โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อย่ามองข้ามหากมีพฤติกรรมเสี่ยง

 

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ มักเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีท่อปัสสาวะที่สั้นและอยู่ใกล้ช่องคลอดกับทวารหนัก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่าย นอกจากนี้พฤติกรรมบางอย่างที่สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ เช่น การกลั้นปัสสาวะ และการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

 

 

สาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

กลั้นปัสสาวะ

 

 

  • การทำความสะอาดทวารหนักก่อนทำความสะอาดอวัยวะเพศ

 

  • การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

 

  • การใช้ยาปฏิชีวนะสวนล้างทำความสะอาดช่องคลอด  จะทำให้เชื้อแบคทีเรียชนิดดีที่ป้องกันเชื้อโรคหายไป จึงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย

 

  • การรับประทานยากดภูมิต้านทาน

 

  • การใช้เครื่องมือแพทย์สอดใส่ท่อปัสสาวะ เช่น การใส่สายสวนปัสสาวะ, การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ เป็นต้น

 

 

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีอาการอย่างไร?

 

  • ปัสสาวะกะปริบกะปรอยบ่อยครั้ง แม้กระทั่งการตื่นนอนมาปัสสาวะในตอนกลางคืน

 

  • ร่างกายอ่อนเพลีย, มีไข้สูงหรือต่ำ

 

ปวดท้องน้อย

 

 

 

  • มีอาการเจ็บหรือเสียวที่ปลายหลอดปัสสาวะ เมื่อปัสสาวะเสร็จ

 

  • หากเกิดขึ้นในเด็กเล็ก อาจมีการปัสสาวะรดที่นอน, มีไข้, อาเจียน และเบื่ออาหารได้ 

 

 

เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

  • เอสเชอริเชีย โคไล หรือ อีโคไล (Escherichia coli : E.coli) 

 

  • เอนเทอโรแบกเตอร์ (Enterobacter)

 

  • สูโดโมแนส (Pseudomonas)

 

  • เคล็บซิลลา (Klebsiella) 

 

โดยเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้มักจะอยู่บริเวณรอบทวารหนัก สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากพฤติกรรม เช่น การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด, การทำความสะอาดหลังจากขับถ่ายอุจจาระผิดวิธี และการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

  • ในแต่ละวันมีการดื่มน้ำน้อย และชอบกลั้นปัสสาวะนาน

 

วัยหมดประจำเดือน

 

  • สตรีวัยหมดประจำเดือน

 

  • ผู้สูงอายุเพศชาย 50 ปีขึ้นไป ที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

 

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน, นิ่ว, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น 

 

  • สตรีที่มีการสวนล้างช่องคลอดบ่อย

 

  • ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อย ๆ 

 

 

การวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะ 

 

แพทย์จะมีการซักถามประวัติผู้ป่วย และตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจปัสสาวะโดยการส่งเพาะเชื้อ เพื่อดูว่ามีเม็ดเลือดแดงและขาวที่ปนออกมากับปัสสาวะหรือไม่ สีกับความเข้มข้นของปัสสาวะเป็นอย่างไร นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีประวัติการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะบ่อย ๆ แพทย์อาจพิจารณาตรวจอัลตราซาวด์หรือการส่องกล้องที่กระเพาะปัสสาวะว่ามีความผิดปกติหรือไม่

 

 

การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

  • การให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 3-5 วัน แต่ถ้าหากอาการรุนแรงต้องเพิ่มระยะเวลาในการรับยาปฏิชีวนะประมาณ 7-10 วัน

 

  • รับประทานยาที่มีการลดปวดเกร็งที่ท้องน้อย จะช่วยให้อาการปวดที่บริเวณท้องน้อยดีขึ้น

 

  • แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำประมาณ 8 - 10 แก้วต่อวัน เพื่อให้เชื้อแบคทีเรียถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ

 

 

วิธีป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

ดื่มน้ำให้เพียงพอ

 

  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน โดยเฉพาะหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ จะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะออกมา

 

  • ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ

 

  • การใช้ฝักบัวอาบน้ำแทนการอาบในอ่าง ช่วยลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย

 

  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศก่อน จึงค่อยทำความสะอาดทวารหนัก เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียจากทวารหนักแพร่กระจายไปยังอวัยวะเพศ

 

  • ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอวัยวะเพศสูตรอ่อนโยน แทนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมี และน้ำหอม

 

  • เลือกใช้ชุดชั้นในที่มีเนื้อผ้าระบายได้ดี ลดความอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศ

 

  • พยายามควบคุมอาการของโรคประจำตัวให้เป็นปกติมากที่สุด 

 

  • ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ดื้อยาได้ง่าย หากมีความประสงค์จะรับประทานยา ควรปรึกษาหรือรับประทานยาภายใต้คำกำกับของแพทย์เท่านั้น

 

 

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามอย่างมาก ยิ่งกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค ทางที่ดีควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรง และปราศจากโรคภัยเหล่านี้เสมอ หากท่านใดมีอาการเข้าข่ายว่าตนเองจะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย รักษา และรับคำแนะนำในการปรับพฤติกรรมตนเองต่อไป



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ไลฟ์สไตล์กับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง

 

ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง