เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก สัญญาณกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack)
เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก สัญญาณกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack)

เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกแบบเฉียบพลันเป็นระยะเวลานานกว่า 20-30 นาที อาจเป็นสาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) 1 ใน 3 สาเหตุการตายมากที่สุดของคนไทย เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้หัวใจเกิดความเสียหาย ซึ่งไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาสมบูรณ์ได้ดั่งเดิม จึงต้องรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดหากมีอาการ เพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที เนื่องจากภาวะนี้มีโอกาสไม่น้อยที่ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล

 

เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกสัญญาณเตือนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

 

อาการเจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะต่าง ๆ ที่ร่างกายของเรากำลังเผชิญ จากความอันตรายทั้งหมดนั้นภาวะที่รุนแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้น คือ “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” หนึ่งในภาวะที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดใกล้เคียงกับการเกิดอุบัติเหตุ และโรคมะเร็งเลยก็ว่าได้ ภาวะอันตรายที่เรากำลังกล่าวถึงนี้มีอาการที่แสดงออกมา ดังนี้

 

  • มีอาการใจสั่น
  • เจ็บหน้าอกอย่างกะทันหัน และเป็นระยะเวลานาน
  • มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก
  • เจ็บหน้าอก และรู้สึกปวดร้าวไปถึงบริเวณหัวไหล่
  • เจ็บหน้าอกหากทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก

 

นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ หัวใจเต้นแรง มีอาการคลื่นไส้อยากอาเจียน และเหงื่อออกผิดปกติ หากพบว่ามีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นเกินกว่า 20 – 30 นาที ถือว่าอันตราย ควรรีบเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เนื่องจากเป็นสัญญาณของความเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และมีโอกาสเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

 

 

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเกิดจากอะไร

 

ภาวะอันตรายนี้มาจากการตีบ หรือตันของหลอดเลือดหัวใจ เมื่อเป็นเช่นนี้หลอดเลือดจะไม่สามารถไหลเวียนเข้าสู่หัวใจได้ ในช่วงแรกหัวใจจะเริ่มเสียหาย และเริ่มตาย ยิ่งเวลาผ่านไปจะยิ่งเกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าความเสียหายที่เกิดกับหัวใจไม่สามารถฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ให้สมบูรณ์เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิมได้ ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ด้วยการพาผู้ป่วยเข้าพบแพทย์เพื่อเปิดทางไหลเวียนของหลอดเลือดให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด

 

แล้วสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจตีบคืออะไร คำตอบคือการสะสมของไขมันภายในหลอดเลือด เมื่อเวลาผ่านไปการสะสมที่มากขึ้นจะเริ่มส่งผลต่อการไหลเวียนของหลอดเลือดในที่สุด ในระยะนี้อาจเกิดการปริ หรือแตกได้ หากเกิดภาวะที่ส่งผลร้ายต่อหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นอีก อาจเกิดผลกระทบถึงขั้นเป็น “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” ได้ในที่สุด

 

เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

 

ทำไมอัตราการเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันถึงสูง

 

“เดิม ๆ” เป็นนิยามของสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคร้ายหลายโรคซึ่งคำว่า “เดิมๆ ” นี้เองมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ และความเข้าใจผิดแบบเดิม ๆ ภายใต้คำว่า “ไม่ได้เป็นอะไร” และคำนี้แหละที่เป็นบ่อเกิดของการเสียชีวิตจากภาวะดังกล่าวภายใต้คำว่า “เพราะ” ซึ่งมีอยู่ 4 ข้อ ได้แก่

 

  • เพราะความเข้าใจผิด เช่น เกิดการเจ็บหน้าอก แต่อาจสงสัยว่าตนเองเป็นโรคกรดไหลย้อน หรือโรคกระดูกซี่โครงอักเสบ เราอาจไม่ได้คิดว่าเป็นอาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แต่ถ้าหากอาการเจ็บหน้าอกดังกล่าวเป็นสัญญาณของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันขึ้นมาล่ะ จะเป็นเช่นไร
     
  • เพราะคำว่า “ไม่เป็นไร” จริง ๆ โรคที่ทำหน้าที่คร่าชีวิตผู้คนนั้นอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะ หรือโรคเล็กน้อยที่เราไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้หากเราเป็นโรคเบาหวาน มีความดันโลหิตสูง และมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ใครจะคิดล่ะว่าโรคเหล่านี้จะเป็นสาเหตุของโรคร้ายที่รุนแรงในทางอ้อม
     
  • เพราะใคร ๆ เขาก็ทำกัน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ออกกำลังกาย หลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะคนรอบตัวก็ทำกัน โดยการเลือกที่จะทำตามคนรอบตัวนั้นไม่ใช่เรื่องผิด และเป็นสิทธิของเรา แต่แน่นอนว่าเราเองก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคร้ายโดยมาจากพฤติกรรมของเราเอง

 

  • เพราะมันรวดเร็ว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แค่ชื่อก็ทำให้เรารู้แล้วว่าเฉียบพลัน ภาวะนี้ใช้เวลาไม่มากในการทำลายหัวใจ และแน่นอนว่าคนไข้หลายรายเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ หรือก่อนมาถึงโรงพยาบาล ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิด “เพราะมันรวดเร็ว” ก็มาจาก 3 เพราะที่กล่าวมาก่อนหน้านี้นั่นเอง

 

ป้องกันตนเองจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอย่างไร

 

วิธีการป้องกันภาวะนี้อาจจะฟังดูน่าเบื่อ เพราะเราคงได้ยินมาจากหลาย ๆ โรคแล้ว แต่เราเองคงต้องยอมรับว่าวิธีเหล่านี้อาจได้ยินมาบ่อยมากเกินไปก็จริง แต่เราสามารถทำตามได้ครบหรือเปล่าคงต้องถามตนเอง วิธีที่ว่านี้ ได้แก่

 

  • งดแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
  • พยายามควบคุมความเครียด
  • ระวังเรื่องน้ำหนัก เพราะมีผลต่อไขมันในเลือด
  • ตรวจสุขภาพเพื่อหาภาวะผิดปกติในร่างกาย

 

อันตรายที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ภายใต้นิยามของคำว่า “ดูแลตนเอง” ควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพราะการตรวจสุขภาพเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เราได้ร่วงรู้การมีอยู่ของโรคร้าย เช่น โรคทางหัวใจ เพื่อให้ได้รู้ตัว และรักษาได้ทันท่วงทีก่อนเกิดอาการรุนแรง

_____________________________________

แพคเกจที่เกี่ยวข้อง