ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG ไปทำไม
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG ไปทำไม

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG หรือ (Electrocardiogram) คือการตรวจความสมบูรณ์ของการทำงานไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ ที่อาจจะเกิดขึ้น หรือได้เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งการตรวจหัวใจแบบ EKG นั้นสามารถนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่มีผลต่อหัวใจได้ เช่น โรคหัวใจ โรคที่ใครหลายคนกลัว เพราะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเราค่อนข้างมาก ดังนั้นการตรวจ EKG จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่เราควรเลือกเพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานของหัวใจเรานั้นยังปกติอยู่ อีกทั้งขั้นตอนของการตรวจยังสามารถทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน และไม่จำเป็นต้องนั่งรอผลตรวจนาน


คลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG (Electrocardiogram) คืออะไร

 

โดยปกติแล้วหัวใจสามารถทำงานได้ด้วยกระแสไฟฟ้าเพื่อคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ อีกทั้งยังมีผลต่อการทำงานที่สัมพันธ์กันของหัวใจทั้ง 4 ห้อง หากไฟฟ้าที่ทำการควบคุมการทำงานเกิดความผิดพลาดจะส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจให้ผิดปกติได้รวมถึงการดูเรื่องของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และห้องหัวใจที่โตผิดปกติ


ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG เพื่ออะไร

 

20,855/2 ตัวเลขนี้ไม่ใช่เลขที่อยู่ของใคร แต่หาก 20,855 คือจำนวนของผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจของประเทศไทยในปี 2561 และเลข 2 คือจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ต่อ 1 ชั่วโมง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข) คุณลองคิดดูว่าทุก ๆ 1 ชั่วโมง โรคหัวใจได้คร่าชีวิตของคนสองคนมาโดยตลอด เราจึงไม่ควรไว้วางใจอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดกับเราเพราะอาจเป็นสาเหตุของโรคร้ายนี้ได้ แต่ถ้าหากถามถึงวิธีที่จะทำให้เราเข้าใจความเสี่ยงต่อโรคหัวใจวันนี้ทางโรงพยาบาลเพชรเวชก็มีวิธีมาแนะนำนั่นคือ “ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)”

 

การตรวจจะทำให้แพทย์ทราบการทำงานของหัวใจว่าสม่ำเสมอหรือไม่ และสามารถตรวจหาความเสี่ยงต่อโรคที่มีผลกับการทำงานของหัวใจได้ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก นอกจากนี้การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวยังทำได้ทุกเพศทุกวัยและไม่มีอาการเจ็บปวดระหว่างตรวจด้วย อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยวิธีนี้อาจไม่พบเจอโรคหากไม่มีอาการขณะทำการตรวจ และอาจต้องพึ่งการตรวจรูปแบบอื่นเข้าร่วมด้วย เช่น การเดินสายพาน และตรวจคลื่นหัวใจไปด้วย (EST)

 

ตรวจไฟฟ้าหัวใจ EKG

 

ขั้นตอนในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 

 

  • ก่อนเข้ารับการตรวจผู้ตรวจควรให้ข้อมูลกับแพทย์หากมีการกินอาหารเสริมหรือใช้ยาบางตัวอยู่ เพื่อรับคำแนะนำในการเตรียมตัว แต่โดยปกติแล้วผู้ตรวจสามารถทานอาหารได้ตามปกติ

  • ผู้ตรวจต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยปกติการตรวจจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที

  • ผู้ตรวจนอนหงายบนเตียงแพทย์จะทำการติดจุดรับกระแสไฟฟ้าตามอวัยวะทั้ง 3 คือ หน้าอกโดยจะติด 6 จุด รวมไปถึงติดแขน และขาด้วย

  • ผู้ตรวจควรอยู่ให้นิ่งที่สุด จากนั้นผลลัพธ์จะปรากฏบนจอ และแพทย์จะทำการพิมพ์ผลลัพธ์ดังกล่าวออกมาเป็นอันเสร็จสิ้น

  • หลังการตรวจหากผลที่ออกมาเป็นปกติจะสามารถกลับบ้านได้ทันที แต่หากผลตรวจออกมาผิดปกติอาจจำเป็นต้องทำการตรวจอีก 1 ครั้งหรือนำการตรวจรูปแบบอื่นเข้าร่วมด้วย เช่น การเดินสายพานและตรวจคลื่นหัวใจไปด้วย (EST)

 

การตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ

 

จากที่กล่าวมาข้างต้นหากตรวจตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พบอาการผิดปกติแพทย์อาจใช้การตรวจด้วยวิธีอื่นเข้ามาเพิ่ม ได้แก่

 

  • ตรวจการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) โดยผู้ตรวจจะถูกตรวจการเต้นของหัวใจขณะทำการออกกำลัง เพื่อกระตุ้นการทำงานของหัวใจโดยการดูคลื่นหัวใจอย่างละเอียด หากมีอาการผิดปกติแพทย์จะรู้ทันที การตรวจด้วยวิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

  • ตรวจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echo) การตรวจด้วยวิธีนี้จะทำให้รู้ลักษณะของหัวใจและการทำงานของหัวใจทั้งการสูบฉีดของหัวใจและลิ้นหัวใจ อีกทั้งยังสามารถบอกความผิดปกติของหัวใจได้ เช่น การติดเชื้อ หรือการเกิดเนื้องอกในหัวใจ เป็นต้น

 

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงในการตรวจ แต่สามารถให้ผลของการทำงานของหัวใจที่ละเอียดและมีประสิทธิภาพต่อการวินิจฉัย จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้คนในยุคนี้ควรเลือก

 

แพคเกจที่เกี่ยวข้อง