ริดสีดวงทวารหนัก
ริดสีดวงทวารหนัก โรคที่ควรระวังสำหรับผู้ที่ชอบเข้าห้องน้ำนาน

 

คุณเป็นคนที่ใช้เวลาในห้องน้ำนานไหม เคยนั่งเล่นโทรศัพท์เพลินจนลืมเวลาหรือเปล่า แม้พฤติกรรมดังกล่าวดูเหมือนจะไม่มีอันตรายอะไร แต่การนั่งในห้องน้ำนาน ๆ ทำให้เสี่ยงเป็นโรคริดสีดวงทวารได้ ซึ่งโรคนี้สามารถสร้างความรำคาญได้ตลอดทั้งวัน 

 

 

ริดสีดวงทวารเป็นอย่างไร

 

 

คือ โรคที่เกิดจากเส้นเลือดดำทวารหนัก หรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ มีอาการบวม, พอง และยืดตัว จนยื่นนูนเป็นติ่งออกมาจากทวารหนัก 

 

 

สามารถแบ่งโรคนี้ออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

 

ริดสีดวงภายใน 

 

 

เกิดจากเนื้อเยื่อทวารหนักที่อยู่สูงกว่าระดับหูรูดทวารหนัก เกิดการโป่ง, พอง, แตก, มีเลือดออก และไม่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีเส้นประสาทที่รับความรู้สึกน้อยมาก 

 

 

ซึ่งแบ่งตามความรุนแรงเป็น 4 ระยะ ได้แก่

 

 

ระยะที่ 1 

 

 

ริดสีดวงยังมีขนาดเล็กอยู่ ซึ่งผู้ป่วยจะยังมองไม่เห็น แต่จะมีเลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ

 

 

ระยะที่ 2 

 

 

มีขนาดใหญ่มากขึ้น และเริ่มเป็นติ่งยื่นออกมาหากทำการเบ่งถ่ายอุจจาระ แต่ในระยะนี้ติ่งสามารถหดกลับเข้าไปเองได้

 

 

ระยะที่ 3 

 

 

คล้ายคลึงกับระยะที่ 2 แต่ในระยะนี้ ผู้ป่วยอาจต้องใช้นิ้วมือดันติ่งริดสีดวงกลับเข้าไป

 

 

ระยะที่ 4 

 

 

ในระยะนี้ ริดสีดวงจะมีขนาดใหญ่เป็นติ่งที่ยื่นออกมาแบบถาวร ไม่สามารถหด หรือดันกลับเข้าไปได้แล้ว

 

 

ริดสีดวงภายนอก 

 

 

เกิดบริเวณทวารหนักส่วนล่าง มีอาการนูนเป็นติ่งออกจากทวารหนัก ริดสีดวงชนิดนี้สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายกว่าริดสีดวงภายใน และมีอาการเจ็บปวดจากประสาทรับความรู้สึก

 

 

สาเหตุของริดสีดวงทวาร

 

 

เกิดจากแรงดันที่มีปริมาณมากขึ้นกว่าปกติในเส้นเลือดทวารหนัก จนมีอาการบวม ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการมีหลายอย่าง ได้แก่

 

 

  • การยกของหนักบ่อย

 

 

นั่งอุจจาระนาน

 

 

 

 

  • การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

 

 

  • คนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน

 

 

  • ผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทางทวารหนัก

 

 

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป

 

 

  • มีโรคประจำตัวอื่นที่เพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น ตับแข็ง, ภาวะตั้งครรภ์, โรคอ้วน เป็นต้น

 

 

 

 

อาการของริดสีดวงทวาร

 

 

  • มีเลือดออกขณะ หรือหลังถ่ายอุจจาระ

 

 

  • มีติ่ง หรือก้อนที่ทวารหนัก อาจมีอาการคัน, ปวด, เจ็บบริเวณที่เป็นริดสีดวง

 

 

หน้ามืด

 

 

