UTAIN BOONORANA
Dr.UTAIN BOONORANA
Specialty : Neurology
Sub Specialty :
ทำการนัดหมายแพทย์ท่านนี้
Doctor Profile
Education
Faculty of Medicine, Thammasat University
2005
Department of Internal Medicine, Thammasat University
2008
Diploma of Thai Board of Neurology
2011

Degree
Neurology, Thammasat University
2011

Degree (additional)
Division of Neurophysiology, Department of Physiology, Faculty of Medicine Thammasat University
2008
Deputy Director of Primary Care Center of Thammasat University
-
English Language, Japanese, Thai Classical Music, Thai Classical Massage
-
Professional Writer : Professional Writer : กว่าเจ้จะเป็นหมอ 1-2, Wake up ชะนี, The our story, เป็นผู้ใหญ่ใครว่าไม่เจ็บ, แรง บัน ได จาร์ย, คือเธอในหัวใจ, คำที่มิได้เอ่ย, เผยใจรัก, รักนาย My Ride, My imaginary boyfriend, I love you to die
-
Deputy Director in Quality Improvement of Hospital (Petcharavej Hospital)
-
Schedule (2025-01-20 ถึง 2025-01-26)
SUN
MON
TUE
WED
THU
FRI
SAT

 แพทย์คือเส้นทางที่คุณแม่ปูทางให้ 

 

        การใช้ชีวิตก็เหมือนเด็กทั่วๆ ไป เคยอยากเรียนอักษรศาสตร์แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนไม่ชอบกินยาเวลาที่ไม่สบาย เลยโดนแม่หลอกว่าถ้าเรียนหมอก็จะไม่ต้องกินยา ซึ่งก็เชื่อแม่ หลังจบมัธยมศึกษาปีที่  6 ก็สอบเอนทรานซ์ติดคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าเราเหมาะไหม แต่แม่ก็จะพูดเสมอว่า “ลูกเหมาะกับการเรียนหมอ” จนเรียนจบแล้วได้มาทำงานก็ได้คิดว่าตัวเองเหมาะกับการเรียนหมอจริงๆ  เดี๋ยวนี้เวลาไปแนะแนวก็จะบอกให้น้องๆ เชื่อฟังพ่อแม่ไว้ก่อนก็ดี เพราะบางทีพ่อแม่อาจจะรู้จักตัวเรามากกว่าที่เรารู้ก็ได้ 

        ต้องบอกว่าตัวเองเป็นคนเก่งด้านศัลยกรรมแต่ไม่ชอบเพราะต้องยืนนาน 5-6 ชั่วโมง ส่วนหมอเด็ก จริงๆ ก็ชอบเด็กนะแต่ไม่อยากเห็นเขาป่วย รู้สึกเป็นวัยที่เขาต้องสดใส สุดท้ายก็เลือกสาขาอายุรกรรมเพราะเป็นสาขาที่กว้าง อายุรกรรมหมายถึงการรักษาทุกอย่างที่ใช้ยาและไม่ต้องผ่าตัด โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนแก่เท่านั้น ในเมื่อตอนนั้นยังไม่รู้ว่าชอบอะไรมากจริงๆ เลยตัดสินใจใช้ทุนเป็นอาจารย์ในแผนกอายุรกรรม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

