โรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท
หากปวดคอแล้วร้าวลงแขน ระวังโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

 

โรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท (Cervical Radiculopathy) เป็นโรคที่จะมีอาการปวดบริเวณคอ และท้ายทอย ลักษณะคล้ายออฟฟิศซินโดรม แต่จะมีอาการเพิ่มขึ้นมา เช่น ปวดลงมาที่แขน และนิ้วมือ ร่วมกับอาการชา เป็นต้น สาเหตุที่อาการเป็นอย่างนี้ เพราะส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา ซึ่งอาจส่งผลทำให้กระดูกคอเกิดการเสื่อมขึ้นได้ 

 

 

สาเหตุของโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

 

  • เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น กระดูกคอคด

 

  • เคยประสบอุบัติเหตุ ที่ทำให้หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนไปทับเส้นประสาท

 

เล่นโทรศัพท์เป็นเวลานาน

 

  • พฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การก้ม-เงยคอเล่นโทรศัพท์, การสะบัดคอ, การโยกคอ, การก้มหน้าอ่านหนังสือ และการทำงานหน้าจอคอมในท่าทางที่ผิดเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น

 

  • อาจมีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกคอเสื่อมตามวัย ที่อาจส่งผลให้โพรงเส้นประสาทตีบแคบลง และกดเบียดเส้นประสาทได้ 

 

 

อาการของโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

 

  • ปวดคอและท้ายทอย อาจเป็นเพราะหมอนกระดูกคอบวมออกมากดทับเส้นประสาทคอส่วนบน

 

  • มีอาการปวดที่บริเวณคอแบบเป็น ๆ หาย ๆ มานานมากกว่า 2 สัปดาห์ 

 

  • เวลานั่งหรือขยับเปลี่ยนอิริยาบถ จะรู้สึกปวดคอจนอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

  • การไอ, จาม และเบ่ง อาจส่งผลให้รู้สึกปวดแบบลึก ๆ เพราะเกิดจากแรงดันภายในไขสันหลัง

 

  • ปวดร้าว และมีอาการชาลงมาตั้งแต่หัวไหล่, แขน จนถึงนิ้วมือ เป็นเพราะหมอนรองคอกดทับเส้นประสาท หากอาการรุนแรงจะส่งผลทำให้แขนชา และอ่อนแรง จนไม่สามารถควบคุมการใช้งานมือได้

 

 

การวินิจฉัยหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

 

แพทย์จะใช้วิธีตรวจ MRI และ CT Scan ในการเอกซเรย์ เพื่อตรวจการทำงานของระบบประสาทส่วนคอ ว่ามีความรุนแรงขนาดไหน หากมีความรุนแรงน้อย แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาและการทำกายภาพบำบัด แต่ถ้ามีความรุนแรงมากอาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัด

 

 

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

 

  • การใช้ยา แพทย์จะใช้ยาแก้ปวดหลายตัว รวมทั้งการฉีดสเตียรอยด์เข้ากล้ามเนื้อคอ เพื่อบรรเทาอาการปวดให้กับผู้ป่วย

 

ประคบร้อน

 

  • กายภาพบำบัด ด้วยการประคบร้อน หรือทำกายบริหาร เพื่อบรรเทาอาการปวด

 

  • การรักษาทางเลือก เช่น การฝังเข็ม โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อปรึกษาแนวทางและการดำเนินการรักษาต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์เสมอ

 

  • การผ่าตัด ปัจจุบันเป็นการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ส่วนมากเป็นการผ่าตัดผ่านทางด้านหน้าของลำคอ ไม่จำเป็นต้องตัดกล้ามเนื้อ หลังจากการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทออกแล้ว แพทย์จะใส่อุปกรณ์ยึดตรึงแบบมาตรฐาน (Cervical Fusion) สำหรับผู้ที่กระดูกไม่เสื่อมมาก แพทย์จะใส่กระดูกเทียมแบบเคลื่อนที่ได้ (Cervical Disc Replacement) เพื่อลดภาระของกระดูกข้อถัดไป

 

  • การผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอทางด้านหลัง ด้วยเทคนิค PSCD ย่อมาจาก Percutaneous Stenoscopic Cervical Decompression เพื่อขยายช่องกระดูกสันหลังส่วนคอ แพทย์จะทำการนำกล้องเอ็นโดสโคปที่มีความละเอียดสูง เข้าไปในช่องว่างภายในกระดูกคอ เพื่อนำหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออกมา

 

 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงการเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

 

  • ไม่ควรหนุนหมอนที่สูงจนเกินไป เพื่อให้คอไม่ต้องทำงานหนัก

 

อ่านหนังสือขนานกับระดับสายตา

 

  • หากก้มหน้าอ่านหนังสือ ไม่ควรก้มเป็นระยะเวลานาน หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการยกหนังสือขึ้นมาอ่านขนานกับระดับสายตาแทน 

 

  • หากต้องนั่งหน้าคอมเป็นระยะเวลานาน ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ค้างอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ 

 

  • หลีกเลี่ยงการยกของที่มีน้ำหนักเยอะ 

 

  • ถ้าต้องเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ ด้วยการขับรถ ไม่ควรให้เบาะนั่งห่างจากพวงมาลัยมากเกินไป เพราะการเกร็งไหล่และคอ จะทำให้บริเวณคอมีการทำงานหนักมากยิ่งขึ้น 

 

 

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท มักหายได้ดีถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มออกอาการ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้กระดูกเสียหายอย่างถาวรได้ หากท่านใดที่พบว่าร่างกายของตนเอง มีอาการเข้าข่ายว่าจะเป็นโรคนี้ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และดำเนินการรักษาต่อไป