ออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตที่ชาวออฟฟิศต้องระวัง

 

พนักงานออฟฟิศ โดยส่วนมากล้วนมีพฤติกรรมในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การนั่งหลังค่อม นั่งทำงานหน้าจอคอมนาน ๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ หรือมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ สูงเกินไป จนส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกาย ซึ่งพฤติกรรมที่เราทำอยู่ทุกวัน อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกาย และอาจเกิดโรคที่เรียกว่า ออฟฟิศซินโดรม ขึ้นได้

 

 

ออฟฟิศซินโดรมเป็นอย่างไร ?

 

เกิดจากอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) มักพบได้บ่อยในคนทำงานออฟฟิศ เพราะเป็นการทำงานที่ต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ หรือการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกันหลายชั่วโมงต่อวัน หรืออยู่ในท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป โดยไม่ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ, ยืนหลังค่อม, ไหล่ห่อ, ก้มคอมากเกินไป เป็นต้น ซึ่งอาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง และอาจส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ, ระบบนัยน์ตา, ระบบการย่อยอาหาร และการมองเห็นได้อีกด้วย

 

 

สาเหตุของการเกิดออฟฟิศซินโดรม

 

  • สภาพแวดล้อม อุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสมกับโครงสร้างร่างกายของผู้ทำงาน เช่น โต๊ะ, เก้าอี้ที่ใช้ทำงานสูงหรือต่ำจนเกินไป เป็นต้น

 

  • สภาพร่างกายและจิตใจ เช่น ความเครียดจากการทำงาน, การพักผ่อนไม่เพียงพอ, การได้รับสารอาหารไม่ครบ หรือทานอาหารไม่ตรงเวลา สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วยได้ด้วย

 

  • การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือการก้มดูสมาร์ตโฟนในการทำงานเป็นระยะเวลานาน

 

นั่งหลังค่อม

 

  • พฤติกรรมท่าทางของแต่ละบุคคล เช่น การนั่งไขว่ห้าง, การนั่งและยืนหลังค่อม, คอยื่น เป็นต้น 

 

  • ทำงานที่ต้องใช้แรงเป็นประจำ เช่น การยกของหนัก, การแบกสิ่งของหรือวัสดุ, การสะพายกระเป๋าหนัก เป็นต้น

 

 

อาการของออฟฟิศซินโดรม

 

  • ปวด เมื่อยล้า ตึงบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอ, สะบัก, บ่า, ไหล่ หรือหลัง 

 

  • มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง, ไมเกรน, หูอื้อ

 

ปวดตา

 

  • ปวดตา, ตาแห้งและพร่ามัว

 

  • นอนไม่หลับ, พักผ่อนไม่เพียงพอเนื่องจากความเครียด

 

  • ปวดตึงที่ขาและมีอาการเหน็บชา

 

  • มีอาการปวดข้อมือ, มือชา, นิ้วล็อก 

 

  • ปวดตึงสะโพก

 

 

กลุ่มเสี่ยงของออฟฟิศซินโดรม

 

  • พนักงานออฟฟิศ 

 

  • ผู้ที่ประกอบอาชีพใช้แรงงาน

 

  • นักกีฬา 

 

  • แม่บ้าน 

 

  • นักศึกษา

 

  • ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ เช่น อาชีพฟรีแลนซ์ เป็นต้น

 

 

โรคที่เกิดจากออฟฟิศซินโดรม

 

เอ็นข้อมืออักเสบ

 

  • เอ็นข้อมืออักเสบ 

 

  • นิ้วล็อก 

 

  • พังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ

 

  • โรคความดันโลหิตสูง 

 

  • โรคเครียด อาจส่งผลให้เกิดไมเกรนและปวดศีรษะเรื้อรังได้ 

 

  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

  • โรคอ้วน

 

 

  • ต้อหิน หรือตาพร่ามัว 

 

 

การรักษาออฟฟิศซินโดรม

 

  • การรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น หากอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำกายภาพบำบัดในการรักษาต่อไป

 

  • การทำกายภาพบำบัด เป็นการรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก และยังเป็นการประเมินโครงสร้างร่างกาย หรือช่วยปรับร่างกายให้เกิดความสมดุล รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ ที่อาจเกิดตามมาได้ในระยะยาว

 

  • การฝังเข็ม ช่วยระงับการปวด ทำให้กล้ามเนื้อคลายจุดปวด และยังช่วยปรับสมดุลของอวัยวะให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติ

 

นวดแผนไทย

 

  • การนวดแผนไทย 

 

 

การป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรม

 

  • ออกกำลังกาย เพื่อยืดกล้ามเนื้อให้เกิดความยืดหยุ่น และเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ, การออกกำลังกายแบบเสริมสร้างกล้ามเนื้อ หรือการออกกำลังกายแบบยืดเหยียด เป็นต้น

 

  • ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา หรือปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้สามารถนั่งทำงานในท่าที่สบาย เป็นต้น

 

  • พักการใช้งานกล้ามเนื้อ เช่น ในระหว่างทำงานควรมีการเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างน้อยทุก ๆ 1 ชั่วโมง

 

  • เปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน โดยยึดหลัก “10-20-60” คือ การพักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุก 10 นาที, การลุกออกไปเดินเล่นหรือเปลี่ยนอิริยาบถเมื่อทำงานครบ 20 นาที, เมื่อครบ 60 นาที ให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและแขน โดยการบริหารต้นคอ สะบัก ไหล่ แขน มือ เอว หลัง และขา

 

เข้าพบแพทย์

 

  • หากมีอาการปวดมากผิดปกติ หรือปวดเรื้อรัง ควรเข้าพบแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อวินิจฉัยอาการที่เกิดขึ้น และรับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี

 

โรคออฟฟิศซินโดรม เป็นโรคที่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมในที่ทำงาน และไม่ควรปล่อยปละละเลยหากเกิดสัญญาณเตือนของอาการ การดูแลสุขภาพของตนเองตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้ หากมีชาวออฟฟิศท่านใดที่มีอาการปวดตามอวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติเกิดขึ้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

เวชศาสตร์ฟื้นฟู

 

เอ็นข้อมืออักเสบ ระวังไว้โรคใกล้ตัว

 

นิ้วล็อก หนึ่งในโรคยอดฮิตของเหล่ามนุษย์ออฟฟิศ

 

พังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือคืออะไร

 

กล้ามเนื้ออักเสบ อาการอันตรายที่ท่านไม่ควรละเลย