ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน
โรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน อาจทำให้หูหนวกได้หากปล่อยทิ้งไว้

 

หู เป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายของเราเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากหูเป็นอะไรขึ้นมา จากเสียงในชีวิตประจำวันที่เราควรได้ยิน อาจจะกลายเป็นเงียบสนิท หรือเบา เหมือนใครมาหมุนปรับเสียงรอบข้างของเราลง วันนี้เราจะพามารู้จักกับหนึ่งในโรคเกี่ยวกับหู ที่ถ้าหากเราปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้คุณสูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน นั่นคือ “โรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน (Sudden Sensorineural Hearing Loss) ”

 

 

โรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน คืออะไร ? 

 

โรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน เป็นโรคที่เกิดจากประสาทหูของเราเกิดการเสื่อมขึ้นแบบทันที หรือภายในระยะเวลาสั้น ๆ โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อาจได้ยินเสียงเพียงเล็กน้อย ซึ่งในบางรายอาจจะรู้สึกสูญเสียการได้ยินมาก จนอาจไม่ได้ยินเสียงใดเลย โดยโรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หรือถาวรได้ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ แล้วไม่เข้ารับการรักษา 

 

 

สาเหตุของโรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน 

 

  • การติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่, หัดเยอรมัน หรืองูสวัด เป็นต้น 

 

  • การไหลเวียนของเลือดภายในหูน้อยลง อาจเกิดจากความดันต่ำหรือการเสียเลือดมาก 

 

  • โรคน้ำในหูไม่เท่ากันแบบรุนแรง

 

เปิดเสียงหูฟังดัง  

 

  • การใส่หูฟังแล้วเปิดเสียงดัง หรืออยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง เป็นระยะเวลานาน 

 

  • อาจเกิดจากเนื้องอกที่เส้นประสาทหู และเนื้องอกในสมอง 

 

  • การพักผ่อนน้อยเกินไป 

 

 

อาการของโรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน 

 

  • สูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน โดยมักจะเกิดกับหูเพียงข้างใดข้างหนึ่ง

 

  • มีเสียงภายในหูข้างที่เกิดโรค

 

เวียนศีรษะ

 

 

  • ไม่ได้ยินเสียงภายนอก รู้สึกเหมือนมีอะไรติดขัดหรือแน่นภายในหู

 

  • คุณภาพเสียงที่ได้ยินลดลง ต้องคอยฟังซ้ำ หรือเปิดเสียงสิ่งที่จะฟังให้ดังขึ้น 

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ จะแตกต่างกันไปตามสาเหตุและอาการของโรค แต่ภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดเหมือนกันในผู้ป่วยรายที่ปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้ารับการรักษา คือ หูตึงหรือสูญเสียการได้ยินแบบถาวร 

 

 

การวินิจฉัยโรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน 

 

  • แพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายคนไข้ เพื่อแยกภาวะโรคที่เกี่ยวกับหูชั้นนอกหรือหูชั้นในออก 

 

  • ส้อมเสียง คือ การเคาะส้อมเสียงหรืออุปกรณ์ที่มีสองขาพร้อมกับด้ามจับ เพื่อคัดกรองการได้ยินเสียงแบบเบื้องต้น และแยกประเภทของเสียงที่ได้ยิน

 

  • ใช้เครื่องมือ Audiogram หรือเครื่องมือตรวจการได้ยิน โดยการวินิจฉัยวิธีนี้จะเป็นการนำคนไข้เข้าสู่ห้องเงียบ แล้วใช้หูฟังเสียงทีละข้าง เพื่อเป็นการประเมินระดับการได้ยินแบบเดซิเบล 

 

 

การรักษาโรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน

 

  • เบื้องต้น แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยา เช่น ยาลดการอักเสบ, วิตามิน, ยาขยายหลอดเลือด หรือยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ เป็นต้น

 

  • ในผู้ป่วยรายที่ไม่ได้มีอาการรุนแรงหรืออยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แพทย์จะให้นอนพักรักษาตัวที่บ้านได้ หากผู้ป่วยที่เข้าข่ายว่าจะมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล

 

  • แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อตรวจระดับการได้ยินเป็นระยะ เพื่อประเมินและติดตามผลการรักษาต่อไป

 

ใส่เครื่องช่วยฟัง

 

  • การใส่เครื่องช่วยฟัง จะช่วยให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

  • การฉีดยาสเตียรอยด์ ในกรณีที่การรับประทานยาไม่ได้ผล, สูญเสียการได้ยินขั้นรุนแรง เป็นต้น 

 

 

การป้องกันโรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน 

 

  • ไม่ควรใช้ยาที่มีผลต่อประสาทหู เช่น ยาแอสไพริน, อะมิโนไกลโคไซด์ และควินิน เป็นต้น

 

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง และไม่ควรใส่หูฟังเปิดเพลงดัง ๆ เป็นระยะเวลานาน 

 

  • ไม่ควรแคะหูแรง เพราะอาจส่งผลให้แก้วหูทะลุ และติดเชื้อที่หูชั้นในได้ 

 

  • ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงกีฬาประเภทที่ต้องมีการเข้าปะทะ

 

พักผ่อนให้เพียงพอ

 

  • ลดความเครียด, พักผ่อนให้เพียงพอ

 

  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อภายในหู 

 

 

โรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน เป็นอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวมาก ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า หู คืออวัยวะที่สำคัญ และมีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของเรามาก เพราะฉะนั้น หากการได้ยินเสียงลดลง หรือมีอาการอื่น ๆ ที่ผิดปกติภายในหู ควรเข้าพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยและดำเนินการรักษา อย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด เพราะอาจนำไปสู่การสูญเสียการได้ยินแบบถาวรได้ 

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

คลินิกหูคอจมูก

 

แคะหูบ่อยๆ เป็นอันตรายหรือไม่