โรคกระดูกพรุน
เมื่อร่างกายขาดแคลเซียม ระวังความเสี่ยงเรื่อง "โรคกระดูกพรุน" ไว้

 

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ปัญหาของคนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะผู้หญิง และผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากแคลเซียมในร่างกายที่ไม่เพียงพอ ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกน้อยลง จนเกิดการแตกหักได้ง่าย อีกทั้งโรคนี้ยังเป็นภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือน แต่สามารถพบเจอโรคนี้ได้ผ่านการตรวจความหนาแน่นของกระดูก ซึ่งจะทำให้เราเตรียมตัวรับมือได้ทัน ก่อนเกิดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาตขึ้น

 

 

โรคกระดูกพรุนเป็นอย่างไร ? 

 

โรคกระดูกพรุน คือการสูญเสียแคลเซียมในกระดูก ส่งผลให้เซลล์สร้างกระดูกแล้วเกิดการทำลายกระดูก มากกว่าการสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาทดแทน ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดน้อยลง และไม่สามารถรับน้ำหนักได้อย่างที่เคยเป็น ทำให้กระดูกมีความเปราะบาง แตกหักได้ง่าย และอาจส่งผลต่อส่วนสูง ทำให้ส่วนสูงลดลง โดยกระดูกส่วนที่พบว่ามักเป็นโรคกระดูกพรุนมากที่สุด คือ กระดูกข้อสะโพก, กระดูกสันหลัง หรือกระดูกปลายแขน เป็นต้น ปกติแล้วผู้ป่วยจะไม่รู้ตัว แต่อาการจะแสดงออกหลังจากร่างกายได้รับความเสียหายจนกระดูกหัก ซึ่งการหักของกระดูกจะง่ายกว่าคนทั่วไป โรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และจะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นตามอายุ และรุนแรงถึงขั้นพิการได้ 

 

 

สาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุน

 

เซลล์กระดูก จะประกอบไปด้วยเซลล์สร้างกระดูกและเซลล์สลายกระดูก โดยทั้งสองเซลล์จะทำหน้าที่แตกต่างกัน อย่างเช่น เซลล์สร้างกระดูก จะทำหน้าที่สร้างกระดูกใหม่จากแคลเซียมกับโปรตีน เพื่อช่วยทดแทนกระดูกส่วนที่มีการสึกหรอ และเซลล์สลายกระดูก จะมีหน้าที่ในการสลายเนื้อกระดูกเก่า ทั้งนี้ เมื่อปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอต่อกระบวนการสร้างกระดูก หรือเซลล์กระดูกที่ทำงานไม่สมดุลกันเนื่องจากเกิดความผิดปกติขึ้น อาจทำให้กระบวนการสร้างกระดูกเกิดการสลายมากกว่าที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ จึงทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนขึ้นมา 

 

 

โรคกระดูกพรุนมีปัจจัยเสี่ยงใดบ้าง ?  

 

  • ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป 

 

  • คนผิวขาวมักมีมวลกระดูกที่น้อยกว่าคนผิวเข้ม 

 

  • ร่างกายขาดวิตามินดี และแคลเซียม

 

  • ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน 

 

  • การดื่มแอลกอฮอล์, สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นประจำ

 

  • น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์

 

  • ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์มากเกินไป 

 

  • เพศหญิงที่ประจำเดือนหมดเร็ว 

 

  • ฮอร์โมนของเพศหญิงและชายจะลดลงเมื่อเข้าสู่วัยทอง

 

เบาหวาน

 

  • โรคประจำตัว เช่น โรคข้อ, โรคเบาหวาน, โรครูมาตอยด์, ภาวะฮอร์โมนต่ำ หรือพาราไทรอยด์สูง เป็นต้น

 

 

อาการของโรคกระดูกพรุน

 

โรคนี้ไม่มีอาการที่แสดงออกให้เห็นชัด จัดว่าเป็นภัยเงียบอย่างหนึ่ง กว่าจะรู้ตัวกระดูกของเราคงเสียหายไปมากแล้ว ดังนั้น เราจึงต้องสังเกตจากสัญญาณแทน เช่น 

 

  • หลังค่อม, โก่ง 

 

  • ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองลดลง

 

  • การเคลื่อนไหวไม่คล่องตัว หรือกระฉับกระเฉงเหมือนเคย  

 

  • ภายใน 1 ปี ความสูงจะลดลงมากกว่า 6 ซม.

 

  • กระดูกสันหลังเกิดการยุบตัว 

 

  • กระดูกแตกหักง่าย แม้จะมีการกระทบกระเทือนแบบไม่รุนแรง

 

ปวดหลังเรื้อรัง

 

  • อาจเกิดอาการปวดหลังเรื้อรังขึ้นได้ 

 

  • หากปล่อยไว้จนรุนแรง อาจเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระดูกพรุน

 

  • มีโอกาสที่กระดูกจะแตกหักได้ง่าย แม้จะมีการกระแทกที่ไม่ได้รุนแรง 

 

  • มีอาการเจ็บปวดเรื้อรัง, เคลื่อนไหวไม่คล่องตัว

 

  • เมื่อการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ จึงทำให้มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมบางชนิด อาจเสี่ยงให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยบางรายได้

 

  • อาจเกิดแผลกดทับขึ้นในผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้พิการที่เดินไม่ได้ 

 

  • อวัยวะภายในช่องท้องและทรวงอกมีการทำงานที่ผิดปกติ 

 

 

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน 

 

แพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Bone Densitometer เพื่อตรวจความหนาแน่นของกระดูกโดยการใช้รังสี แต่เครื่องมือที่แพทย์มักใช้บ่อย คือ DEXA Scan ซึ่งจะใช้ตรวจความหนาแน่นของกระดูกเหมือนกัน แต่มีความแม่นยำที่สูง, ใช้เวลาในการสแกนที่น้อย, ปริมาณของรังสีที่เข้าสู่ร่างกายต่ำ, ไม่สร้างความเจ็บปวด และมีประสิทธิภาพสูงในการประเมินความหนาแน่นของกระดูกผู้ป่วย โดยความหนาแน่นของกระดูก จะแบ่งออกดังนี้

 

  • กระดูกปกติ ค่ามวลกระดูกจะอยู่ในช่วง 1 ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยค่ามวลจะมากกว่า -1

 

  • กระดูกโปร่งบาง ค่ามวลกระดูกจะอยู่ระหว่าง 1 - 2.5 โดยค่ามวลจะอยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5

 

  • กระดูกพรุน ค่ามวลกระดูกจะอยู่ในช่วง 2.5 หรือต่ำกว่า โดยค่ามวลจะน้อยกว่า -2.5 

 

 

วิธีรักษาโรคกระดูกพรุน

 

  • การรับประทานยา ให้ยาที่มีฤทธิ์ระงับการทำงานของเซลล์สลายกระดูก เพื่อลดอัตราการสลายของกระดูก และลดความเสี่ยงไม่ให้กระดูกแตกหักง่าย เพื่อให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้มากขึ้น โดยจะมีทั้งยาแบบรับประทานและแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำ เช่น ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือยาฮอร์โมนแคลซิโตนิน เป็นต้น

 

  • การเพิ่มฮอร์โมน อาจมีการเพิ่มฮอร์โมนที่ช่วยในการสร้างแคลเซียม เช่น การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนสำหรับผู้ป่วยเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรืออยู่ในวัยที่หมดประจำเดือนไปแล้ว เพราะร่างกายจะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเองได้

 

  • การดูแลสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง เพื่อช่วยในด้านการดูดซึมแคลเซียม หลีกเลี่ยงกิจกรรมและการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก หรือหักโหมเกินไป

 

 

การป้องกันโรคกระดูกพรุน

 

ออกกำลังกาย

 

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ไม่ควรออกแรงหักโหมจนเกิดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อกระดูก โดยเฉพาะผู้ที่เล่นกีฬาเกี่ยวกับการยกน้ำหนักควรหมั่นตรวจสุขภาพ และดูแลความพร้อมของร่างกายอย่างเหมาะสม

 

  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดี เช่น เต้าหู้ กุ้งฝอย ปลาตัวเล็ก และผักใบเขียวอย่างผักคะน้า ผักกระเฉด กะเพรา ตำลึง เป็นต้น และอาหารประเภทโปรตีนที่มีวิตามินดีสูง เช่น ตับ และไข่แดง เป็นต้น

 

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา หรือกาแฟ เพราะมีความเป็นกรดสูง

 

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

 

  • ในแต่ละวัน ควรออกไปรับแดดตอนเช้า เพราะวิตามินดีในแสงแดด จะช่วยทำให้แคลเซียมภายในร่างกายไหลผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี

 

  • ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรเข้าตรวจวัดมวลกระดูก เพื่อคัดกรองโรคกระดูกพรุน 

 

  • จัดพื้นที่ภายในบ้าน เพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุหรือหกล้ม เช่น การเก็บสายไฟเพื่อไม่ให้เกะกะ, ติดแสงไฟให้สว่าง, หากสายตาสั้นควรใส่แว่น เป็นต้น 

 

 

หากเป็นโรคกระดูกพรุนสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ ? 

 

หากผู้ป่วยต้องการออกกำลังกาย จะต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะว่ากระดูกมีความเปราะบางมากกว่าคนทั่วไป หากอยากออกกำลังกาย ควรจะเน้นไปที่ 3 วิธี ดังนี้

 

  • การออกกำลังกายด้วยการลงน้ำหนัก เพื่อใช้น้ำหนักของร่างกายในการกระตุ้นสร้างมวลกระดูก

 

  • การออกกำลังกายที่สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

 

  • การออกกำลังกายด้วยการยืดกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น, ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัวขึ้น 

 

ทั้งนี้ หากจะออกกำลังกาย ทางที่ดีควรเข้าพบแพทย์ เพื่อปรึกษาแนวทางในการออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้กระทบและเพิ่มความรุนแรงให้กับโรคที่เป็นอยู่  

 

 

แคลเซียมเพื่อนซี้ของกระดูก

 

แคลเซียม

 

แคลเซียมมีประโยชน์กับโรคกระดูกพรุน สามารถนำมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ เพราะสามารถเพิ่มความหนาแน่นให้มวลกระดูกได้ ทำให้กระดูกมีความแข็งแรง โดยปริมาณแคลเซียมที่คนปกติทั่วไปต้องการต่อวัน คือ 800 – 1,000 มิลลิกรัม แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุจะต้องการปริมาณแคลเซียมที่มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน แม้แคลเซียมจะจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากรับประทานแคลเซียมในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น จะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วในไต, ท้องผูก หรือเกิดภาวะแคลเซียมเกาะตามผนังหลอดเลือด ดังนั้น ก่อนรับประทานอาหารเสริมจึงต้องวางแผนเพื่อควบคุมปริมาณแคลเซียมให้เหมาะสมต่อความจำเป็นของร่างกายด้วย

 

 

การกินนมเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน

 

นม เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพราะมีปริมาณแคลเซียมสำหรับการเจริญเติบโตของกระดูกและฟันสูง โดยเฉพาะนมโคสด และนมรสจืด อีกทั้งยังมีผลต่อพัฒนาการด้านความสูง ซึ่งจะมีการซ่อมแซมมวลกระดูกในส่วนที่สึกหรอของร่างกาย โดยการรับประทานนมให้ได้ตามประสิทธิผลนั้น จะแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้ 

 

เด็กก่อนวัยเรียน 1 ปีขึ้นไป และวัยเรียน

 

ดื่มนม

 

ควรดื่มนมรสจืด 2 แก้วต่อวัน ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง แต่ไม่ควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนย หรือไร้ไขมัน เพราะไขมันเป็นแหล่งสะสมพลังงาน ซึ่งมีวิตามินเอ, ดี, อี และเคที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

 

วัยรุ่น

 

แนะนำให้ดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้ว เพื่อให้ได้รับแร่ธาตุแคลเซียมเพียงพอ ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน

 

วัยผู้ใหญ่

 

ควรดื่มนมทุกวัน เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และชะลอการสูญเสียมวลกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน ส่วนผู้ที่มีปัญหาภาวะไขมันในเลือดสูง ควรเลือกดื่มนมรสจืดพร่องมันเนย หรือนมไร้ไขมัน

 

หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร 

 

ควรดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้ว และควรบริโภคอาหารประเภทอื่นด้วย เช่น ปลาเล็ก, ผักใบเขียวเข้ม หรือเต้าหู้ เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกทั้งแม่และทารกในครรภ์

 

ผู้ที่มีปัญหาถ่ายบ่อยเมื่อดื่มนม 

 

ซึ่งเกิดจากน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่เพียงพอ จึงควรเริ่มดื่มนมครั้งละประมาณครึ่งแก้ว และเพิ่มปริมาณเป็นครั้งละหนึ่งแก้วในอีก 1-2 สัปดาห์ต่อมา 

 

 

โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย และจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นกระดูกแตกหัก การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรค เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรตระหนัก เพื่อลดปัญหาของการเคลื่อนไหวที่ยากต่อการใช้ชีวิตประจำวันในอนาคต



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ศูนย์เอกซเรย์

 

4 โรคที่วัยสูงอายุควรระวัง

 

กระดูกสันหลังหัก ความเสี่ยงถึงขั้นเป็นอัมพาต