ป้องกันโนโรไวรัส โรคระบาดในเด็กที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี
ป้องกันโนโรไวรัส โรคระบาดในเด็กที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี

เชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) เป็นสาเหตุของโรคระบาดในเด็กที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว มักมีอาการติดเชื้อท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียนอย่างรุนแรง สามารถเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ดังนั้นควรป้องกันโนโรไวรัส สำหรับครอบครัวที่มีลูกน้อยในวัยเด็ก

 

 

 โนโรไวรัส คืออะไร

 

โนโรไวรัส (Norovirus) คือ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร มีคุณสมบัติทนทานต่อความร้อน สามารถระบาดได้ง่าย ในเวลาอันรวดเร็ว แม้ว่าจะได้รับเชื้อเพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยเฉพาะในสภาพอากาศที่หนาวเย็น และมักจะติดต่อจากการปนเปื้อนในอาหาร และน้ำดื่ม

 

 

การติดต่อ และแพร่กระจายของเชื้อโนโรไวรัส

 

เชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) สามารถติดต่อกันได้หลายทาง ได้แก่

 

  • การปนเปื้อนของเชื้อโนโรไวรัสในอาหาร และน้ำดื่ม เช่น อาหารที่ปรุงไม่สุก และไม่สะอาด

 

  • การสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง

 

  • การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัส เช่น ของเล่น หรือดินสอสีที่เด็กมักจะเผลอหยิบเข้าปาก

 

นอกจากการสัมผัสสิ่งของ และอาหาร เชื้อโนโรไวรัส ยังสามารถแพร่กระจาย และติดต่อกันผ่านลมหายใจ และทางอากาศ เช่นการหายใจร่วมกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัส

 


 

อาการเมื่อติดเชื้อโนโรไวรัส

 

ในช่วง 24 – 48 ชั่วโมง หลังจากเชื้อโนโรไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะไปอยู่ในลำไส้เล็กส่วนต้น มักจะมีอาการดังนี้

 

  • ปวดท้อง

 

  • คลื่นไส้

 

  • อาเจียน

 

  • อุจจาระเหลวเป็นน้ำ

 

  • อ่อนเพลีย

 

  • เป็นไข้ต่ำๆ

 

  • ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามร่างกาย

 

 

โนโรไวรัส

 

 

การรักษาเมื่อติดเชื้อโนโรไวรัส

 

ในขั้นแรกแพทย์จะเก็บตัวอย่างอุจจาระของผู้ติดเชื้อ เพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ และรักษา ดูแลตามอาการที่เกิดขึ้น

 

  • หากอาการไม่รุนแรงก็ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ

 

  • หากมีการอาเจียน ท้องเสีย ก็ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม และให้ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้อาเจียน

 

ในกรณีอาการรุนแรง  มีความเสี่ยงต่อภาวะร่างกายขาดน้ำ อาจจะเกิดการช็อก ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ ในกรณีนี้ต้องได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

 

การป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส

 

  • ล้างมือด้วยสบู่ และน้ำสะอาดก่อนทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันบ่อยๆ เช่น ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนเปลี่ยนผ้าอ้อม เป็นต้น

 

  • ล้างวัตถุดิบอาหารให้สะอาด เช่น ทำความสะอาดผัก และผลไม้

 

  • ปรุงอาหารให้สุก และถูกสุขอนามัยก่อนรับประทาน โดยเฉพาะอาหารทะเล เช่น หอยนางรม

 

  • หลีกเลี่ยงดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่ไม่สะอาด

 

  • หลีกเลี่ยงการหยิบจับสิ่งของ และอาหารให้ผู้อื่น ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน

 

 

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน หรือยาตัวใดที่รักษาที่ป้องกันเชื้อโนโรไวรัสได้โดยเฉพาะ ดังนั้นบุคลากรในโรงเรียน สถานที่รับเลี้ยงเด็ก และครอบครัวที่มีลูกน้อยในวัยเด็ก จะต้องดูแลสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยให้เด็กในความดูแลของท่านห่างจากเชื้อโนโรไวรัสได้