Cardiac Catheterization Lab
Cardiac Catheterization Lab

ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นก้าวไกลไปกว่าแต่ก่อนมาก จึงมีการผลิตเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วย โดยเฉพาะการตรวจโรคในอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เช่น การตรวจหัวใจ นอกจากจะมีเครื่อง ECHO และเครื่อง EST แล้ว ยังมี Cath lab ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นเราจึงมาทำความรู้จักกับ Cath lab ว่าใช้ในการรักษาเกี่ยวกับโรคหัวใจใดบ้าง และมีการทำงานอย่างไรกัน

 

Cardiac Catheterization Lab หรือ Cath lab คืออะไร

 

Cath lab เป็นชื่อเรียกง่าย ๆ ของห้องปฏิบัติการตรวจหัวใจและการฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจเพื่อตรวจการทำงานของหัวใจ ซึ่งเป็นห้องที่มีประสิทธิภาพในการประมวลภาพของหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดอื่น ๆ ในร่างกาย โดยจะแสดงผลเป็นภาพปรากฏขึ้นบนหน้าจอ และบันทึกเป็นระบบเทปโทรทัศน์แบบดิจิทัลที่สามารถปรับหมุนได้รอบทิศทางตามความต้องการ เพื่อตรวจดูซ้ำได้อย่างละเอียดมากขึ้น ส่งผลให้แพทย์สามารถเห็นภาพได้ครบทุกมุมและสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำเพิ่มมากขึ้น

 

Cath lab ตรวจอะไรบ้าง

 

  • ห้องปฏิบัติการตรวจสวนหัวใจ หรือ Cath lab สามารถดูตำแหน่งผิดปกติและความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้ ดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ การบีบตัวของหัวใจ การตายของกล้ามเนื้อหัวใจ และการวัดความดันในห้องหัวใจตำแหน่งต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถดูความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ดูการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ หากพบความผิดปกติแพทย์จะทำการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน การตรึงหลอดเลือดหัวใจด้วยขดลวด การปิดรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจหรือเส้นเลือดเกินโดยวิธีสวนหัวใจ
  • Cath lab สามารถใช้ตรวจวินิจฉัย และรักษาภาวะหลอดเลือดสมองด้วย เช่น โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคสมองขาดเลือด เป็นต้น โดยจะทำการตรวจรักษาด้วยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดสมอง เพื่อดูความผิดปกติตามจุดต่าง ๆ ซึ่งเป็นการตรวจที่ให้ผลที่ถูกต้องแม่นยำกว่าการตรวจหลอดเลือดด้วยเครื่องเอ็กซเรย์

 

เมื่อใดจึงควรมาตรวจ Cath lab

 

เมื่อเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน สาเหตุเกิดจากเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการแน่นหน้าอก หรือเจ็บบริเวณหน้าอกมากกว่า 5 นาที และเหนื่อยง่าย แต่การตรวจ Cath lab จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของคนที่เป็นโรคหัวใจ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอย่างฉับพลันจากโรคหัวใจนั่นเอง

 

วิธีตรวจ Cath lab

 

แพทย์จะเลือกฉีดยาชาบริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ แล้วจะใส่ท่อขนาดเล็กปราศจากเชื้อโรคประมาณ 2 มิลลิเมตรผ่านทางหลอดเลือดแดงเข้าไปจ่ออยู่ที่ทางออกของเลือด จากนั้นจะฉีดสีเพื่อดูการทำงานของหลอดเลือดหัวใจว่ามีการตีบตันของหลอดเลือดหรือไม่ โดยแพทย์จะสามารถดูได้จากหน้าจอภาพแบบดิจิทัลผ่านกล่องเอกซเรย์พิเศษ โดยจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที หากมีความผิดปกติแพทย์จะทำการสวนขดลวดเข้าไปเพื่อวินิจฉัย และทำการรักษาต่อไป เมื่อเรียบร้อยแล้ว สายสวนจะถูกดึงออกแล้วต้องใช้พลาสเตอร์ปิดแผลห้ามเลือดจุดที่ใส่สายสวนสักระยะหนึ่ง

