วัณโรค (Tuberculosis) เกิดจากการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ผ่านการไอ หรือจาม ยิ่งหากอยู่ใกล้ผู้ป่วยหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะยิ่งง่ายต่อการแพร่ระบาด ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรังมีเลือดปนออกมา และเจ็บหน้าอกเวลาไอ วัณโรคสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ จนพัฒนากลายเป็นโรคอื่นได้ เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง หรือวัณโรคกระดูก เป็นต้น
ได้รับเชื้อไมโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิสเข้าสู่ร่างกายผ่านการไอ จาม หรือการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะประชิด
อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของวัณโรค หรือเคยสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
มีปัญหาสุขภาพ เช่น ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ, ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น
เด็กหรือผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ป่วยในวัยอื่น
วัณโรคสามารถเกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะ เช่น สมอง กระดูก เป็นต้น แต่ส่วนมากจะพบในปอดมากกว่า
มีอาการไข้ต่ำ, ครั่นเนื้อครั่นตัว
อ่อนเพลีย, หนาวสั่นหรือเหงื่อออกในเวลากลางคืน
มีการไอเรื้อรังมามากกว่า 2 สัปดาห์ติดต่อกัน
เบื่ออาหาร, น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
เจ็บภายในหน้าอกขณะหายใจเข้าลึก ๆ, หายใจไม่สะดวก หอบ หรือเหนื่อยง่าย
ผิวหนังซีด เหลือง
ระยะแฝง (Latent TB)
เป็นช่วงที่ร่างกายเพิ่งรับเชื้อโรคเข้าไป โดยจะยังไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา หากถูกตรวจพบ แพทย์อาจพิจารณารักษาได้ตั้งแต่ระยะนี้ ในช่วงระยะนี้หากร่างกายอ่อนแอจะทำให้เข้าสู่ระยะแสดงอาการได้
ระยะแสดงอาการ (Active TB)
เมื่อเชื้อโรคเริ่มแพร่กระจาย และร่างกายอ่อนแอ จะทำให้แสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน คือ มีอาการไอเรื้อรังแบบมีเลือดปนออกมา เจ็บหน้าอกเวลาไอ มีไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย และน้ำหนักลดลง เป็นต้น หากพบว่าตนเองมีอาการที่เข้าข่ายตามที่กล่าวไป ควรรีบเข้าพบแพทย์ในทันทีไม่ควรปล่อยไว้ เนื่องจากอาการแทรกซ้อนของวัณโรค เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือการกระจายเชื้อไปยังอวัยวะอื่น ๆ ถือว่าอันตรายอย่างมาก
หากผู้ป่วยมีอาการของวัณโรค ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกายของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจวิธีอื่น เช่น เอกซเรย์ทรวงอก, ตรวจเสมหะ หรือตรวจเลือด เพราะเนื่องจากอาการของวัณโรคจะคล้ายคลึงกับอาการของโรคอื่น ซึ่งการตรวจจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดวัณโรคขึ้น
การรักษาผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากผู้ป่วยไม่ได้รับประทานยาตามที่แพทย์กำหนด อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ ในช่วง 2 เดือนแรกแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยา 4 ชนิด เช่น ไอโซไนอะซิด, ไรแฟมพิซิน, ไพราซินาไมด์ และอีแทมบูทอล เป็นต้น เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น หากครบกำหนดแล้ว แพทย์อาจจะมีการเอกซเรย์ปอดหรือตรวจเสมหะซ้ำ แต่การรับประทานยาอาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ เช่น
อาการตัวเหลือง
มีไข้หลายวัน
ไม่อยากอาหาร
คลื่นไส้อาเจียน
มีปัญหาด้านการหายใจและการมองเห็น
ใบหน้าและคอบวม
ไม่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือเข้าใกล้ผู้ป่วยที่มีเชื้อ
การออกกำลังกาย, การพักผ่อนให้เพียงพอ หรือทานอาหารที่มีประโยชน์
งดการใช้สารเสพติดทุกชนิด เช่น บุหรี่, แอลกอฮอล์ เป็นต้น
หากมีการลืมรับประทานยา ให้รับประทานต่อทันที โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก
ปิดปาก และจมูกขณะไอ จามทุกครั้งด้วยผ้าเช็ดหน้า หรือทิชชู
ให้เข้าพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งแม้ยังรับประทานยายังไม่หมด หากมีความจำเป็นไม่สามารถเข้าพบวันนั้นได้จริง ๆ ให้เข้ามาพบแพทย์ล่วงหน้าก่อนวันนัด
การตรวจสุขภาพโดยเฉพาะการเอกซเรย์ปอดเพื่อหาความเสี่ยง หรือฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคซึ่งมักจะถูกฉีดตั้งแต่เด็กแล้ว
หากไอเรื้อรัง 100 วันต้องเป็นวัณโรค?
อาการไอของผู้ติดเชื้อจะมีอย่างต่อเนื่องประมาณ 8 สัปดาห์ แต่ต่อให้ไอมากหรือน้อยกว่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นวัณโรคเสมอไป ต้องดูอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย และไม่ว่าอย่างไรการไอเรื้อรังเป็นเวลานาน ผู้ป่วยควรที่จะต้องเข้าพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน
หากเป็นวัณโรคแล้วจะเสียชีวิต?
หากจะกล่าวว่าเป็นวัณโรคแล้วเสียชีวิตจริงไหม คงต้องย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ณ ขณะที่เทคโนโลยีทางการแพทย์หรือความก้าวหน้าทางวิทยาการยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าทุกวันนี้ ผู้ป่วยหลายท่านอาจจะยังไม่ได้รับการรักษา เพราะว่ายาในสมัยก่อนนั้นมีผลข้างเคียงเยอะ ประจวบกับผู้ป่วยมีการกินยาแบบไม่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนส่งผลให้มีการเสียชีวิตขึ้น แต่ ณ ปัจจุบันหากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทันทีเมื่อมีอาการ การรับประทานยาครบกำหนดตามที่แพทย์สั่ง จะสามารถทำให้หายขาดจากวัณโรคได้ แต่อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
การติดเชื้อวัณโรคเกิดขึ้นได้แค่ที่ปอด?
การติดเชื้อจากวัณโรค สามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่นได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง, เยื่อหุ้มปอด หรือไขกระดูก เป็นต้น ถ้าหากวัณโรคมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว อาจจะทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ทั้งนี้ การแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นจะขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละบุคคล และความรุนแรงของโรคที่เกิดกับบุคคลนั้นด้วย
วัณโรค เป็นโรคที่มีอาการทุกข์ทรมานจากการไอเรื้อรังอย่างมาก ระยะเวลาในการรักษาอาจต้องใช้นานพอสมควร การรู้เท่าทันความเสี่ยงของร่างกายด้วยการเอกซเรย์ปอดจึงสำคัญอย่างมาก เพื่อความปลอดภัยของตนเองและบุคคลรอบข้าง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง