โรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใส ตุ่มที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

 

อีสุกอีใส เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในวัยเด็ก เป็นโรคที่แพร่กระจายได้ง่ายโดยเฉพาะในโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก และผู้ใหญ่สามารถเป็นได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาดูเนื้อหาเกี่ยวกับโรคอีสุกอีใสที่คุณควรรู้ หรือความเชื่อผิด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาเขียวเพื่อรักษา และความรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใสกันเถอะ

 

 

สาเหตุของโรคอีสุกอีใส

 

โรคอีสุกอีใส (Varicella หรือ Chickenpox) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “ไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus)” ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด สามารถติดต่อได้ด้วยการหายใจเอาละอองฝอยในอากาศเข้าสู่ร่างกาย, การสัมผัสตุ่มน้ำที่ผิวหนังของผู้ป่วยโดยตรง หรือการสัมผัสสิ่งของที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เช่น เสื้อผ้า, ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น โดยจะมีระยะฟักตัวประมาณ 10-20 วัน หลังจากสัมผัสผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ 

 

 

โรคอีสุกอีใสอาการเป็นอย่างไร? 

 

  • มีไข้ต่ำ, อ่อนเพลีย, ปวดศีรษะ หลังจากได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 8-21 วัน

 

ผื่นขึ้นตามใบหน้า

 

  • มีผื่นขึ้นตามตัว, ใบหน้า รวมถึงแขน และขา 

 

  • มักเกิดอาการคันจนกลายเป็นตุ่มน้ำอย่างรวดเร็ว 

 

  • เมื่อแผลเกิดการตกสะเก็ด จะหายหลังจากผ่านไปประมาณ 5-20 วัน

 

 

กลุ่มเสี่ยงของโรคอีสุกอีใส

 

  • ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน 

 

  • เด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ

 

  • หญิงตั้งครรภ์

 

  • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง, ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิ, ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น 

 

หากท่านเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ถ้ามีอาการที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคอีสุกอีใส ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคอีสุกอีใส

 

  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง อาจกลายเป็นหนองจากการติดเชื้อและส่งผลให้เป็นแผลได้ 

 

  • หากเป็นกลุ่มเสี่ยงอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่มักพบได้น้อย เช่น สมองอักเสบ หรือปอดอักเสบ เป็นต้น 

 

  • หากหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว แต่เชื้อยังคงอยู่ภายในร่างกาย และเมื่อไรที่ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำหรือลดลง อาจส่งผลให้เกิดโรคงูสวัดขึ้นในอนาคตได้ 

 

 

การวินิจฉัยโรคอีสุกอีใส

 

การวินิจฉัยโรคอีสุกอีใส

 

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากการตรวจร่างกายเบื้องต้น และดูลักษณะของผื่นและตุ่มน้ำ ในกรณีผู้ป่วยที่เกิดผลข้างเคียงขึ้น แพทย์อาจต้องการผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ โดยอาจพิจารณาวิธีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจหาเชื้อจากตุ่มน้ำ, การทดสอบน้ำเหลืองเพื่อหาระดับของสารภูมิต้านทานที่มีต่อเชื้ออีสุกอีใสจากตุ่มน้ำ และการตรวจเลือดเพื่อยืนยันเชื้อ เป็นต้น

 

 

การรักษาโรคอีสุกอีใส

 

  • ปกติแล้วโรคนี้สามารถปล่อยให้หายเองได้ แต่หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะให้ยารักษาต้านไวรัสเพื่อลดความรุนแรงของโรค

 

  • หากผู้ป่วยมีไข้ สามารถให้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ประเภทแอสไพริน เพราะอาจเกิดความเสี่ยงได้

 

  • หากผู้ป่วยมีอาการคัน แพทย์จะพิจารณาให้ยากลุ่มแอนตี้ฮิสตามีน หรือคาลาไมน์ไว้สำหรับทา เพื่อบรรเทาอาการคัน เพราะอาการคันหากยิ่งเกาจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อแบคทีเรียสูง

 

 

การป้องกันโรคอีสุกอีใส

 

พักผ่อนให้เพียงพอ

 

  • ควรทำให้สุขภาพร่างกายของตนเองแข็งแรงอยู่เสมอ เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ, การออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือการดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เป็นต้น 

 

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วย 

 

  • ควรแยกตัวผู้ป่วยออก เพราะสามารถแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้ ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงก่อนเกิดตุ่ม - 6 วันหลังมีตุ่มขึ้น 

 

  • การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น 

 

 

โรคอีสุกอีใสป้องกันได้เพียงฉีดวัคซีน

 

ฉีดวัคซีน

 

วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella Vaccine) เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ ซึ่งถูกทำให้ฤทธิ์อ่อนลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยแพทย์จะแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม แต่การได้รับวัคซีนดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์เท่านั้น หากมีอาการรุนแรง หรือมีโรคประจำตัวควรรีบแจ้งแพทย์ก่อนทันที

 

 

การรับประทานยาเขียวรักษาโรคอีสุกอีใสได้จริงหรือไม่?

 

เมื่อเป็นอีสุกอีใส หลายคนอาจจะรีบขวนขวายหายาเขียวมาละลายน้ำเพื่อรักษา แต่แท้จริงแล้วยาเขียวไม่ได้มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการไข้, แก้ร้อนใน และใช้บรรเทาอาการไข้ออกผื่นต่าง ๆ ดังนั้น ในทางการแพทย์ยาเขียวจึงยังไม่มีผลวิจัยที่เป็นที่ยอมรับว่าจะสามารถรักษาโรคอีสุกอีใสได้

 

 

หากโรคอีสุกอีใสเกิดขึ้นในเด็กจะไม่มีผลกระทบใด ๆ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่หากเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่ต้องพบปะสังสรรค์กับผู้คนมากมาย การมีตุ่มน้ำเกิดขึ้นที่ตัวและใช้เวลานานกว่าจะหายเป็นปกติ อาจจะเป็นปัญหากวนใจในการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย ดังนั้น การได้รับวัคซีนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เราไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับโรคนี้