ปวดหัวบ่อย ๆ เสี่ยงเนื้องอกในสมอง
ปวดหัวบ่อย ๆ เสี่ยงเนื้องอกในสมอง

ปวดหัวอาจเป็นปัญหาที่ใครหลายคนกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งแต่ละคนจะมีสาเหตุของการปวดหัวที่แตกต่างกัน บางคนอาจโดนแดดมาก ๆ แล้วปวดหัว บางคนอาจปวดหัวเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่หากอาการปวดหัวไม่ได้มาจากความเครียด หรือไม่มีสาเหตุของการเกิด โดยจะมีอาการปวดหัวบ่อย และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนมีอาการอย่างอื่นตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน นั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายของ “โรคเนื้องอกในสมอง” ที่หากไม่ได้รับการรักษาอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งสมองได้

 

 

เนื้องอกในสมองคืออะไร

 

เนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) เป็นโรคที่เกิดจากเนื้อเยื่อในสมอง หรือเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงสมองมีการเจริญเติบโตผิดปกติจนมีผลต่อระบบสมอง และระบบประสาททำให้ร่างกายมีอาการต่าง ๆ ตามมา ซึ่งเนื้องอกที่เจริญผิดปกตินั้นจะไปเบียดเนื้อสมอง และกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายที่มีสมองเป็นตัวควบคุม โดยเนื้องอกที่เกิดขึ้นในสมองอาจไม่ใช่มะเร็งเสมอไป

 

 

สาเหตุของเนื้องอกในสมอง

 

  • เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง เกิดจากสารพันธุกรรมในเซลล์สมองทำงานผิดปกติ หรือมีการกลายพันธุ์ของเซลล์ ทำให้เกิดการแบ่งตัวผิดปกติ เนื้อเยื่อเหล่านี้จึงก่อตัวเป็นเนื้องอกบริเวณสมอง และส่งผลกระทบต่อสมอง และบริเวณใกล้เคียง

 

  • เนื้องอกเป็นมะเร็ง อาจเกิดจากเซลล์มะเร็งที่อวัยวะอื่น เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไต มะเร็งปอด แล้วแพร่ทางกระแสเลือดลามเข้าสู่สมอง ทำให้เกิดเป็นมะเร็งในที่สุด ซึ่งเนื้อร้ายจะมีอัตราการเจริญเติบโต และสร้างความเสียหายแก่ร่างกายได้มากกว่า

นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ยังมีประวัติบุคคลในครอบครัวเคยเป็นเนื้องอกในสมอง และอาจมีสาเหตุจากรังสีอันตรายที่เกิดจากการทำงาน หรือได้รับจากในชีวิตประจำวัน เช่น รังสีจากการฉายแสงตรวจ หรือรังสีจากระเบิดปรมาณู เป็นต้น

 

โรคเนื้องอกในสมอง

 

ระดับความรุนแรงของโรคเนื้องอกในสมอง

 

  • ระดับที่ 1 : เป็นก้อนเนื้อธรรมดา ยังไม่มีการแพร่กระจาย สามารถรักษาให้หายขาดได้
  • ระดับที่ 2 : เนื้องอกระดับปานกลาง เริ่มแพร่กระจาย แต่ยังไม่ใช่เนื้อร้าย เจริญเติบโตช้า เนื้องอกจึงอยู่ได้นาน รักษาได้แต่ไม่หายขาด
  • ระดับที่ 3 : ก้อนเนื้อพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจเกิดจากการพัฒนาของเนื้องอกที่มาจากก้อนเนื้อธรรมดา หรืออาจลุกลามมาจากเซลล์มะเร็งในอวัยวะอื่นของร่างกาย ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
  • ระดับที่ 4 : มะเร็งสมองชนิดร้ายแรง เนื้องอกแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้เสียชีวิตในเวลาอันสั้น

 

 

ปวดหัวอย่างไรเสี่ยงเนื้องอกในสมอง

 

เมื่อเกิดเนื้องอกขึ้นในสมอง และมีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เนื้องอกจะไปเบียด หรือทำลายเนื้อสมองที่มีพื้นที่จำกัด ทำให้กะโหลกศีรษะมีความดันสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยปวดศีรษะอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงตื่นนอน หรือช่วงเวลากลางคืน ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการมากกว่า 15 วันต่อเดือน อย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน แม้จะรับประทานยาแก้ปวดจะไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ จะมีอาการปวดศีรษะอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีอาการอาเจียน แขนขาอ่อนแรง ใบหน้าเบี้ยว ท่าทางการเคลื่อนไหวผิดปกติ หรืออาจมีอาการชักร่วมด้วย

 

 

การวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมอง

 

แพทย์จะทำการซักถามประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกาย และทดสอบทางประสาทวิทยา เช่น ตรวจการมองเห็น ตรวจการทรงตัว ตรวจปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกาย รวมถึงตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หากแพทย์ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงเป็นเนื้องอกในสมองต้องตรวจด้วยเครื่อง CT SCAN เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย ซึ่งจะทำให้แพทย์เห็นถึงความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมอง เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง เส้นเลือดในสมองทั้งอุดตันและเส้นเลือดแตก การติดเชื้อ หรืออักเสบของเนื้อเยื่อ เนื้องอก มะเร็ง กระดูกแตกร้าว เป็นต้น

 

 

การรักษาโรคเนื้องอกในสมอง

 

  • การผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้องอกในระดับที่ไม่รุนแรง ไม่มีการแพร่กระจาย โดยก้อนเนื้อนั้นอยู่ในบริเวณที่ง่ายต่อการผ่าตัด หรือไม่กระทบต่อเส้นประสาท แพทย์จะสามารถทำการผ่าตัดทั้งผ่าเปิดกะโหลก และผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อนำเอาเนื้อเยื่อผิดปกตินั้น ๆ ออกได้จนหมด โดยวิธีนี้สามารถลดความดันในกะโหลกศีรษะได้รวดเร็วอีกด้วย
  • การฉายแสง (Radiation Therapy) จะเป็นวิธีที่ใช้ในกรณีไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกได้หมด หรือในรายที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กกว่า 3-4 เซนติเมตร  แพทย์จะใช้รังสีที่มีพลังงานสูงฉายแสงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
  • การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการให้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยจะมีทั้งการรับประทานยา และฉีดยาเข้าเส้นเลือด

 

โรคเนื้องอกในสมองเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นทุกเพศ ทุกวัย โดยอาการที่เป็นสัญญาณของโรคนี้คือ “การปวดศีรษะบ่อย ๆ” ดังนั้นเราไม่ควรละเลยต่ออาการของตนเอง หากพบความผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อป้องกันการเกิดโรคร้ายแรงในอนาคต  



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI