โรคงูสวัด
โรคงูสวัด ภัยแฝงอันตรายที่เกิดได้กับทุกคน

 

โรคงูสวัด เป็นโรคที่เรามักได้ยินบ่อยครั้ง และมีความเชื่อเกี่ยวกับโรคนี้ว่าอันตราย เพราะหากมีตุ่มลุกลามขึ้น จนพันรอบเอวหรือรอบร่างกายแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทันที มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกกลัวโรคนี้ จนถึงขั้นเมื่อเป็นแล้วต้องหันไปพึ่งการรักษาทางไสยศาสตร์ แต่สิ่งที่เรารู้ และเคยได้ยินมานั้นอาจเป็นความเชื่อที่ผิด ดังนั้นเรามารู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า

 

 

โรคงูสวัดเป็นอย่างไร ?

 

โรคงูสวัด (Herpes Zoster) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella Zoster Virus (VZV) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกันกับโรคอีสุกอีใส เมื่อเป็นอีสุกอีใสแต่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว เชื้อไวรัสนี้จะยังคงอยู่ในร่างกาย โดยแฝงอยู่ภายในปมประสาท เมื่อภูมิต้านทานของเราลดลง เชื้อไวรัสที่ซ่อนอยู่ในร่างกายจะเพิ่มจำนวนขึ้น และออกมาทางเส้นประสาท โดยจะแสดงออกมาในรูปแบบของผื่น หรือตุ่มน้ำใส ซึ่งจะเรียงตัวเป็นแนวยาวตามเส้นประสาทคล้ายกับงู โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักจะเกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน

 

 

อาการของโรคงูสวัด

 

อาการของโรคงูสวัด สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

 

  • ระยะที่ 1 เป็นช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง เชื้อไวรัสจึงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดแสบปวดร้อน โดยหาสาเหตุไม่ได้

 

 

อาการงูสวัด

 

 

  • ระยะที่ 2 เมื่อมีอาการแสบร้อนโดยหาสาเหตุไม่ได้ประมาณ 2-3 วัน จะเริ่มปรากฏผื่นแดงขึ้น และกลายเป็นตุ่มน้ำใสเรียงตัวกันเป็นแนวยาวตามเส้นประสาทของร่างกาย เช่น ตามความยาวของแขน รอบเอวและหลัง ใบหน้า รอบดวงตา ต้นขา เป็นต้น ต่อมาตุ่มน้ำใสนั้นจะแตกออกเป็นแผลและตกสะเก็ด จะสามารถหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ และอาจมีไข้ร่วมด้วย

 

  • ระยะที่ 3 แม้แผลจะหายดีแล้ว แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังคงมีอาการปวดแสบปวดร้อนอยู่ตามรอยของแผลที่เกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจเกิดอาการปวดประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด ซึ่งจะปวดต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือนหลังจากที่ตุ่มใสเริ่มเกิดขึ้น

 

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดงูสวัด

 

  • เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน

 

  • ผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป

 

  • เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

 

เบาหวาน

 

 

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคไต เป็นต้น

 

 

 

งูสวัด อีสุกอีใส และเริมแตกต่างกันอย่างไร ? 

 

แม้โรคงูสวัดกับอีสุกอีใสจะเกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน แต่อาการที่แสดงออกมาจะแตกต่างกัน คือ โรคงูสวัดจะเกิดตุ่มนูนที่เรียงตัวเป็นกลุ่ม หรือเป็นแถวยาวตามแนวของเส้นประสาท และจะไม่กระจายทั่วตัวเหมือนตุ่มของอีสุกอีใส ถ้าเป็นเริมตุ่มน้ำใสจะขึ้นทีละเล็กน้อยเป็นกลุ่ม ซึ่งอาจมีแค่อาการแสบหรือคัน แต่สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ที่บริเวณเดิมหรือบริเวณใกล้เคียง

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด

 

  • ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย คือ โรคปวดตามเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเส้นประสาทอยู่ตลอดเวลา อาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือรุนแรงจนถึงขั้นเป็นถาวรหลังจากผื่นหาย

 

  • ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณผิวหนังจนเกิดแผลเป็น, อาการงูสวัดขึ้นตา, ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น เป็นต้น

 

  • ภาวะแทรกซ้อนอื่น แม้พบไม่บ่อยแต่มีอาการที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, เนื้อหุ้มสมองตาย หรือใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก

 

 

ความเชื่อเกี่ยวกับโรคงูสวัด 

 

หากงูสวัดพันรอบเอว หรือรอบตัวแล้วจะเสียชีวิตจริงหรือไม่ ?

