ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก ภัยร้ายสุดอันตรายที่ควรระวังเมื่อเข้าสู่หน้าฝน

 

เริ่มเข้าสู่ปลายฤดูร้อน ต้นฤดูฝนกันแล้ว โรคร้ายที่มาพร้อมกับฝน นอกจากการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ คือ ไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever) ที่มักเกิดขึ้นในประเทศเขตร้อน รวมถึงประเทศไทย ซึ่งโรคนี้มีทั้งความรุนแรง, เป็นอันตรายต่อเด็ก    และผู้ที่ยังไม่เคยติดโรคนี้อย่างมาก

 

 

ทำไมจึงควรระวังไข้เลือดออกในฤดูฝน

 

 

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เดงกี (Dengue) เมื่อยุงลายกัดคนที่มีไวรัสชนิดนี้แล้ว ยุงจะนำไวรัสมาไว้กับตัว และเมื่อไปกัดใครต่อ เชื้อไวรัสที่อยู่ในตัวจะแพร่กระจายสู่ผู้อื่นต่อไป จึงนับได้ว่าเป็นโรคติดต่อจากยุงสู่คน

 

 

น้ำขังตามพื้นที่ต่าง ๆ

 

 

สาเหตุที่เราควรระวังโรคนี้ในช่วงฤดูฝน เชื่อว่าหลายคนรู้กันดีอยู่แล้ว เพราะฝนตกจะทำให้เกิดน้ำขังตามพื้นที่ต่าง ๆ เป็นผลให้ยุงลายสามารถมาวางไข่ไว้ที่ผิวน้ำ จนเกิดการแพร่กระจายของยุงลาย เท่ากับว่าฤดูฝนจะเป็นตัวช่วยทำให้ไข้เลือดออกแพร่กระจายได้ง่าย เพราะจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทยบอกไว้ว่า ผู้ป่วยส่วนมากจะอยู่ในช่วงอายุ 5-14 ปี  (อ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 6 มกราคม 2567) โดยยุงลายที่เป็นพาหะ ส่วนมากจะเป็นเพศเมียเท่านั้น และมักจะออกหากินในช่วงเวลากลางวัน

 

 

ระยะอาการของไข้เลือดออก

 

 

ระยะฟักตัว

 

 

จะใช้เวลา 8-12 วันโดยประมาณ ถึงจะสามารถแพร่เชื้อไวรัสสู่คนได้

 

 

ระยะติดต่อ

 

 

การติดต่อของไข้เลือดออกไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยตรง ต้องมียุงเป็นพาหะ ซึ่งระยะเวลาที่ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ คือ 2-6 วันหลังจากเริ่มมีอาการ หากยุงได้รับเชื้อเดงกีจากผู้ป่วยแล้ว จะใช้เวลา 8-12 วันโดยประมาณ เพื่อเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัส แล้วจึงเข้าสู่ระยะการติดต่อจากยุงสู่คน

 

 

ระยะเวลาของอาการ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ 

 

 

ระยะไข้

 

 

ระยะนี้จะอยู่ในช่วง 2-7 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจพุ่งสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ในระยะนี้ผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ และอาจมีอาการ คลื่นไส้, อาเจียน, เบื่ออาหาร, มีจุดเลือด หรือผื่นขึ้นตามผิวหนังของร่างกาย 

 

 

ระยะวิกฤต

 

 

เป็นระยะที่ควรเฝ้าระวังมากที่สุด เพราะผู้ป่วยจะเกิดอาการเพลีย, ปัสสาวะน้อย และมีอาการปวดท้อง ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการเลือดกำเดาไหล หรืออุจจาระเป็นเลือด โดยระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง แต่อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำ, มือเท้าเย็น จนนำไปสู่อาการช็อกจนถึงแก่ชีวิตได้

 

 

ระยะฟื้นตัว

 

 

อาการทุกอย่างของผู้ป่วยเริ่มดีขึ้น ความดันโลหิต, การปัสสาวะ, การรับประทานอาหาร กลับมาเป็นปกติ โดยระยะเวลาโดยรวมของไข้เลือดออกจะอยู่ที่ 7-10 วันโดยประมาณ

 

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเสี่ยงไข้เลือดออก

 

 

ไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว

 

 

สามารถสังเกตได้ด้วยตัวของเราเอง หากเรามีอาการปวดหัว หรือไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว และมีจุดสีแดงตามร่างกาย หากมีอาการในลักษณะนี้ แนะนำให้ท่านรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจเลือด, ตรวจความดันโลหิต ร่วมกับการซักประวัติ เป็นต้น

 

 

ไข้เลือดออก รักษาอย่างไร

 

 

หากพบว่าเป็นไข้เลือดออก จะต้องเข้ารับการรักษา และต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด จนกว่าอาการจะดีขึ้น และหายเป็นปกติ สำหรับโรคนี้ยังไม่มีตัวยาที่สามารถรักษาได้โดยตรง ทำได้เพียงประคับประคองตามอาการเพื่อให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติ หากผู้ป่วยมีอาการที่ไม่รุนแรง อาจหายได้เองใน 2-7 วัน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน และยากลุ่ม NSAIDs เพราะจะทำให้อาการแย่ลง ในช่วงระหว่างการรักษาผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น Dengue Shock Syndrome หรืออาการช็อกจากการเสียเลือดมาก เป็นต้น

 

 

การป้องกันไข้เลือดออก

 

 

กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

 

 

  • คอยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำ และยุงลายภายใน หรือบริเวณใกล้เคียงบ้าน 

 

 

  • ทำความสะอาดบ้านให้ปลอดโปร่ง พยายามอย่าให้มีมุมอับ เพื่อป้องกันยุงลายมาเกาะ

 

 

 

 

  • ไม่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงระบาดของไข้เลือดออก หากมีความจำเป็นต้องเดินทาง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตนเองเพิ่มเติม 

 

 

  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ในฤดูฝน 

 

 

ไข้เลือดออกอาจดูไม่อันตรายร้ายแรงกับผู้ที่เคยเป็นมาก่อน แต่สำหรับผู้อื่นเราไม่สามารถมั่นใจได้ว่า หากเป็นแล้วจะมีอาการรุนแรงหรือไม่ โดยเฉพาะเด็ก ดังนั้นเราจึงต้องดูแล และป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก, การทายากันยุง หรือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพื่อให้เรากับบุคคลภายในบ้านปลอดภัย และห่างไกลจากโรคนี้



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก

 

ชิคุนกุนยาต่างกับไข้เลือดออก

 

ไข้ซิกา ปัญหาที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