  • นอกจากนี้อาจมีอาการหน้ามืด หรือเวียนศีรษะร่วมด้วย

 

 

ขับถ่ายเป็นเลือดบอกอะไรบ้าง

 

 

แม้อาการเริ่มต้นของริดสีดวง คือ การมีอาการถ่ายเป็นเลือด แต่อาการดังกล่าว อาจนำไปสู่โรคมะเร็งลำไส้ส่วนปลายที่อยู่ใกล้กับทวารหนัก ซึ่งจุดสังเกตง่าย ๆ คือ หากเป็นมะเร็งลำไส้จะไม่มีติ่งเนื้อยื่นออกมา มีอาการปวดบริเวณก้น และความแตกต่างอีกอย่าง คือ คนที่เป็นริดสีดวงทวารจะขับถ่ายเป็นปกติ แล้วค่อยมีหยดเลือดออกมา แต่หากเป็นมะเร็งลำไส้จะถ่ายเป็นเลือดปนมากับอุจจาระ

 

 

ข้อควรระวังหากมีภาวะเลือดออก

 

 

  • การขับถ่ายมีความผิดปกติ หรือเปลี่ยนแปลงจากเดิม

 

 

  • อาการปวดท้องเรื้อรัง

 

 

  • ปวดหน่วง และมีมูกเลือดปะปน

 

 

  • น้ำหนักลดลงแบบผิดปกติ

 

 

  • ภาวะซีด และอ่อนเพลีย

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของริดสีดวง

 

 

เลือดออก 

 

 

อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง หรือภาวะขาดเลือดจนความดันโลหิตต่ำ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย, ปากแห้ง, มือเท้าเย็น เป็นต้น

 

 

ลิ่มเลือดอุดตันในหัวริดสีดวงทวาร

 

 

ติ่งเนื้อริดสีดวงจะเป็นก้อน เพราะมีก้อนเลือดอุดตัน และจับตัวกันอยู่ภายใน ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวด

 

 

การบีบรัดของหูรูดทวารหนัก 

 

 

เกิดภาวะขาดเลือดในหัวริดสีดวง เมื่อติ่งเนื้อไม่มีเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณนั้น จะทำให้เกิดภาวะขาดเลือด และการหดตัวของหูรูดทวารหนักจนเกิดอาการบวม, อักเสบ, เน่า และส่งกลิ่นเหม็น

 

 

การวินิจฉัยโรคริดสีดวง

 

 

สอบถามประวัติของผู้ป่วย

 

 

ว่ามีเลือดออกขณะ หรือหลังถ่ายอุจจาระ, มีก้อนเนื้อที่ทวารหนัก และอาจมีอาการปวด หรือไม่ปวดได้

 

 

ตรวจร่างกาย  

 

 

  • ตรวจดูขอบทวารหนัก แพทย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะส่วนใหญ่จะมีติ่งออกมาอย่างเห็นได้ชัดอยู่แล้ว

 

 

  • ตรวจขอบทวารหนักด้วยนิ้วมือ เพื่อแยกโรคอื่น ๆ เช่น ก้อน หรือแผลในทวารหนัก

 

 

  • การใช้กล้องขนาดเล็กส่องตรวจในทวารหนัก

 

 

  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยจะใช้วิธีนี้สำหรับผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคในลำไส้ใหญ่

 

 

การรักษาโรคริดสีดวง

 

 

การรักษาด้วยตนเอง

 

 

  • การนั่งแช่ในน้ำอุ่น เพื่อลดการอักเสบ หรือการขยายตัวของหลอดเลือดดำประมาณ 10-15 นาที โดยควรทำทั้งก่อน และหลังถ่ายอุจจาระ

 

 

รับประทานอาหารที่มีกากใย

 

 

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการเพิ่มอาหารที่มีกากใย และดื่มน้ำให้มากขึ้น

 

 

  • การกินยา โดยผู้ป่วยสามารถกินยาเพื่อลดอาการบวมของเส้นเลือดดำ หรือยาแก้ปวด

 

 

  • เหน็บยา แพทย์จะสั่งยาเหน็บเพื่อรักษาให้อาการดีขึ้น

 

 

การรักษาโดยแพทย์

 

 

  • การฉีดยา จะทำโดยการฉีดยาเข้าไปในชั้นใต้เยื่อบุ ทำให้เกิดพังผืดรัดเส้นเลือด โดยฉีดระดับเหนือหูรูดทวารหนัก แต่แพทย์จะไม่ฉีดสารเคมีเข้าริดสีดวงโดยตรง เพราะสารเคมีอาจจะเข้าเส้นเลือด และส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดท้อง หรือแน่นหน้าอกได้

 

 

  • การใช้ยางรัด เป็นวิธีสำหรับผู้ป่วยที่มีริดสีดวงภายในยื่นออกมา และมีขั้วขนาดเหมาะสมในการรัด โดยแพทย์จะใช้หนังยางรัดเพื่อทำให้หัวริดสีดวงฝ่อ และหลุดออกมาเองตามธรรมชาติ

 

 

  • การจี้ริดสีดวง จะทำการจี้ริดสีดวงด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า หรืออินฟราเรด

 

 

  • การผ่าตัด ใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นในระยะที่ 3-4 เพราะติ่งเนื้อจะมีขนาดใหญ่ แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเย็บ หรือผูกหัวริดสีดวง นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องมือตัดเย็บเพื่อทำให้ติ่งเนื้อกลับเข้าไปในลำไส้ตรงอีกด้วย

 

 

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

 

 

ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เต็มที่ งดอาหารเป็นเวลา 6-12 ชั่วโมง และทำความสะอาดบริเวณรอบรูทวาร รวมถึงอาจสวนล้างลำไส้เพื่อความสะอาดก่อนวันผ่าตัด

 

 

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

 

 

หลังผ่าตัด ผู้ป่วยไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง หากมีอาการปวดหลังจากการผ่าตัด ควรรับประทานยาแก้ปวด และแช่ก้นในน้ำอุ่นประมาณ 10-15 นาที เพื่อทำให้บริเวณแผลสะอาด จากนั้นควรนั่งบนเบาะรองที่มีรู เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับบริเวณแผลผ่าตัดมากจนเกินไป และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการริดสีดวงอักเสบซ้ำอีก

 

 

การป้องกันตนเองจากริดสีดวง

 

 

  • รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก และผลไม้ เพื่อไม่ให้เกิดอาการท้องผูก

 

 

ดื่มน้ำ

 

 

  • ควรดื่มน้ำในปริมาณมากวันละ 8-10 แก้วเพื่อให้ขับถ่ายง่าย

 

 

  • ไม่ควรเบ่งอุจจาระแรงเกินไป

 

 

  • หากพบว่ามีเลือดออกมากควรรีบเข้าพบแพทย์

 

 

  • รักษาสุขอนามัย โดยการล้างก้นด้วยน้ำสะอาดอยู่เสมอ และไม่ควรใช้กระดาษชำระที่แข็งจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้รูทวารหนักเกิดบาดแผลได้

 

 

โรคริดสีดวง เป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัว เพราะทุกคนต้องขับถ่าย แม้จะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายเองได้ แต่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเช่นกัน หากมีอาการผิดปกติ หรือคิดว่าตัวเองเป็นโรคริดสีดวง ควรรีบเข้าพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจตามมาได้



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ผ่าตัดริดสีดวงทวาร (Hemorrhoidectomy)

 

ผ่าตัดริดสีดวงแบบ Stapled Hemorrhoidectomy ดีอย่างไร

 

อาหารที่คนเป็นริดสีดวง “ควรกิน” และ “ไม่ควรกิน”

 

ริดสีดวงแตกเลือดออกควรทำอย่างไร