โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดพลาด ผู้ป่วยจะมีอาการชัดเจน คือผิวหนังอักเสบเป็นขุยสีขาว โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถดูแลอาการไม่ให้กำเริบ หรือรุนแรงขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับปานกลางถึงขั้นรุนแรง จะมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เป็นต้น
โรคนี้ไม่ปรากฏสาเหตุของการเกิดอย่างชัดเจน แต่แพทย์เชื่อว่าเป็นข้อบกพร่องของภูมิคุ้มกันร่างกายในส่วนเม็ดเลือดขาว ส่งผลให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ การเจริญเติบโตของผิวหนังจึงไม่สมบูรณ์ โดยอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุได้ เช่น
ผลข้างเคียงของการติดเชื้อ HIV
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเพื่อรักษาอาการความดันสูง หรือโรคหัวใจ
เกิดจากความเครียดมากจนเกินไป
ผิวหนังได้รับความเสียหายทั้งรอยแผลจากวัตถุ การแกะ หรือการเกาจนเป็นแผล เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน
การสัมผัสกับสารเคมีและสารระคายเคือง
ภูมิอากาศที่อาจร้อนเกินไปจนทำให้เกิดผิวไหม้
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรืออาหารบางชนิด
ถึงแม้ว่าปัจจัยเสี่ยงจะดูค่อนข้างมาก แต่ทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย ผู้ป่วยในแต่ละรายอาจมีสาเหตุของการเกิดโรคสะเก็ดเงินที่แตกต่างกัน
ผิวแห้งจนแตกและมีเลือดออก
ผื่นแดงหนา มีขุยสีขาวหนา ๆ หรือละเอียด
ผื่นมีวงชัดเจนและมีสะเก็ด
รอยโรคของโรคสะเก็ดเงินมักพบที่บริเวณศีรษะ, ศอก, เข่า และก้นกบ
มักไม่มีอาการคันหรือคันไม่มาก
เล็บมือและเท้าหนาขึ้น มีรอยบุ๋มผิดปกติ
ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดหรือบวมตามข้อต่อ
หากมีความสงสัยว่าตนเองเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ด้วยตนเองผ่านการสังเกตอาการทั้ง 3 ข้อ ได้แก่
มักตื่นกลางดึกเพราะปวดหลังส่วนล่าง
มีประวัติอาการนิ้วและข้อมือบวม หรือกำลังบวมอยู่
มีประวัติอาการปวดส้นเท้า หรือกำลังปวดส้นเท้าอยู่
โรคสะเก็ดเงิน สามารถแบ่งออกได้หลากหลายชนิดตามลักษณะที่ปรากฏ หรือการกระจายตัว โดยแต่ละชนิดมีลักษณะและอาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้
ชนิดผื่นหนา
คือชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ลักษณะเป็นผื่นแดงหนา มีขอบเขตที่ชัดเจน ขุยสีขาวหรือสีเงินหนา เพราะผื่นชนิดนี้ที่ทำให้ได้ชื่อโรคนี้ว่า “สะเก็ดเงิน” ซึ่งจะพบได้บ่อยที่บริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขนขา และข้อศอกกับหัวเข่า เพราะเป็นบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย
ชนิดผื่นขนาดเล็ก
เป็นตุ่มแดงเล็กลักษณะคล้ายหยดน้ำขนาดเล็ก มีขุย มักเกิดในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 30 ปี
ชนิดตุ่มหนอง
มีลักษณะเป็นตุ่มหนองกระจายบนบริเวณผิวหนังที่มีการอักเสบหรือแดง และในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีไข้ร่วมด้วย
ชนิดผื่นแดงลอกทั้งตัว
คือ สะเก็ดเงินที่มีความรุนแรง โดยผิวหนังจะมีลักษณะแดงและมีขุยลอกทั่วบริเวณร่างกาย
สะเก็ดเงินที่ซอกพับ
เป็นชนิดที่มีรอยโรคเกิดในบริเวณซอกพับของร่างกาย เช่น รักแร้, ใต้ราวนม หรือขาหนีบ เป็นต้น จะมีลักษณะเป็นผื่นแดงแต่ไม่มีขุย
สะเก็ดเงินที่มือและเท้า
จะเกิดขึ้นที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า จะมีลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุยลอก ในผู้ป่วยบางรายผื่นอาจลุกลามมาที่หลังมือและหลังเท้าได้
เล็บสะเก็ดเงิน
ที่พบได้บ่อย เช่น เล็บผิดรูป, หนาตัวขึ้น และเป็นหลุม เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน มักจะมีความผิดปกติที่เล็บร่วมด้วย
ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
ในผู้ป่วยบางราย อาจจะมีอาการอักเสบของข้อด้วย สามารถพบได้ทั้งข้อเล็ก, ข้อใหญ่, ข้อเดียว และหลายข้อ เป็นต้น หากมีการอักเสบที่มือ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ข้อนิ้วมือ หากมีอาการเรื้อรัง อาจทำให้ข้อมีการผิดรูปได้
โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
เกิดการติดเชื้อ
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เพราะหมดความมั่นใจ และเกิดความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ ประจำวัน เพราะสภาพร่างกายภายนอกที่เกิดจากโรค
แพทย์จะซักถามอาการกับประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและครอบครัว รวมไปถึงการตรวจร่างกายเบื้องต้นตรงบริเวณผิวหนังที่เกิดความผิดปกติขึ้น เพื่อจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินหรือโรคผิวหนังชนิดอื่น ในบางรายแพทย์อาจพิจารณาวิธีการเก็บตัวอย่างจากผิวหนังเพื่อไปวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ หากเป็นข้ออักเสบสะเก็ดเงิน แพทย์จะมีการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์ เพื่อหาชนิดของโรคทางไขข้อกระดูกอื่นเพิ่มเติม
หากผู้ป่วยมีอาการผื่นที่ผิวหนังน้อยกว่าร้อยละ 10 ของร่างกาย อาจใช้วิธีการรักษาด้วยยาทาภายนอก เช่น น้ำมันดิน, ยาทาสเตียรอยด์, แอนทราลิน เป็นต้น การใช้ยาเหล่านี้ควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้
การรับประทานยา เช่น เมโธเทรกเซต ที่จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ ผู้ป่วยที่รับประทานยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
การฉายแสงอาทิตย์เทียม มีอยู่ 2 ชนิด คือ ยูวีเอและยูวีบี โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษา 2 - 3 ครั้ง/สัปดาห์ ระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน
หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์จะพิจารณาใช้รังสีอัลตราไวโอเลต เพื่อลดอาการอักเสบและยับยั้งการแบ่งตัวของผิวหนัง
รักษาด้วยยาฉีดกลุ่มชีววัตถุ ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาชนิดอื่นแล้ว หรืออยู่ในขั้นที่อาการรุนแรงอย่างมาก
ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือสารที่ส่งผลให้ผิวเกิดความแห้ง หากอาการไม่รุนแรงสามารถใช้ได้ แต่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว
ไม่แกะเกาแผลหรือขุยบนผิวเพื่อป้องกันอาการที่รุนแรงมากขึ้น
หากเป็นโรคหรือภาวะที่สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงินได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษา
หมั่นออกกำลังกาย, บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดโรค เช่น ความเครียด, การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ เป็นต้น
ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตพอสมควร อีกทั้งยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองให้มากที่สุด ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากสังเกตร่างกายตนเอง แล้วพบว่ามีอาการเข้าข่ายการเกิดโรคนี้ ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุด ก่อนที่โรคจะลุกลามจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง