อาหารเป็นพิษ
อาหารเป็นพิษ ความทรมานที่รบกวนการใช้ชีวิตของคุณ

 

อาหาร เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการดำเนินชีวิต ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะสามารถอยู่ได้โดยไม่รับประทานอาหาร เพราะมนุษย์อย่างเราต้องการพลังงานที่ได้จากการรับประทานอาหารสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยแหล่งอาหารของมนุษย์จะมีทั้งพืชและสัตว์ ส่วนวิธีการประกอบอาหารยังมีความหลากหลายในการใช้วัตถุดิบต่าง ๆ ที่เป็นไปตามวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่นั้น แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกายอย่างที่ควรจะเป็น มิหนำซ้ำยังมีพิษส่งผลให้ร่างกายของเราป่วยอีกต่างหาก

 

 

สาเหตุของอาหารเป็นพิษ

 

การเจ็บป่วยที่เกิดจากอาหาร เรียกว่า อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหาร, ดื่มเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนของสารพิษ, แบคทีเรีย เช่น ซาลโมเนลลา ที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาหารเป็นพิษที่พบบ่อยที่สุด, การปนเปื้อนของไวรัส เช่น โนโรไวรัส ที่มักปนเปื้อนในอาหารสด และการปนเปื้อนของปรสิต โดยอาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย และที่น่ากลัวคือ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอาหารที่เรารับประทานเข้าไปนั้นจะมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือไม่ แม้ในปัจจุบันสุขอนามัยของมนุษย์จะมีความปลอดภัยมากกว่าในอดีต แต่ยังมีการพบผู้เสียชีวิตที่เกิดจากโรคอาหารเป็นพิษกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกในทุกปี

 

 

อาหารเป็นพิษ อาการเป็นอย่างไร ?

 

อาเจียน

 

  • รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ และอาเจียนหลายครั้ง

 

  • มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็ง ซึ่งเกิดจากลำไส้บิดตัว

 

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย 

 

  • ปากแห้ง และวิงเวียนศีรษะ

 

  • ท้องร่วง ถ่ายเป็นน้ำบ่อยจำนวนเกิน 3 ครั้งต่อวัน 

 

  • หากมีอาการติดต่อกันหลายวัน หรือมีไข้สูงร่วมด้วย ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง

 

  • หากเกิดอาการกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น สตรีมีครรภ์ เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที

 

 

อาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษ มีประเภทใดบ้าง ?

 

อาหารทะเล

 

  • อาหารทะเลที่ไม่สด และส่งกลิ่นเหม็นออกมา

 

  • ส้มตำและยำ ควรหลีกเลี่ยงการกินส้มตำที่มีน้ำปลาร้าไม่ได้มาตรฐาน และยำที่ใส่อาหารทะเลดิบ

 

  • อาหารที่มีกะทิ และแป้ง เพราะเป็นอาหารประเภทที่เสียง่าย

 

  • สลัดผัก ที่มีผักสดล้างไม่สะอาดเป็นส่วนประกอบ

 

  • น้ำแข็ง เพราะมีการปนเปื้อนของฝุ่น ผง และเชื้อแบคทีเรีย

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคอาหารเป็นพิษ

 

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ท้องเสีย และอาเจียนไม่หยุด จนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดสภาวะช็อก เพราะร่างกายขาดน้ำและสารอาหารเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว นอกจากนี้เชื้อโรคบางชนิดยังสามารถมีผลต่ออวัยวะส่วนอื่นได้ด้วย เช่น เชื้ออีโคไลที่มีผลทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และไตวายได้

 

 

การวินิจฉัยอาหารเป็นพิษ

 

  • การตรวจอุจจาระ เมื่อผู้ป่วยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น เชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อปรสิต และเชื้อรา สามารถตรวจหาเชื้อได้ โดยการใช้กล้องจุลทรรศน์

 

  • การตรวจหาปริมาณแอนติบอดี้ในเลือด เพื่อตรวจหาปริมาณเกลือแร่ภายในเลือดและการทำงานของไต สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือเกิดภาวะขาดน้ำกับเกลือแร่ 

 

 

การรักษาโรคอาหารเป็นพิษ

 

  • การนอนหลับให้เพียงพอ 

 

  • พยายามดูแลให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ เช่น การดื่มน้ำผสมเกลือแร่โดยการจิบเพียงครั้งละเล็กน้อยตลอดทั้งวัน จะช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียออกไปจากการถ่ายอุจจาระ และทำให้ร่างกายมีเรี่ยวแรง ฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น

 

  • รับประทานยา การรับประทานยาแก้ท้องเสียเหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก แต่ห้ามรับประทานยาที่ทำให้หยุดถ่ายโดยเด็ดขาด ถ้าหากมีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้ร่วมด้วย

 

อาหารย่อยง่าย

 

  • รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เมื่ออาการดีขึ้นควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย และย่อยง่าย โดยเริ่มรับประทานในปริมาณน้อยก่อนเพื่อป้องกันการอาเจียน 

 

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารคาเฟอีน

 

  • หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์จะให้น้ำเกลือ ผ่านทางหลอดเลือด รวมทั้งอาจให้ยาปฏิชีวนะ หรือยาบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย

 

โดยปกติแล้ว หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง จะสามารถหายได้เองภายใน 24 - 48 ชั่วโมง

 

 

การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ

 

  • ควรล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เพราะเชื้อโรคอาจจะไม่ได้มาจากอาหารเพียงอย่างเดียว

 

  • แม้เราจะไม่สามารถเข้าไปควบคุมวิธีการประกอบอาหารของสถานประกอบการได้ แต่เราสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ได้ เพราะความร้อนจะช่วยฆ่าเชื้อได้ส่วนหนึ่ง

 

เก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม

 

  • เก็บรักษาอาหารไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่วางอาหารทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง เพราะเป็นอุณหภูมิที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และให้นำมาอุ่นเมื่อต้องการรับประทานใหม่

 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพราะหากร่างกายอ่อนแอจะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ง่าย

 

การรักษาสุขอนามัยทั้งของตัวเอง และคนรอบข้างให้ปลอดภัยจากโรคอยู่เสมอเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพื่อให้ร่างกายของเราไม่เกิดการเจ็บป่วยจนต้องเสียทั้งสุขภาพ และเงินทองในเวลาเดียวกัน หากมีท่านใดมีอาการเข้าข่ายเสี่ยงอาหารเป็นพิษ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และดำเนินการรักษาต่อไป



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

โปรแกรมส่องกล้องโรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้

 

จุลินทรีย์ในอาหาร มีทั้งประโยชน์และผลกระทบ ร้อนนี้โปรดระวัง

 

อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อันตรายจริงหรือ พร้อมเคล็ดลับการบริโภค

 

น้ำเกลือแร่ ร้อนนี้ดื่มดีไหมนะ