        ช่วงที่เป็นแพทย์ใช้ทุนก็มีคุณตาป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม แล้วได้เห็นญาติๆ ดูแลท่าน ซึ่งการดูแลคนไข้โรคนี้ ไม่ได้สำคัญแค่เรื่องยาเรื่องเดียว แต่จริงๆ แล้วคนไข้จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับครอบครัว การดูแลกันเป็นทีม เลยคิดว่าสาขานี้มีเรื่องน่าสนใจให้ศึกษาอีกมาก และอีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะชอบด้านจิตเวชด้วย การที่มาอยู่ตรงนี้ก็จะได้เรียนทั้งจิตเวชแล้วก็ได้เรียนการดูแลโรคสมองด้วย พอใช้ทุนครบ 3 ปีก็เลยเลือกเรียนต่อด้าน Neuro-med หรือแพทย์ด้านประสาทวิทยา แล้วก็เป็นหมอมาจนถึงปัจจุบันดูแลคนไข้อยู่ที่โรงพยาบาลเพชรเวช  ถึงที่นี่เป็นโรงพยาบาลเอกชน แต่รับผู้ป่วยทั้งบัตรทองและประกันสังคม การเป็นหมอเราจะรู้อยู่แล้วว่าจะสมัครงานง่าย แต่ตัวหมอเองจะดูก่อนว่าที่ไหนจะถูกกับจริตของเรา ทำแล้วไม่ขัดกับตัวเรา สิ่งที่เราจะได้แน่ๆ คือตัวเรามีความสุขในระหว่างการทำงาน

 

ความสุขในการเป็นคุณหมอ 

 

        รู้สึกว่าตัดสินใจถูกแล้วที่เรียนแพทย์ เพราะเป็นงานที่ทำได้ดีและที่สำคัญคือความชอบ บางครั้งต้องทำงานเป็นทีม การทำงานมันเหนื่อยแน่นอนอยู่แล้วแต่ไม่ได้ทำให้รู้สึกแย่ ยังรู้สึกสนุกและมีความสุขมากที่ได้มาทำตรงนี้ คิดว่าการเป็นหมอเหมาะกับเราจริงๆ และคงทำงานนี้ไปได้ตลอดแน่นอน 

        สำหรับเคสที่ประทับใจจะเป็นเคสหนึ่งที่ญาติพามา คนไข้อายุ 70 พึ่งสูญเสียภรรยาไปแล้วเกิดภาพหลอนหรือที่เรียกว่าภาวะเพ้อ คนไข้จะเห็นภรรยาของเขายืนอยู่ที่ข้างตู้เย็นทุกวัน โดยภาพหลอนที่เกิดขึ้นก็เกิดจากอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รายนี้ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลแต่คนไข้ไม่ยอมจะกลับบ้าน โดยให้เหตุผลว่าเขากลัวว่าถ้าออกมาข้างนอกบ้านนานๆ บางทีกลับไปก็จะไม่เห็นภรรยาเขาอยู่ตรงนั้นอีกแล้ว หมอก็เลยได้คุยกับคนไข้ว่า “หมอไม่ได้จะมาบอกว่ามีหรือไม่มี หมอเชื่อว่าคุณลุงเห็น หมอเชื่อว่าภรรยาของคุณลุงยังอยู่ที่นั่น แต่คุณลุงลองนึกดูนะ ถ้าลุงป่วยลุงดื้อไม่ยอมรับการรักษา ลุงคิดว่ากลับไปแล้วภรรยาของลุงจะมีความสุขเหรอ จำตอนที่เขายังอยู่กับลุงได้ไหม เวลาลุงป่วย เขาเคยปล่อยให้ลุงป่วยเกิน 1 วันไหม หมอมั่นใจว่าไม่ เขาต้องไล่ให้ลุงมาหาหมอ บางทีถ้าลุงดื้อไม่รับการรักษา เขาอาจจะหายไปเลยก็ได้เหมือนกัน”  หลังจากที่พูดคุยกับคนไข้เสร็จ เขาก็ฟังและสุดท้ายคนไข้ก็เลยยอมเข้ารับการรักษาแล้วก็ดีขึ้น

        ประสบการณ์เหล่านี้เวลาสอนนักศึกษาแพทย์หมอจะบอกเสมอว่า ขั้นตอนแรกคือทำยังไงก็ได้ให้คนไข้รู้สึกเราเป็นพวกเดียวกับเขา พอเขารู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขาแล้วการรักษาก็จะง่ายขึ้นมาก คนไข้จะให้ความร่วมมือกับเรามากขึ้นด้วย  

 

งานเขียน...อีกงานที่รัก

 

        หมอทำเพจที่ชื่อว่า หมอตุ๊ด นำเสนอข้อคิดในการการใช้ชีวิตให้กับคนรุ่นใหม่ อย่างเช่น มีคนเคยถามหมอว่า “ รู้สึกแย่มาก เหนื่อยมาก โดนที่ทำงานด่ามาเละมาก ควรทำอย่างไร ” หมอเลยบอกว่า “ ให้ลองหยิบแบงก์พันมาขย้ำดู เราเอาแบงก์พันที่ถูกขย้ำจนยับนี้ไปซื้อของต่อ คนอื่นจะมองเป็นเงินห้าร้อยบาทไหม ก็คงไม่เพราะยังไงก็ยังเป็นแบงก์พัน เพราะฉะนั้นในวันที่เราเหนื่อยมาก เราคือแบงก์พันที่ยับ รอยยับคือรอยเหนื่อย แต่นั่นมันไม่ได้ทำให้คุณค่าของเราลดลง ” หรือ “ ทุกการพบเจอจะต้องมีการจากลาเสมอ เวลาที่เขาจากลาไป เขาจะเอาบางส่วนของเราไปแล้วเขาจะทิ้งบางส่วนของเขาไว้ การที่บอกเวลารักษาทุกสิ่งได้ ไม่ใช่รักษาให้เราลืมเขา แต่รักษาให้เราอยู่ได้กับสิ่งที่เราเสียไปและรักษาให้เราอยู่เพื่อยอมรับสิ่งที่เรารับมาใหม่ นั่นคือสิ่งที่บอกว่าเวลารักษาเรา ”  นี่ก็จะเป็นตัวอย่างบทความที่อยู่ในเพจ ซึ่งหมอก็จะเอาไปรวบรวมเป็นหนังสืออีกทีหนึ่ง

 

แรงบันดาลใจในการทำเพจหมอตุ๊ด

 

        เพราะหมอเจอคนไข้เยอะ เนื่องจากเป็นหมอโรคสมองบางทีต้องดูแลคนไข้เคสที่เป็นจิตเวชด้วย มีเคสที่เสียใจเรื่องความรัก ซึ่งเจอทั้งเด็กอายุ 13 ปี ผู้หญิงอายุ 26 ปี และคุณลุงอายุ 50 ปี ที่ล้วนมีความรู้สึกเดียวกัน คืออยากฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังจากความรัก เป็นปัญหาเดียวกัน แต่แค่ต่างกันที่คนละช่วงวัย จริงๆ แล้วหมอรู้สึกว่าถ้าแต่ละช่วงวัยได้มาคุยกันอาจจะได้แชร์อะไรกันและทำให้ทั้งหมดคิดได้และผ่านตรงนี้ไปได้ แต่ในเมื่อเขาไม่มีโอกาส ตัวหมอเองซึ่งเป็นคนกลางได้รับฟังเรื่องเหล่านี้ก็เลยถ่ายทอดออกมา อยากแบ่งปันความรู้สึกจากช่วงวัยต่างๆ  ซึ่งจากการทำตรงนี้ทำให้ได้ค้นพบความสามารถทางภาษาของตัวเอง โดยเรื่องที่คนแชร์เยอะที่สุดและกลายเป็นเพจที่มีคนรู้จักมากขึ้นก็คือ “กลไกการเกิด Bad Boy” พอเขียนไปเขียนมามีคนตามเยอะขึ้น พอเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้นก็มีคนมาปรึกษามากขึ้น บางทีมันมีแง่มุมใหม่ๆ ของปัญหาที่เข้ามาทำให้หมอรู้สึกว่าสามารถเอาเรื่องนี้มาเขียนต่อได้ เลยกลายเป็นว่า หมอเขียนให้เขาอ่าน เขามีปัญหามาถามหมอก็กลายเป็นวัตถุดิบให้เขียนต่อไปเรื่อยๆ อีก

        ส่วนหนังสือ Wake up ชะนี เป็นหนังสือเล่มที่ 2 ในชีวิตที่เขียน แล้วทาง GMM ขอไปทำเป็นซีรี่ย์ ส่วนเล่มแรกที่เขียนคือ กว่าเจ้จะเป็นหมอ เล่ม 1 และกำลังจะทำเล่ม 2 ออกมา นอกจากนั้นก็มีนิยายที่กำลังเขียนอยู่อีกด้วย 

 

ยุ่งแต่ดูแลตัวเองสม่ำเสมอ 

 

        ทุก 3-4 เดือนจะมีทริปเที่ยว 1 ครั้งเพื่อจะได้พักผ่อนและมีไอเดียในการนำมาเขียนหนังสือ หมอรู้ว่าอายุเริ่มเยอะขึ้นบางทีไม่รู้ว่าตัวเองร่างกายเริ่มเสื่อม เสื่อมตรงไหน อวัยวะอะไรเสื่อมบ้าง ก็ต้องดูแลตัวเองดูแลเรื่องอาหาร โดยปกติเป็นคนที่เกลียดผักมากแต่ทุกวันนี้ต้องกินให้ได้วันละ 4 ขีดหรือเกือบครึ่งกิโลกรัม การออกกำลังกายต้องออกสัปดาห์ละ 7 วันก็คือทุกวัน โดยเข้า fitness 5 วัน/สัปดาห์ และก็จะมีเต้นและปั่นจักรยานสลับกันไป หมอถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำให้ได้  

 

หลักคิดในการทำงาน

 

        หมอจะถามทุกเรื่อง ฟังทุกเรื่อง คนไข้จะชอบหมอที่รับฟัง ตัวหมอเองก็ไม่ได้เก่งหรือมีประสบการณ์เยอะกว่าคนอื่น แต่สิ่งที่หมอมีมากกว่าคนอื่นคือหมอมีเวลาอยู่กับคนไข้ 30 – 60 นาที ก็จะถามในเรื่องที่คนอื่นไม่ถาม ถามหลายๆ เรื่องและฟังเขาทุกเรื่อง เรื่องไหนสนใจก็ขอให้เขาเล่าเพิ่ม สิ่งที่ได้แน่ๆ คือคนไข้จะรู้สึกว่าหมอใส่ใจ ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้จะดีขึ้น มันเป็นสำคัญที่ให้เขารู้สึกว่าเราใส่ใจเขา 

 

ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็นแบบคุณหมอ

 

        สิ่งที่อยากฝากคือ “อย่าเป็นคนอื่น ให้เป็นตัวเอง สักวันหนึ่งเราจะพบว่าการที่เราเป็นตัวเองไม่ผิดเลย และจะมีคนมายอมรับตัวเรา”  คุณพ่อของหมอไม่ได้สอนให้มองโลกแง่ดีหรือแง่ร้าย ท่านบอกว่า  “ โลกมันมีแค่แง่เดียวเท่านั้นคือแง่ความเป็นจริง ” หมอก็คิดว่าถ้าเราไม่มีความสุขกับความเป็นจริงหนทางเดียวคือเราต้องตายสิ ถ้าไม่ได้อยากตายเราต้องมีความสุขกับโลกที่เป็นความจริงให้ได้  เพราะฉะนั้นเวลามีใครมาว่าเราโลกสวย หมอก็จะบอกกลับไปว่า “โลกของฉันไม่ได้สวย แต่โลกของเธอขี้เหล่ต่างหาก “ 

 

        สำหรับคนที่อยากอ่านข้อคิดและคำแนะนำดีๆ ของคุณหมอแพท สามารถติดตามที่ได้เพจหมอตุ๊ดหรือหากอยากปรึกษาเรื่องสุขภาพสมองกับคุณหมอแบบใกล้ชิดก็ไปพบที่โรงพยาบาลเพชรเวชค่ะ