 

 

งูสวัดพันรอบเอว

 

 

เป็นความเชื่อตั้งแต่อดีตว่าหากเป็นงูสวัด แล้วผื่นที่ขึ้นนั้นพันรอบเอว หรือรอบตัว จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทันที ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะแท้จริงแล้ว แนวเส้นประสาทของคนเราจะสิ้นสุดอยู่ที่กึ่งกลางลำตัว จึงพบว่าสามารถเป็นงูสวัดได้เพียงครึ่งหนึ่งของลำตัวเท่านั้น แต่ที่ความเชื่อเป็นเช่นนั้น อาจเพราะในสมัยโบราณยังไม่มีการคิดค้นยาฆ่าเชื้อไวรัส ทำให้ผู้ที่เป็นงูสวัดหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง โรคเอดส์ หรือHIV ผู้สูงอายุ เป็นต้น หากเกิดภาวะติดเชื้องูสวัด จะลุกลามไปยังเส้นประสาททั่วร่างกาย ทำให้มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ง่าย แต่การเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดจากอวัยวะภายในล้มเหลว ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคงูสวัด

 

งูสวัดสามารถรักษาได้ด้วยการเป่ายาจริงหรือ ? 

 

นอกจากความเชื่อเรื่องงูสวัดพันรอบเอว หรือรอบตัวแล้วจะเสียชีวิต ยังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ว่าหากเป็นโรคงูสวัด จะต้องรักษาโดยการให้หมอผีเป่ายาใส่ ซึ่งการเป่ายาส่วนใหญ่จะเป็นการพ่นน้ำมนต์ลงบนผิวหนังที่เป็นแผล แต่วิธีการรักษาโรคดังกล่าวจะยิ่งทำให้เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรีย เพราะผิวหนังบริเวณที่เป็นงูสวัดนั้นจะมีรอยปริของแผล ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ และอาจส่งผลให้ติดเชื้อจนเป็นหนอง หรือแผลหายช้ากว่าเดิมอีกด้วย ความเชื่อนี้จึงผิดนั่นเอง

 

 

การวินิจฉัยโรคงูสวัด

 

แพทย์จะซักถามประวัติผู้ป่วย ว่าเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนหรือไม่ จากนั้นจะทำการตรวจร่างกายของผู้ป่วยว่ามีผื่นหรือตุ่มน้ำเกิดที่บริเวณใด และอาจมีการนำเนื้อเยื่อ หรือน้ำของเหลวในตุ่ม ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

 

 

การรักษาโรคงูสวัด

 

  • การรักษาตามอาการ เช่น หากมีอาการปวด แพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการปวด ถ้าตุ่มติดเชื้อจนกลายเป็นหนอง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

 

  • ให้ยาต้านไวรัส หากผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์จะให้รับประทานยาต้านไวรัส เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น โดยผู้ป่วยควรได้รับยาภายใน 72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ

 

  • ให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เป็นวิธีรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคHIVหรือเอดส์ เป็นต้น

 

  • การประคบแผลด้วยน้ำเกลือ ครั้งละ 10 นาที จำนวน 3 - 4 ครั้ง/วัน จะทำให้แผลแห้งเร็วขึ้น

 

  • การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคงูสวัด

 

  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นตา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ต้องได้รับการรักษาร่วมกับจักษุแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดทาน และยาหยอดตาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา

 

 

การป้องกันโรคงูสวัด

 

 

ออกกำลังกาย

 

 

  • จัดการความเครียด ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอเพื่อไม่ให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

 

  • ผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เพื่อลดโอกาสการเกิดและความรุนแรงของโรคได้ 

 

  • หากยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดและไม่ควรสัมผัสแผลของผู้ป่วยโรคงูสวัด

 

 

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

 

ปัจจุบัน มีวัคซีนอยู่ 2 ชนิด ดังนี้

 

วัคซีนป้องกันงูสวัดชนิดซับยูนิตวัคซีน (ไม่ใช่เชื้อเป็น) Recombinant subunit zoster vaccine (RZV)

 

  • ผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรฉีด 2 เข็ม ระยะเวลาห่างกัน 2 - 6 เดือน 

 

  • หากเป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงของการเกิดโรคมากกว่าปกติ ควรฉีด 2 เข็ม ระยะเวลาห่างกัน 1 - 2 เดือน

 

วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ Live-attenuated zoster vaccine (ZVL) 

 

  • สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อาจพิจารณาให้ฉีดวัคซีนชนิด ZVL ขนาด 0.65 มล. จำนวน 1 เข็ม

 

  • ห้ามให้วัคซีนชนิดนี้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง 

 

 

ผู้ที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด มีใครบ้าง ?

 

 

ผู้ที่ควรฉีดวัคซีน

 

 

  • ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป

 

สำหรับบุคคลในกลุ่มเหล่านี้ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาก่อนได้รับวัคซีน เช่น

 

  • หญิงตั้งครรภ์

 

  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดอยู่

 

  • ผู้ที่มีประวัติการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง

 

 

โรคงูสวัดเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ในปัจจุบันเราสามารถป้องกันโรคนี้ได้ง่าย ๆ ด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป หากมีผู้ป่วยท่านใดที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการฉีดวัคซีน เช่น แพ้ส่วนประกอบวัคซีน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาก่อนได้รับการฉีดวัคซีน



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ศูนย์ตรวจสุขภาพ

 

อีสุกอีใส ตุ่มสุกที่ทำให้เราไม่รู้สึกสุข

 

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) ความผิดปกติทางเส้นประสาทที่ไม่ควรปล่อยผ่าน