โดยการตรวจและการรักษาวิธีนี้จะทำให้คนไข้ฟื้นตัวเร็ว เพราะไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ และมีความเสี่ยงน้อยกว่า สามารถกลับบ้านไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

 

การเตรียมตัวก่อนการตรวจสวนหัวใจ

 

  • ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายให้พร้อม เช่น การตรวจเลือดเอ็กซเรย์ปอดและตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น
     
  • ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวเข้านอนพักในโรงพยาบาลก่อนหนึ่งวัน และเซนต์ใบยินยอมเพื่อทำการรักษา
     
  • ผู้ป่วยควรอาบนํ้าทําความสะอาดร่างกายให้พร้อม โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแล้วจะได้รับการทำความสะอาดบริเวณขา ขาหนีบ โดยการโกนขน ซึ่งเป็นบริเวณที่แพทย์จะทำการสวนสายสวนเข้าไป
     
  • ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหารก่อนเข้าตรวจประมาณ 6 ชั่วโมง
     
  • ก่อนทำการตรวจผู้ป่วยต้องถอดเสื้อผ้า รวมถึงเครื่องประดับฝากไว้กับญาติ หรือเจ้าหน้าที่

 

การปฏิบัติตัวหลังการตรวจสวนหัวใจ

 

  • หลังการฉีดสีหัวใจ แพทย์จะแนะนำให้คนไข้นอนนิ่ง ๆ โดยนอนราบแล้วปรับเตียงให้ศีรษะสูง 30-45 องศาได้ หลังจากนั้นจึงจะสามารถเดิน หรือนั่งได้เบา ๆ ห้ามยกของหนัก หรือออกกำลังกายหนักเกินไปเพื่อป้องกันการฉีกขาดของเส้นเลือดแต่ผู้ป่วยสามารถพลิกตะแคงตัว และขยับเคลื่อนไหวปลายเท้าปลายนิ้วได้
     
  • เจ้าหน้าที่จะใช้หมอนทรายกดทับไว้บริเวณแผลขาหนีบเพื่อห้ามเลือดอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง
     
  • ถ้าสังเกตพบว่า มีอาการเหนื่อยหอบหายใจ ใจสั่น เจ็บ หรือแน่นหน้าอก มึนงงวิงเวียนศีรษะ มีเลือดออกมากบริเวณแผลขาหนีบ หรือข้อมือ มีผื่นขึ้นตามตัวและเท้า มือเย็น ปวดชาปลายเท้า หรือมือ ควรรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที
                
                                    
  • ผู้ป่วยควรดูแลแผลไม่ให้แผลถูกนํ้า หากแผลแห้งดีผู้ป่วยสามารถอาบนํ้าได้ตามปกติ แต่ถ้าแผลไม่แห้งให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์แล้วใช้พาสเตอร์ปิดแผล
     
  • กรณีผู้ป่วยไม่ได้จํากัดนํ้าหลังตรวจเสร็จผู้ป่วยควรดื่มนํ้ามาก ๆ อย่างน้อยวันละ 2000 ซีซี ต่อวันเพื่อให้ไตขับสารทึบแสงออกทางการขับถ่ายปัสสาวะ
     
  • ควรงดเช่นการดื่มสุรา ชา กาแฟ โอเลี้ยง นํ้าอัดลม และงดการสูบบุหรี่
     
  • ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็มจัด เพราะจะเป็นการเพิ่มการทํางานของหัวใจให้ทำงานหนักมากขึ้น

 

การตรวจ Cath lab เป็นการตรวจสวนหัวใจที่มีความแม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูง ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแล้วใช้ยารักษาไม่หาย หรือใช้วิธีอื่นรักษาแล้วไม่หายแพทย์จะพิจารณาให้ตรวจด้วยวิธีนี้เพื่อวางแผนในการรักษาที่แม่นยำขึ้นต่อไป