใจที่น้อยลง แต่ผู้ป่วยที่อยู่ในระดับนี้ถือว่ายังสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเองได้
ระดับรุนแรง (Severe Anxiety) ในระดับนี้จะก่อให้เกิดความหมกมุ่นกับรายละเอียดต่าง ๆ จนเกินไป ผู้ป่วยอาจไม่สามารถจับประเด็นหรือสาระสำคัญของเรื่องที่เกิดขึ้นได้ การแก้ไขปัญหาแย่ลง มักมีพฤติกรรมที่แสดงออกมาเพื่อป้องกันตนเองมากขึ้น โดยผู้ป่วยที่อยู่ในระดับนี้อาจต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้างทันที
ระดับรุนแรงมาก (Panic Anxiety) หากอยู่ในระดับนี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความกลัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ปกติ โดยผู้ป่วยที่อยู่ในระดับนี้จะสูญเสียความเป็นตนเอง และไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เหมือนปกติ
แพทย์จะมีการซักถามประวัติ เช่น อาการที่เกิดขึ้น, โรคประจำตัว เป็นต้น หลังจากนั้นจะเป็นการตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจปัสสาวะ, การตรวจเลือด หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อแยกโรคที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรควิตกกังวล ถ้าหากตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติใดทางร่างกาย แพทย์จะส่งตัวต่อให้จิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ หรืออาจจะมีการใช้เครื่องมือในการประเมินโรคทางจิตเวช
การทำจิตบำบัด คือการเข้ารับคำแนะนำ และคอยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เพื่อเรียนรู้การแก้ปัญหาเมื่อเกิดความวิตกกังวล ให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ในที่สุด
จัดการและปรับเปลี่ยนความคิด เช่น เมื่อมีความกังวลให้หากิจกรรมอื่นทำเพื่อให้เกิดความสบายใจ หรือการนั่งสมาธิเพื่อผ่อนคลายจิตใจ นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนรูปแบบความคิดต่อเรื่องที่กังวลว่ามันไม่ได้เลวร้าย และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาอาจเป็นทางออกที่ดีเช่นกัน
การรักษาด้วยยา โดยตัวยาจะสามารถช่วยควบคุม และบรรเทาอาการลงได้ เช่น ยาอัลปราโซแลม ยาโพรพราโนลอล และยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ เป็นต้น ซึ่งการรับประทานยาทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้วย
โรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถดูแลตนเองเพื่อลดอัตราการเกิดโรคนี้ได้ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ การดูแลตนเองขั้นพื้นฐาน ทั้งการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, ออกกำลังกาย, ไม่บริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน, การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน และหากมีความเครียด ความกังวลใจ เราควรพยายามหลีกเลี่ยงความกังวลนั้นด้วยการทำกิจกรรมที่เสริมสร้างความสบายใจ ไม่ควรหันไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติดเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา และทำให้เกิดความสุขขึ้นเด็ดขาด
การเป็นโรควิตกกังวล จะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ และร่างกายอย่างหลากหลาย จนถึงขั้นรุนแรงที่สุดคือการเสียชีวิตจากภาวะที่แทรกแซง เช่น ภาวะซึมเศร้า หากผู้ป่วยไม่สามารถรักษา และหาทางออกกับปัญหา และความเครียด หรือความกังวลที่กำลังเผชิญอยู่ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยคิดปลิดชีพตนเองเพื่อหาทางออกได้ และในช่วงนั้นร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่ำลง อาจส่งผลให้มีโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือผู้ป่วยบางรายอาจหันไปพึ่งสารเสพติดเพื่อคลายความเครียด แน่นอนว่าจะเกิดผลเสียตามมาอย่างมากมายและหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย
โรคที่ส่งผลกับสุขภาพจิตหลายโรคอาจไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากปัจจัยของการเกิดโรคอาจอยู่เหนือการควบคุม แต่การรับรู้ข้อมูลทั้งอาการ การรักษา และการป้องกัน จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรควิตกกังวลได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเราอย่างมาก หากเราต้องเผชิญกับโรคร้ายนี้ในอนาคต
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
อาการเครียดแบบนี้อยู่ขั้นไหนกันนะ
โรคซึมเศร้า โรคที่คนไม่เศร้าต้องเข้าใจ