โรคหัวใจ
โรคหัวใจ

โรคหัวใจ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย เนื่องจากคนมีพฤติกรรมเสี่ยงกันมากขึ้น ทั้งการรับประทานอาหาร การไม่ดูแลสุขภาพร่างกาย แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ เพราะอาการบางอย่างอาจจะคล้ายคลึงกับหลายโรค ดังนั้นเราจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ รวมถึงการป้องกัน เพื่อสำรวจตัวเองว่ามีความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั่นเอง

 

เอ๊ะ อาการแบบนี้เราเป็นโรคหัวใจหรือเปล่านะ

 

อาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจมีดังนี้

  • เจ็บแน่นบริเวณหน้าอกข้างซ้าย หรือทั้งสองด้าน บางรายอาจมีอาการเจ็บร้าวไปถึงแขนซ้าย หรือแขนทั้งสองข้าง
  • มักมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเวลาเคลื่อนไหวร่างกายที่ต้องใช้กำลังมาก หรือขณะออกกำลังกาย เช่น การเดินขึ้นบันได โดยอาการดังกล่าวจะดีขึ้นหลังหยุดออกกำลัง
  • รู้สึกหอบ หรือเหนื่อยง่ายมากกว่าปกติ ใจสั่น ใจเต้นเร็วผิดปกติ รู้สึกบ้านหมุน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม สายตาพร่าเบลอ โดยอาการจะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่งแล้วจะหายไปเอง
  • ขาบวม เพราะหัวใจด้านขวาทำงานลดลง เลือดจึงไหลจากขาไปที่หัวใจได้ไม่สะดวกจนทำให้เกิดเลือดค้างอยู่บริเวณขานั่นเอง

 

ประเภทของโรคหัวใจที่สำคัญ

 

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะที่กระแสไฟฟ้าในหัวใจไม่สามารถผ่านทั่วหัวใจได้อย่างปกติทำให้หัวใจเต้นเร็ว หรือช้ากว่าปกติ บางรายอาจมีอาการแต่ไม่เป็นอันตราย
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ มี 3 ชนิด ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา โรคกล้ามเนื้อหัวใจถูกบีบรัด
  • โรคลิ้นหัวใจ เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่มีขนาดผิดปกติ หรือทำงานเสื่อมสภาพลง

 

สาเหตุของโรคหัวใจ

 

ในกลุ่มของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมักจะเกิดจากสาเหตุการมีก้อนไขมัน หรือมีก้อนลิ่มเลือดไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดแดงในหัวใจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อวัยวะต่าง ๆ ได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น นอกจากนี้โรคหัวใจอาจเกิดจากสาเหตุการติดเชื้อ หรือได้รับสารพิษบางอย่าง รวมไปถึงการได้รับถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา เป็นต้น

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ

 

  • อายุ ผู้ที่มีอายุมากขึ้น อวัยวะภายในร่างกายต่าง ๆ จะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ
  • กรรมพันธุ์ โรคหัวใจบางชนิดสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นหากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย
  • พฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ สารพิษในบุหรี่จะมีผลทำให้หลอดเลือดหัวใจเกิดความผิดปกติ การรับประทานอาหารที่ประกอบไปด้วยไขมัน เกลือ น้ำตาล หรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอล สูง และการไม่ออกกำลังกายเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ
  • ความเครียด มีผลต่อหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ คือ ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทซิมพาเทติก โดยจะเร่งให้เกิดการทำลายชั้นเซลล์ของผนังหลอดเลือดแดง นอกจากนี้ความเครียดฉับพลันยังมีผลอย่างมากต่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะอีกด้วย

 

การตรวจวินิจฉัยหัวใจ

 

การตรวจหัวใจด้วยเครื่อง EST คือ วิธีการทดสอบสมรรถภาพของหัวใจ โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายต่าง ๆ เช่น วิ่งบนลู่วิ่ง หรือการตรวจวิ่งสายพาน และปั่นจักรยาน วิธีดังกล่าวจะเป็นการสร้างแรงเค้นต่อกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อตรวจสอบว่า ขณะที่ร่างกายกำลังออกกำลังอย่างหนักนั้นหัวใจมีภาวะขาดเลือดหรือไม่ เพราะขณะออกกำลังหัวใจจะต้องการเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยง หากมีเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอจะส่งผลให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก ความดันเลือดลดลง และหัวใจเต้นผิดปกติ
 

 

EST

 


การตรวจหัวใจด้วยเครื่อง ECHO คือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram หรือ Echocardiography) ใช้หลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่ปลอดภัย โดยปล่อยคลื่นเสียงจากหัวตรวจ (Transducer) ซึ่งดูคล้ายไมโครโฟนผ่านผนังทรวงอกเข้าไปถึงหัวใจ เมื่อคลื่นเสียงผ่านอวัยวะต่าง ๆ ก็จะเกิดการสะท้อนกลับที่แตกต่างกันระหว่างน้ำกับเนื้อเยื่อ คอมพิวเตอร์จะนำสัญญาณเหล่านั้นมาแปลงเป็นภาพแสดงบนหน้าจอ

 

echo

 

การรักษาหัวใจ

 

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคหัวใจ เช่น อาหารที่มีไขมันสูง เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังเพื่อสุขภาพ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • การใช้ยา บางรายที่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะจ่ายยาเพื่อควบคุม และบรรเทาอาการของโรค โดยยาที่ให้นั้นจะแตกต่างไปตามประเภท และอาการของผู้ป่วย
  • การผ่าตัด การรักษาด้วยวิธีนี้จะขึ้นอยู่กับชนิดโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจของผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ เป็นต้น

 

ดูแลสุขภาพอย่างไรให้ห่างไกลโรคหัวใจ

 

  • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายได้
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักการจัดการความเครียด ควรหากิจกรรมที่ชื่นชอบ หรือผ่อนคลายความเครียดได้
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม เกินไป ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากใย
  • ตรวจเช็กสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น ควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

ดูแลหัวใจ

 

การออกกำลังกายสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ หรือผู้ที่มีความเสี่ยง

 

แม้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจจะไม่สามารถออกแรงหนัก ๆ ได้ แต่การออกกำลังกายบางท่าสามารถทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจได้ดี ซึ่งเป็นผลดีสำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ โดยวิธีการออกกำลังกายมีดังนี้

  • การเดินเร็ว เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอายุมาก เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงจนเกินไป
  • แอโรบิก ทำให้ได้รับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงยังอวัยวะอื่นได้ดีขึ้นด้วย
  • การวิ่ง ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจได้ออกแรงมากขึ้น ลดความเครียด และช่วยให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้นด้วย
  • การว่ายน้ำ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง และเกิดความยืดหยุ่นได้ดี
  • การเล่นเทนนิส กล้ามเนื้อมีการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่จึงทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น

 

โรคหัวใจเป็นโรคที่สามารถสังเกตอาการได้ด้วยตนเอง หากพบว่าตนเองมีอาการ หรือมีความเสี่ยงเข้าข่ายเป็นโรคหัวใจควรรีบเข้าพบแพทย์ หรือตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรค และทำการรักษาต่อไป

_____________________________________

บทความที่เกี่ยวข้อง

_____________________________________

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง