รองช้ำ
ปวดส้นเท้าควรระวัง เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรครองช้ำ

 

โรครองช้ำ หรือโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar Fasciitis) คือ ภาวะที่เกิดจากการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้า ทำให้มีอาการปวดส้นเท้า และฝ่าเท้า มักจะเกิดจากการใส่รองเท้าส้นสูง หรือการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักบริเวณเท้าหนักกว่าปกติ  โรครองช้ำจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว ก่อนที่จะกลายเป็นอาการเรื้อรัง และสร้างความทรมานในการใช้ชีวิตประจำวันได้

 

 

สาเหตุของการเกิดโรครองช้ำ

 

  • ภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ จะทำให้การเดินเกิดแรงกดที่ฝ่าเท้ามาก ส่งผลให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้

 

  • การยืนเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นฝ่าเท้ารองรับน้ำหนักมากกว่าปกติ

 

วิ่งบนพื้นแข็ง

 

  • การใช้งานฝ่าเท้า และส้นเท้าที่มากเกินไป เช่น การวิ่งที่หักโหมจนเกินไป, การวิ่งบนพื้นแข็ง, การเพิ่มระยะการเดิน เป็นต้น 

 

  • สวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสมกับเท้า เช่น การใส่รองเท้าส้นสูง, การใส่รองเท้าที่หลวม หรือคับแน่นจนเกินไป, การสวมรองเท้าที่พื้นด้านในหนา หรือบางเกินไป 

 

  • อาการของโรคต่างๆ เช่น เอ็นร้อยหวายยึด, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

 

  • ปัจจัยทางโครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบน หรืออุ้งเท้าโก่งมากเกินไป

 

 

อาการของโรครองช้ำ

 

โรครองช้ำจะมีอาการปวด และเจ็บบริเวณส้นเท้า ในระยะแรกอาจเกิดจากการเดิน หรือการยืนเป็นเวลานาน แต่เมื่อเริ่มมีอาการมากขึ้น จะมีความรู้สึกปวดส้นเท้าอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การเดิน 2-3 ก้าวแรกของวัน แต่มักปวดหรือมีอาการมากที่สุดคือหลังจากทำกิจกรรมเสร็จ ซึ่งโดยปกติแล้วจะปวดเพียงข้างใดข้างหนึ่ง แต่รองช้ำสามารถเกิดขึ้นกับเท้าทั้ง 2 ข้างได้เช่นกัน 

 

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรครองช้ำ

 

  • ผู้สูงอายุ เนื่องจากพังผืดฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นน้อยลง

 

  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน ทำให้พังผืดฝ่าเท้ารับแรงกระแทกมากขึ้น

 

  • เพศหญิงพบได้บ่อยกว่าเพศชาย เนื่องจากไขมันที่ส้นเท้าบาง อีกทั้งเอ็น, กล้ามเนื้อของน่อง และฝ่าเท้า จะไม่แข็งแรงเท่าของเพศชาย

 

  • ผู้ที่มีอุ้งเท้าสูง หรือแบนผิดปกติ

 

  • ผู้ที่สวมใส่รองเท้าที่มีพื้นด้านในแข็ง หรือบางเป็นประจำ

 

  • นักวิ่ง หรือนักกีฬา ที่ต้องใช้เท้าเป็นเวลานาน

 

ช่างเสริมสวย

 

  • ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องยืนเป็นระยะเวลานาน เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขาย, ช่างเสริมสวย หรือพนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น

 

 

การวินิจฉัยโรครองช้ำ

 

แพทย์จะทำการซักถามประวัติ, ตรวจร่างกายเบื้องต้น และสอบถามอาการกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ ซึ่งนอกจากโรครองช้ำแล้ว อาการปวดส้นเท้าหรือฝ่าเท้าอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น กระดูกส้นเท้าฟกช้ำ, เส้นประสาทที่ฝ่าเท้าถูกกดทับ เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการเอกซเรย์เพิ่มเติม เพื่อหาว่ามีความผิดปกติของโครงสร้างบริเวณกระดูกเท้าหรือไม่ 

 

 

การรักษาโรครองช้ำ

 

  • การรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ หรือ NSAIDs

 

  • ฉีดยาลดการอักเสบ เป็นวิธีที่ไม่นิยมนัก ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น และต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะหายขาด ซึ่งมีความเสี่ยงที่โรคจะกลับมาเป็นซ้ำได้

 

  • การรักษาด้วยคลื่นความถี่ (Shock Wave) เป็นการกระตุ้นเอ็นพังผืดฝ่าเท้า เพื่อให้มีเส้นเลือดมาเลี้ยงซ่อมแซมตัวเอง ผลของการรักษามีความใกล้เคียงกับการผ่าตัด

 

  • การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดพังผืดเท้าบางส่วน และนำหินปูนที่กระดูกส้นเท้าออก

 

 

การป้องกันโรครองช้ำ

 

  • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง และการเดินเท้าเปล่า

 

  • เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับเท้า และพื้นอ่อนนุ่มไม่บางหรือแข็งจนเกินไป

 

ยืดเอ็นฝ่าเท้า

 

  • ก่อนออกกำลังกายให้ยืดเอ็นฝ่าเท้า และเอ็นร้อยหวายทุกครั้ง 

 

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

 

  • หลีกเลี่ยงการยืนเป็นระยะเวลานาน ควรพักเป็นช่วง ๆ 

 

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายบนพื้นแข็ง หรือออกกำลังกายประเภทที่ลดการกระแทกบริเวณส้นเท้า เช่น ว่ายน้ำ, ปั่นจักรยาน เป็นต้น

 

  • การทำกายภาพบำบัด เช่น การบริหารเอ็นร้อยหวาย และพังผืดฝ่าเท้า

 

 

การเลือกรองเท้าสำหรับผู้ที่เป็นโรครองช้ำ

 

  • เลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับรูปเท้า ไม่หลวม ไม่คับแน่นเกินไป

 

  • เลือกรองเท้าที่มีแผ่นเสริม เพื่อช่วยทำให้ลดการกระแทกหรือกดเอ็นฝ่าเท้าเวลาเดิน จะช่วยปรับการลงน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ

 

  • เลือกรองเท้าที่มี Arch of Foot เพื่อทำหน้าที่รองรับ และกระจายน้ำหนักบริเวณฝ่าเท้าได้ดี ช่วยประคองรูปเท้าให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องขณะเคลื่อนไหว หรือก้าวเดิน

 

  • เลือกรองเท้าที่มีพื้นหนา, มีความนุ่ม และยืดหยุ่น

 

 

ท่ากายบริหารสำหรับผู้ที่เป็นโรครองช้ำ

 

  • การยืดพังผืดที่ใต้ฝ่าเท้า ให้ผู้ป่วยนวดพังผืดที่ฝ่าเท้าครั้งละ 1 นาที แล้วพัก 30 วินาที จากนั้นจึงเริ่มใหม่ ควรทำทั้งหมด 3 ครั้ง

 

ยืดพังผืดโดยใช้ผ้ายาง

 

  • การยืดพังผืดกับกล้ามเนื้อน่องโดยใช้ผ้ายาง ให้ผู้ป่วยบิดข้อเท้าเข้าด้านใน แล้วใช้ผ้ายืดสำหรับการออกกำลังกายดึงที่บริเวณฝ่าเท้า 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 30 วินาที

 

  • การยืดกล้ามเนื้อน่องด้านในโดยการดันกำแพง ให้เหยียดขาข้างที่มีอาการปวดไปด้านหลัง และนำมือไปดันไว้กับผนัง ทำครั้งละ 30 วินาที ทั้งหมด 3 ครั้ง โดยพัก 30 วินาทีก่อนเริ่มครั้งใหม่ 

 

 

การรักษาด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดเข้าบริเวณส้นเท้า อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกติดเชื้อ, ไขมันฝ่าเท้าฝ่อ หรือเอ็นฝ่าเท้าฉีกขาด ทำให้การรักษามีความยากมากยิ่งขึ้น และถ้าหากมีอาการเจ็บที่ส้นเท้า หรือฝ่าเท้าต่อเนื่อง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม อย่าปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นอาการเรื้อรัง เพราะอาจส่งผลให้เกิดความทรมานในการใช้ชีวิตประจำวัน