โรคอะไรเอ่ยที่เราสามารถเป็นได้ตลอดทั้งปี เป็นแล้วหายยังกลับมาเป็นได้อีก คำตอบ คือ โรคไข้หวัดนั่นเอง ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าโรคร้ายหลายโรคมีปัจจัยการเกิดที่แตกต่างกัน หากเราดูแลสุขภาพอย่างดี ทั้งการทานอาหารที่มีประโยชน์, การออกกำลังกายเป็นประจำ แต่อาจยากที่จะหลีกหนีโรคไข้หวัดได้ เพราะโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสหลากหลายชนิด และเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาล และอันตรายมากขึ้นในฤดูฝนกับฤดูหนาว ดังนั้นวันนี้เราจะมาเจาะลึกโรคไข้หวัดกัน
โรคไข้หวัด เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลาย, น้ำมูก และเสมหะ สามารถติดต่อได้โดยการไอ, หายใจรดกัน หรือการสัมผัสกับผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยมีการสัมผัสกับผู้อื่น เชื้อหวัดจะติดคนนั้น เมื่อนำอวัยวะไปสัมผัสกับร่างกายของตนเอง เช่น แคะจมูก, ขยี้ตา เป็นต้น อาจทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย จนกลายเป็นไข้หวัดได้ ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 10 - 12 ชั่วโมง และจะแสดงอาการชัดเจนที่สุดเมื่อได้รับเชื้อ 36 - 72 ชั่วโมง โดยสามารถแพร่ได้ทั้งก่อนเกิดอาการและหลัง 1 - 2 วันหลังเกิดอาการ
โรคไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ส่วนมากจะติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไรโนไวรัส (Rhinoviruses) เชื้อเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านช่องทางจมูก, ตา, ปาก หรือการรับมาจากอากาศรอบตัวของเรา นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคไข้หวัด เช่น เด็กที่มีอายุน้อย, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือการอยู่ในสภาพอากาศที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น ฤดูฝนและฤดูหนาว เป็นต้น
สำหรับอาการของโรคไข้หวัดเป็นสิ่งที่เรารู้ และเข้าใจกันอยู่แล้ว ได้แก่ อาการน้ำมูกไหล, ไอ, จาม, มีอาการคัดจมูก, ปวดศีรษะ และมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 37 ถึง 39 องศาเซลเซียส สำหรับอาการอื่นที่อาจพบร่วมด้วยเมื่อเป็นโรคนี้ ได้แก่ มีอาการปวดหู, รู้สึกระคายเคืองที่ดวงตา, ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น อาการที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงมากที่สุดในช่วง 3 วันแรก หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติ โดยปกติแล้วโรคไข้หวัดจะมีระยะเวลาอยู่ที่ประมาณ 2 อาทิตย์จึงจะหาย ถึงแม้จะเป็นโรคที่ดูเหมือนไม่อันตราย แต่ยังมีอาการเหล่านี้ที่ถือว่าเป็นอันตราย และต้องรีบเข้าพบแพทย์ในทันที ได้แก่
อาการในผู้ใหญ่
มีไข้สูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลาตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป มีปัญหาเรื่องการหายใจ เมื่อหายไข้แล้ววนกลับมามีอาการอีก และมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
อาการในเด็ก
เมื่อมีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไปในเด็กเล็ก ต่อเนื่องตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป หรืออาการไม่ดีขึ้น หายใจมีเสียง, ไม่อยากอาหาร, มีอาการปวดศีรษะ และไออย่างรุนแรง
เมื่อเป็นไข้หวัด อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีน้ำมูกข้นสีเหลืองและเขียว ร่วมกับมีเสมหะสีเขียว
เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยแล้ว อาจเกิดหูชั้นกลางอักเสบ, ไซนัสอักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบได้
อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ปอดอักเสบ, เยื่อบุตาอักเสบ, หลอดลมอักเสบ เป็นต้น
หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว คือ โรคหอบหืด, ถุงลมโป่งพอง หากเป็นไข้หวัดอาจจะทำให้มีอาการหอบเหนื่อยรุนแรง
แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และอาการเบื้องต้น แต่อาจจะมีการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา, ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตัวอื่น
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะมีวิธีการตรวจ ดังนี้
การจำแนกเชื้อไวรัสจากไม้ป้ายคอ
การตรวจหาโปรตีนแอนติเจนของเชื้อไวรัส
การดูดน้ำจากหลังโพรงจมูก
วิธีการรักษาโรคนี้ คือ การคอยดูแลให้อาการบรรเทาลงตามขั้นตอนจนหายเป็นปกติ โดยมีวิธีการดูแลร่างกาย ได้แก่
การพักผ่อนให้เพียงพอ
หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้ร่างกายหนัก
ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
การรับประทานยาตามแพทย์สั่ง และหากมีอาการรุนแรงตามที่กล่าวมาข้างต้น ให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และควรดูแลอย่างใกล้ชิด
โรคนี้สามารถเป็นได้ง่าย และการป้องกันอาจทำได้ยากแต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถป้องกันได้เลย ซึ่งหลัก ๆ แล้วเราสามารถหลีกเลี่ยงโรคนี้ได้ เช่น
การไม่เข้าใกล้ผู้ป่วย และระวังเรื่องการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
หมั่นดูแลความสะอาดของร่างกายทั้งการล้างมือเป็นประจำหลังสัมผัสสิ่งของ หรือก่อน-หลังการรับประทานอาหาร
หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
ในส่วนของผู้ป่วยนั้นต้องให้ความสำคัญกับผู้คนรอบข้าง จึงควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเสมอ และไม่เข้าไปในพื้นที่ผู้คนพลุกพล่าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไข้หวัดให้กับผู้อื่น
นอกจากนี้ การเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังสามารถมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคไข้หวัดได้ด้วยเช่นกัน ถึงแม้โรคนี้จะเป็นโรคที่ทุกคนเคยเป็น และมองว่าไม่รุนแรง แต่หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตราย และมีผลกับการใช้ชีวิตประจำวันได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ในผู้ป่วยบางคน อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
ตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ไหมนะ
ทำไมต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนถึงหน้าฝน ?
ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 โรคอันตรายที่ควรระวังในฤดูฝน